• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก : Siriraj liquid-based cytology

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแถลงข่าว "ครั้งแรก ศิริราชพัฒนาการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยชุดตรวจ Siriraj liquid-based cytology" โดยมี ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นประธาน ร่วมด้วยคณะแพทย์จากภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ศ.คลินิก นพ.ชาญชัย วันทนาศิริ หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา กล่าวถึงสถานการณ์มะเร็งปากมดลูกว่า เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในหญิงไทย ซึ่งในแต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่กว่า ๖,๐๐๐ ราย และจะมีผู้ป่วยเสียชีวิตมากกว่า ๒,๖๐๐ ราย หรือแต่ละวันจะมีหญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก ๗ ราย นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ที่น่ากังวลคือ ขณะนี้พบผู้ป่วยในช่วงอายุที่น้อยกว่า ๓๐ ปี มากขึ้น และผู้หญิงไทยส่วนใหญ่มักปฏิเสธการตรวจภายในเพื่อหามะเร็งปากมดลูกเพราะอายและกลัว 

 ผศ.นพ.สมศักดิ์ ไหลเวชพิทยา หัวหน้าหน่วยเซลล์วิทยา ผู้คิดค้น Siriraj liquid-based cytology  เปิดเผยว่า ในระยะหลายปีที่ผ่านมา วิทยาการทางการแพทย์ช่วยให้หญิงไทยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก แต่ยังคงพบมะเร็งปากมดลูกได้เสมอ เนื่องจากการตรวจคัดกรองที่ยังไม่ครอบคลุมสตรีที่มีโอกาสเป็นโรคอย่างทั่วถึง รวมทั้งข้อจำกัดบางประการของวิธีการตรวจคัดกรองด้วย โดยเฉพาะเรื่องความไว ปัจจุบันการตรวจคัดกรองมีอยู่ด้วยกัน ๒ วิธีคือ

 วิธีแรก การตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีโดยตรง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก วิธีนี้มีความไวในการตรวจหาความผิดปกติของปากมดลูกสูงมาก แต่มีราคาแพง และยังทำได้ในสถานพยาบาลไม่กี่แห่ง

 วิธีที่ ๒ การตรวจหาเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูก หรือที่เรียกว่า "การตรวจแพ็ปสเมียร์" เป็นการตรวจหาเซลล์ผิดปกติแบบดั้งเดิม สถานพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยใช้วิธีนี้ เนื่องจากมีราคาถูก แต่ปัญหาคือ มีความไวของการตรวจหาเซลล์ผิดปกติค่อนข้างต่ำ และพบว่าหากขณะตรวจภายในมีการอักเสบ มีประจำเดือน หรือมีมูกขาว จะมีการปนเปื้อนของสิ่งเหล่านี้ ทำให้บดบังเซลล์ที่มีความผิดปกติ และมีโอกาสที่จะตรวจไม่พบเซลล์ผิดปกติที่มีอยู่ได้


การตรวจหาเซลล์ผิดปกติอีกวิธีซึ่งขณะนี้นำมาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศที่พัฒนาแล้ว นั่นคือ การตรวจหาเซลล์ผิดปกติด้วยของเหลวที่เรียกว่า "liquid-based cytology" วิธีนี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแทนที่เทคนิคแพ็ปสเมียร์แบบดั้งเดิม ข้อดีคือ มีความไวของการตรวจหาเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกสูงกว่า แต่ราคาสูงกว่าการตรวจด้วยแพ็ปเสมียร์ ๓-๔ เท่า (ประมาณ ๖๕๐-๙๕๐ บาท) เนื่องจากชุดตรวจและเครื่องมือในการเตรียมเซลล์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ วิธีนี้นิยมใช้ในต่างประเทศและโรงพยาบาลเอกชนของไทย 
ดังนั้นในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงคิดค้นพัฒนาชุดตรวจหาเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกด้วยของเหลวจนสำเร็จและจดลิขสิทธิ์ภายใต้ชื่อ Siriraj liquid-based cytology 

การตรวจด้วยวิธี Siriraj liquid-based cytology มีความไวและความจำเพาะของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ดีเช่นเดียวกับชุดตรวจด้วยของเหลวที่นำเข้าจากต่างประเทศ ค่าตรวจถูกกว่า
๓-๕ เท่า ซึ่งใกล้เคียงกับการตรวจด้วยแพ็ปเสมียร์ (ประมาณ ๑๕๐ บาท) วิธีนี้ถือเป็นการป้องกันไม่ให้เซลล์ผิดปกติกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก ปัจจุบันโรงพยาบาลศิริราชได้เปลี่ยนมาใช้การตรวจเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกด้วยของเหลวเป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรกและลดการเกิดมะเร็งปากมดลูกในอนาคต นับเป็นหนทางหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพการวินิจฉัยให้ดีที่สุด

รศ.นพ.มงคล เบญจาภิบาล รองหัวหน้าภาควิชาฯ ฝ่ายวิชาการและวิจัย กล่าวถึงการป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นการป้องกันในระดับทุติยภูมิหรือระดับ ๒ ยังมีการป้องกันมะเร็งปากมดลูกในระดับปฐมภูมิหรือระดับแรก คือ การมีพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสม เช่น ไม่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย ไม่สำส่อนทางเพศ ไม่เปลี่ยนคู่นอนหลายคน

ความสำเร็จครั้งนี้ นอกจากเป็นการป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ตรงเป้าหมาย มีขั้นตอนการตรวจที่ง่าย แม่นยำ และราคาถูกแล้ว  ยังสามารถลดการสูญเสียงบประมาณของรัฐบาลในการสนับสนุนด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยลงได้อย่างมากด้วย

ข้อมูลสื่อ

371-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 371
มีนาคม 2553
กองบรรณาธิการ