หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน พบบ่อยในทารกและเด็กเล็ก ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมักพบร่วมกับไข้หวัด หูชั้นกลางอักเสบที่เกิดจากไวรัสมักเป็นไม่รุนแรงและหายได้เองภายในไม่กี่วัน ส่วนน้อยอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งควรได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างจริงจัง หากปล่อยปละละเลยก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้
⇒ ชื่อภาษาไทย
หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน
⇒ ชื่อภาษาอังกฤษ
Acute otitis media, Middle ear infection
⇒ สาเหตุ
หูชั้นกลาง (middle ear) เป็นส่วนของช่องหูที่อยู่ถัดจากเยื่อแก้วหูเข้าไป มีกระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลนบรรจุอยู่ ทำหน้าที่รับคลื่นเสียงที่ผ่านมาทางหูชั้นนอก และส่งต่อไปยังหูชั้นในซึ่งมีเส้นประสาทหูรับรู้เสียง (การได้ยิน)
ส่วนล่างของหูชั้นกลางมีท่อเล็กๆ เชื่อมต่อกับคอหอย เรียกว่า ท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) เมื่อมีการติดเชื้อของคอหอย เชื้อโรคสามารถเดินทางผ่านท่อยูสเตเชียนเข้าไปในหูชั้นในได้ ถ้าหากท่อยูสเตเชียนเกิดการอักเสบบวม ก็จะเกิดการอุดตัน ทำให้เชื้อโรคถูกกักไว้ในหูชั้นกลางจนเกิดการติดเชื้อของหูชั้นกลาง อักเสบเป็นหนองขังอยู่ในหูชั้นกลาง มีอาการไข้สูง ปวดหู หูอื้อได้
โรคนี้จึงมักพบร่วมกับโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด คออักเสบ ทอนซิลอักเสบ เป็นต้น โดยเชื้อก่อโรคอาจเป็นไวรัส หรือแบคทีเรียก็ได้
⇒ อาการ
มีอาการไข้สูง ปวดหู หูอื้อ ซึ่งมักเกิดขึ้นฉับพลันหลังจากเป็นไข้หวัด เจ็บคอ หรือโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจอื่นๆ
ทารกและเด็กเล็กที่เป็นโรคนี้จะมีอาการตื่นขึ้นร้องกวนกลางดึก (เพราะอาการปวดหู) และร้องงอแงเกือบตลอดเวลา บางรายอาจเอามือดึงใบหูตัวเอง
หากปล่อยไว้ไม่รักษา อีกหลายวันต่อมาจะพบว่ามีหนองไหลออกจากหู (หูน้ำหนวกไหล) แสดงว่าเยื่อแก้วหูทะลุ หนองที่ขังอยู่ในหูช่องกลางไหลออกทางรูทะลุ ระยะนี้ผู้ป่วยจะหายปวดหู และไข้ลดลง
⇒ การแยกโรค
อาการปวดหู หูอื้อ และมีไข้ อาจเกิดจากหูชั้นนอกอักเสบ (otitis externa) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ (เช่น เป็นฝี) ที่บริเวณหูชั้นนอก มีลักษณะอาการที่สำคัญคือ เวลาดึงใบหูแรงๆ จะทำให้รู้สึกเจ็บในรูหูมากขึ้น (ผู้ป่วยที่เป็นหูชั้นกลางอักเสบจะตรวจไม่พบอาการเช่นนี้)
⇒ การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการที่ผู้ป่วยบอกเล่า (อาการไข้ ปวดหู หูอื้อ ร่วมกับไข้หวัด เจ็บคอ) และการใช้เครื่องส่องตรวจหู พบเยื่อแก้วหูมีลักษณะผิดปกติ (บวมแดง หรือมีรูทะลุ)
⇒ การดูแลตนเอง
เมื่อมีอาการปวดหู หูอื้อ และมีไข้ ควรกินยาพาราเซตามอลบรรเทาอาการ แล้วรีบไปพบแพทย์ภายใน ๒๔ ชั่วโมง
เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเป็นหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ควรกินยาตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถึงแม้อาการทุเลาแล้วก็อย่าหยุดยาเอง อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผลเต็มที่หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
ในกรณีที่มีหูน้ำหนวกไหล ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้องและต่อเนื่อง หมั่นใช้ไม้พันสำลีเช็ดหูให้แห้งและระวังอย่าให้น้ำเข้าหูดำน้ำหรือเล่นน้ำในสระหรือแม่น้ำลำคลอง
⇒ การรักษา
นอกจากยาแก้ปวดลดไข้ (พาราเซตามอลแล้ว) ถ้าพบว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน (amoxycillin) โคไตรม็อกซาโซล (co-trimoxazole) อีริโทรไมซิน (erythromycin) เป็นต้น ซึ่งมักจะให้ติดต่อกันนานอย่างน้อย ๑๐ วัน
ในรายที่พบว่ามีน้ำหรือหนองขังอยู่ในหูชั้นกลางนานเกิน ๓ เดือน แพทย์อาจพิจารณาทำการเจาะเยื่อแก้วหู และคาท่อเล็กๆ ไว้ระบายหนอง เรียกว่า การเจาะเยื่อแก้วหู (myringotomy)
⇒ ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียและไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจังก็อาจทำให้กลายเป็นหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง (Chronic otitis media) มีอาการหูน้ำหนวกไหลเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง หูหนวก หูตึง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อในสมอง (เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง)
นอกจากนี้ ยังอาจทำให้โพรงกระดูกมาสตอยด์อักเสบ (mastoiditis ซึ่งจะมีไข้สูงร่วมกับปวดบริเวณกระดูกมาสตอยด์ตรงหลังหู) หูชั้นในอักเสบ (เนื่องจากเชื้อโรคลุกลามเข้าไปในหูชั้นใน ทำให้มีอาการหูอื้อ มีเสียงดังในหู และเห็นบ้านหมุน)
⇒ การดำเนินโรค
ถ้าเกิดจากไวรัสซึ่งเป็นชนิดเดียวกับเชื้อที่ก่อให้เกิดไข้หวัด ก็มักจะหายได้เองภายใน ๒-๓ วัน แต่ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียและไม่ได้รับการรักษา ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว
⇒ การป้องกัน
โรคนี้อาจป้องกันโดยการปฏิบัติดังนี้
♦ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ที่เป็นไข้หวัด และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ
♦ ควรให้ทารกกินนมมารดาอย่างน้อย ๖ เดือน และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ๆ มีควันบุหรี่ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบ
♦ ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมค็อกคัส (pneumococcal vaccine) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคหูชั้นกลางอักเสบและปอดอักเสบ
⇒ ความชุก
โรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่พบมากในทารก ๔ เดือนถึง ๔ ขวบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กเล็กที่ไม่ได้กินนมมารดา อยู่ในที่ๆ มีควันบุหรี่ หรือมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคนี้ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบมากขึ้น
- อ่าน 32,575 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้