- มะเขือพวง มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Solanum torvum Sw.
- เมื่อกินมะเขือพวงสุก ๑๐๐ กรัม จะได้คุณค่าของสารอาหารดังนี้
- สารสำคัญที่พบในมะเขือพวง
- มะเขือพวงมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
- มะเขือพวงกับเพ็กทิน
- มะเขือพวงกับโรคเบาหวาน
- มะเขือพวงกับโรคความดันโลหิตสูงและปัญหาเกล็ดเลือด
- มะเขือพวงต้านอนุมูลอิสระและต้านอักเสบ
- มะเขือพวงบำรุงไต
- มะเขือพวงรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
- มะเขือพวง จิ๋วแต่แจ๋ว
มะเขือพวง มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Solanum torvum Sw.
วงศ์มะเขือ/พริก Solanaceae
ภาคเหนือเรียกว่า "มะแคว้งกุลา"
ภาคอีสานเรียกว่า "หมากแข้ง" จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า "มะเขือละคร"
ภาคใต้เรียกว่า "เขือน้อย เขือพวง ลูกแว้ง และเขือเทศ" แต่จังหวัดสงขลาจะเรียกว่า "มะแว้งช้าง"
ภาษาอังกฤษมีหลายชื่อเรียก Turkey berry, Devil's fig, Prickly nightshade, Shoo-shoo bush, Pea eggplant แถบแคริบเบียนเรียก Susumba
ภาษาทมิฬและอินเดียใต้เรียก Sundakkai
มะเขือพวงเป็นไม้ข้ามปี ต่างจากมะเขืออื่นๆ ที่เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นสูง ๑-๓ เมตรเป็นต้นเดี่ยวจากดินแตกพุ่มด้านบน เป็นไม้พุ่มมีหนาม
ใบรูปไข่กว้าง ขอบใบเรียบหรืออาจเว้าเป็นรอยหยัก เรียงตัวแบบตรงข้าม ใบมีขนปกคลุม
ดอกเป็นดอกช่อ ดอกทรงแตรมีกลีบปลายแหลม ๕ กลีบสีขาวหรือม่วง เกสรสีเหลือง ผลเป็นผลแบบเบอร์รี่ อยู่เป็นช่อ ดอกหนึ่งๆ จะติดผลตั้งแต่ ๒-๓ ผลจนถึง ๑๐ ผล
ผลมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๑ เซนติเมตร ผลอ่อนมีเปลือกสีเขียวหนาและเหนียว ลักษณะผลคล้ายเมล็ดถั่วลันเตา เมื่อสุกมีสีเหลืองหรือสีส้มแดง เนื้อผลบาง ภายในเต็มไปด้วยเมล็ดกลม แบนสีน้ำตาลอัดแน่นผลละ ๓๐๐-๔๐๐ เมล็ด ผลมีรสขมกินได้
ปัจจุบันในประเทศไทยมีมะเขือพวงพันธุ์ไร้หนามแล้ว
มะเขือพวงมีถิ่นกำเนิดใน Antilles ตั้งแต่เขตฟลอริดา หมู่เกาะเวสต์ อินดีส์ เม็กซิโก จนถึงอเมริกากลาง และทวีปอเมริกาใต้แถบประเทศบราซิล เป็นวัชพืชขึ้นกระจัดกระจายเกือบทั่วเขตร้อน ปัจจุบันพบในทวีปแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิกไกลถึงมลรัฐฮาวายในสหรัฐอเมริกา แต่เป็นพืชเพาะปลูกเป็นอาหารในแถบเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก
คนไทยเรารู้จักและกินมะเขือพวงมานานแล้ว มะเขือพวงทำให้กลิ่นรสของเครื่องจิ้มต่างๆ มีความพิเศษออกไปจากปกติ เรากินผลอ่อนมะเขือพวงโดยนำไปโขลกกับน้ำพริกปลาทู น้ำพริกแมงดา น้ำพริกกะปิ น้ำพริกขี้กา น้ำพริกกุ้งสด น้ำพริกหอยแมลงภู่ น้ำพริกไข่เค็ม และปลาร้าทรงเครื่อง หากใช้เป็นผักจิ้มนิยมทำให้สุกโดยการเผา ปิ้ง หรือย่าง พอให้ผิวกรอบหรือไหม้บางส่วน จะทำให้รสชาติดีขึ้น และผลนิ่มกว่าเมื่อยังดิบ หรืออาจนำไปลวกหรือต้มให้สุกก็ได้ นอกจากนี้ ใช้มะเขือพวงใส่แกงเขียวหวาน แกงป่า แกงคั่วปลาไหล แกงอ่อมปลาดุก ซุปอีสานและแกงเผ็ดอื่นๆ
ชาวไอเวอรี่โคสต์นำผลมะเขือพวงใส่ซุปและซอสต่างๆ
ชาวทมิฬทางใต้ของอินเดียใช้ผลแช่นมเปรี้ยวแล้วตากแห้งประกอบอาหารทั้งเป็นเครื่องเคียงอาหารแป้ง และใส่ในแกงแขกแบบทางใต้หลายชนิด ชาวลาวใส่มะเขือพวงในแกงเผ็ดเช่นกัน
มะเขือพวงเป็นพืชผักกินผลที่ให้ธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็กค่อนข้างสูง เป็นพืชผักชนิดกินผลที่ปลูกง่าย โตเร็ว ไม่มีปัญหาเรื่องโรคพืช และแมลงศัตรูพืชแต่อย่างใด
เมื่อกินมะเขือพวงสุก ๑๐๐ กรัม จะได้คุณค่าของสารอาหารดังนี้
(เทียบเคียงข้อมูลของมะเขือพวงและมะเขืออื่นจากอินเทอร์เน็ต)
พลังงาน ๒๔ กิโลแคลอรี
คาร์โบไฮเดรต ๕.๗ กรัม
น้ำตาล ๒.๓๕ กรัม
เส้นใยอาหาร ๓.๔ กรัม
ไขมัน ๐.๑๙ กรัม
โปรตีน ๑.๐๑ กรัม
ไทอะมีน (วิตามีนบี ๑) ๐.๐๓๙ มิลลิกรัม
ไรโบฟลาวิน (วิตามินบี ๒) ๐.๐๓๗ มิลลิกรัม
ไนอะซิน (วิตามินบี ๓) ๐.๖๔๙ มิลลิกรัม
กรดแพนโทเทนิก (วิตามินบี ๕) ๐.๒๘๑ มิลลิกรัม
วิตามินบี ๖ ๐.๐๘๔ มิลลิกรัม
โฟเลต (วิตามินบี ๙) ๒๒ ไมโครกรัม
วิตามินซี ๒.๒ มิลลิกรัม
แคลเซียม ๙ มิลลิกรัม
เหล็ก ๐.๒๔ มิลลิกรัม
แมกนีเซียม ๑๔ มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส ๒๕ มิลลิกรัม
โพแทสเซียม ๒๓๐ มิลลิกรัม
สังกะสี ๐.๑๖ มิลลิกรัม
แมงกานีส ๐.๒๕ มิลลิกรัม
สารสำคัญที่พบในมะเขือพวง
ทอร์โวไซด์ เอ, เอช (torvoside A, H) เป็นสตีรอยด์ไกลไซด์จากผลมะเขือพวง งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลในปี พ.ศ.๒๕๔๕ พบว่าทอร์โวไซด์ เอช มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ ๑ (Herpes simplex virus type 1) โดยมีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสมากกว่ายาอะไซโคลเวียร์ถึง ๓ เท่า
ทอร์โวนิน บี (torvonin B) เป็นซาโพนินชนิดหนึ่ง เชื่อกันว่าทำให้มะเขือพวงมีฤทธิ์ขับเสมหะ
ซลานีน (solanine) เป็นอัลคาลอยด์จากพืชตระกูลมะเขือ
โซลานีนเป็นสารที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลของแคลเซียมในร่างกาย ผู้ป่วยโรคไขข้อจึงไม่ควรกินพืชตระกูลมะเขือ
บุคคลทั่วไปที่กินพืชตระกูลนี้ควรกินอาหารกลุ่มนม-เนยด้วยเพื่อป้องกันความไม่สมดุลของแคลเซียมดังกล่าว
ผู้ที่ไวต่อโซลานีนอาจมีอาการท้องเสีย ปวดหัว หรืออาเจียน ถ้าทำให้สุกด้วยความร้อนแล้วโอกาสที่จะป่วยด้วยสารดังกล่าวนี้ก็จะลดลง
โซลาโซนีนและโซลามาจีน (solasonine and solamagine) เป็นไกลโคซิเลตอัลคาลอยด์ที่พบในพืชตระกูลมะเขือ พบร้อยละ ๐.๐๔ ของใบแห้ง ในมะเขือพวงบางสายพันธุ์ (มักพบแถบแคริบเบียน) มีปริมาณสารเหล่านี้มาก
ผู้ที่ไวต่อสารดังกล่าวถ้ากินมะเขือพวงดิบอาจเกิดอาการของระบบทางเดินอาหารและระบบประสาทได้
โซลาโซดีน (solasodine) เป็นสารที่มีสรรพคุณต้านโรคมะเร็ง จากการศึกษาวิจัยพบว่า สารโซลาโซดีนมีประสิทธิภาพยับยั้งการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์อันเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็ง
มะเขือพวงมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
มะเขือพวงเป็นพืชที่ช่วยเสริมสุขภาพ โดยมีสรรพคุณตามตำราแพทย์แผนไทยคือ ช่วยเจริญอาหาร ย่อยอาหาร ช่วยระบบขับถ่าย บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้ไอ ช่วยให้โลหิตหมุนเวียนดี แก้ฟกช้ำ ไอเป็นเลือด ฝีบวมมีหนองช
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงคุณสมบัติที่เด่นชัดของมะเขือพวง ในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของลำไส้เพื่อตอบสนองต่อสารพิษที่เข้ามายังระบบทางเดินอาหาร มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันความเสื่อมและแก่ก่อนวัย มีฤทธิ์ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในโรคเบาหวาน อีกทั้งยังมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด
ต้น ใบ และผล เป็นยาเย็นรสจืด ทำให้โลหิตหมุนเวียนดี แก้ปวด ฟกช้ำ ตรากตรำทำงานหนัก กล้ามเนื้อบริเวณเอวฟกช้ำ ไอเป็นเลือด ปวดกระเพาะ ฝีบวมมีหนอง อาการบวมอักเสบ ขับเสมหะ
ต้น อินเดียใช้น้ำสกัดจากต้นมะเขือพวงแก้พิษแมลงกัดต่อย
ใบสด น้ำคั้นใบสดใช้ลดไข้ ในแคเมอรูนใช้ใบห้ามเลือด ใช้เป็นยาระงับประสาท พอกให้ฝีหนองแตกเร็วขึ้น แก้ปวด ทำให้ฝียุบ แก้ชัก ไอหืด ปวดข้อ โรคผิวหนัง ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ และแก้ซิฟิลิส
ผล ผลของมะเขือพวงมีรสขื่น เฝื่อน อมเปรี้ยวเล็กน้อย หลายประเทศนำผลมาต้มน้ำกรองน้ำดื่ม มีสรรพคุณในการขับเสมหะ ช่วยระบบย่อยอาหาร รักษาอาการเบาหวาน
ประเทศจีนใช้ต้มน้ำดื่มแก้ไอและบำรุงเลือด ทำให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง ผลแห้งย่างกินแกล้มอาหารบำรุงสายตาและรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย
อินเดียกินผลเพื่อบำรุงตับ ช่วยบรรเทาโรคแผลในกระเพาะอาหาร ขับปัสสาวะ ช่วยย่อย และช่วยให้ผ่อนคลายง่วงนอน บำรุงตับ
อินเดียทางตอนใต้ใช้ผลอ่อนบำรุงกำลังให้ร่างกาย ผลแห้งหุงน้ำมันเล็กน้อย บดเป็นผงกินครั้งละ ๑ ช้อนชาลดอาการไอและเสมหะ
แคเมอรูนใช้ผลมะเขือพวงรักษาโรคความดันโลหิตสูง
เมล็ด มาเลเซียนำเมล็ดไปเผาให้เกิดควัน สูดเอาควันรมแก้ปวดฟัน
ราก มาเลเซียใช้รากสดตำพอกรอยแตกที่เท้า หรือโรคตาปลา อินเดียนำน้ำมะขามแช่รากมะเขือพวงต้มดื่มลดพิษในร่างกาย
โดยทั่วไปที่อินเดียใช้มะเขือพวงกำจัดพยาธิในระบบทางเดินอาหารและรักษาแผลกระเพาะอาหาร แต่หมอเท้าเปล่าของประเทศอินเดียใช้มะเขือพวงอยู่เสมอเป็นอาหารเสริมเพื่อควบคุมความดันโลหิต คุมโรคเบาหวาน แก้ไขความผิดปกติของระบบไต ตับ และช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำดีเพิ่มในตับ คุณค่าเหล่านี้เหมาะกับผู้สูงอายุหรือบุคคลที่มีอายุมากกว่า ๔๐ ปีขึ้นไป
มะเขือพวงกับเพ็กทิน
งานวิจัยพบว่า มะเขือพวงมีสารเส้นใยละลายน้ำได้ที่เรียกว่า เพ็กทิน (pectin) ซึ่งเป็นสารที่พบในผนังเซลล์ของพืช ผัก และผลไม้ต่างๆ เมื่อผ่านการกินเพ็กทินจะเปลี่ยนรูปเป็นวุ้นไปเคลือบผิวลำไส้ และช่วยเพิ่มความหนืดของอาหาร ทำให้อาหารเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ช้า ลำไส้จึงดูดซึมแป้งและน้ำตาลที่ย่อยแล้วได้ช้าลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดค่อนข้างคงที่ การดูดซึมคอเลสเตอรอลจากอาหารหรือน้ำดีลดลง และเกิดการสร้างน้ำดีขึ้นมาทดแทน
นอกจากนี้ พบว่าเพ็กทินมีคุณสมบัติดูดซับไขมันส่วนเกินจากอาหาร ลดการดูดซึมอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเข้าสู่ร่างกาย สารเส้นใยนี้ยังสามารถดึงน้ำไว้ได้เป็นจำนวนมาก จึงช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระ และกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานได้เป็นปกติ ที่ลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารย่อยเพ็กทินให้กรดไขมันขนาดเล็กซึ่งเป็นประโยชน์กับร่างกาย
การศึกษาปริมาณเพ็กทินในมะเขือ ๓ ชนิด ได้แก่ มะเขือยาว มะเขือเปราะ และมะเขือพวง พบว่ามะเขือพวงมีปริมาณเพ็กทินสูงสุด มะเขือยาวมีปริมาณเพ็กทินน้อยกว่ามะเขือพวง ๓ เท่า และมะเขือเปราะมีน้อยกว่า ๖๕ เท่า จึงอาจกล่าวได้ว่า เพ็กทินในมะเขือพวงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มะเขือพวงมีคุณสมบัติลดน้ำตาล ลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต และช่วยความสมดุลของระบบขับถ่ายดังที่ใช้กันในหลายประเทศ
มะเขือพวงกับโรคเบาหวาน
งานวิจัยที่ศึกษาปฏิกิริยาต้านอนุมูลอิสระของเครื่องดื่มจากมะเขือพวงแห้ง พบว่าน้ำสมุนไพรมะเขือพวงสามารถลดระดับอนุมูลอิสระซูเปอร์ออกไซด์ หรืออนุมูลอิสระไนทริกออกไซด์ในเลือดหนูที่เป็นเบาหวานได้ ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระที่ก่อให้เกิดสภาวะเครียดในหนูทดลองที่มีอาการของโรคเบาหวาน ส่งผลต่อสภาวะเครียดออกซิเดชันในเม็ดเลือดแดง น้ำสมุนไพรมะเขือพวงลดไขมันที่ถูกออกซิไดซ์เป็นไขมันไม่ดีในหนูที่มีอาการเบาหวาน นอกจากนี้พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดของหนูเบาหวานลดลงด้วย
มะเขือพวงกับโรคความดันโลหิตสูงและปัญหาเกล็ดเลือด
งานวิจัยที่ประเทศแคเมอรูนพบว่า เมื่อให้สารสกัดน้ำและแอลกอฮอล์ของผลมะเขือพวงกับหนูทดลองพบว่าความดันโลหิตของหนูต่ำลง และลดอัตราการเต้นของหัวใจด้วย โยฮิมบีนและอะโทรพีนไม่มีผลต่อฤทธิ์การลดความดันโลหิตของสารสกัดมะเขือพวง แต่โยฮิมบีนยับยั้งผลการลดอัตราการเต้นหัวใจของสารสกัดน้ำมะเขือพวง
เมื่อทดสอบการเกาะตัวของเกล็ดเลือดที่กระตุ้นโดยทรอมบินหรืออะดีโนซีนไตรฟอสเฟต พบว่าสารสกัดน้ำมะเขือพวงยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือดจากผลของสารทั้งสองดังกล่าว ฤทธิ์ลดความดันโลหิตของสารสกัดผลมะเขือพวงทั้ง ๒ ชนิดน่าจะเกิดจากการทำให้หัวใจเต้นช้าลง ผนวกกับผลยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือดทำให้มะเขือพวงมีประโยชน์สำหรับผู้มีความดันโลหิตสูงและมีปัญหาเรื่องการรวมตัวของเกล็ดเลือด ตามที่มีการใช้งานมาแต่ดั้งเดิมนั่นเอง
มะเขือพวงต้านอนุมูลอิสระและต้านอักเสบ
งานวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและปริมาณสารฟีนอลิกรวมสารสกัดแอลกอฮอล์ของผลมะเขือตากแห้งแช่แข็ง ๑๑ ชนิดในประเทศไทยในปี พ.ศ.๒๕๕๑ พบว่าสารสกัดแอลกอฮอล์จากผลมะเขือพวงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุด และมีปริมาณรวมสารฟีนอลิกรวมสูงสุด
การศึกษาฤทธิ์ของมะเขือพวงโดยคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๕๕๒ พบว่า สารสกัดมะเขือพวงมีสารโพลีฟีนอลสูง สารสกัดยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไซโตโครมพี 450 2E1 ในไมโครโซมของตับ มีฤทธิ์ขจัดอนุมูลอิสระที่เกี่ยวข้องกับไลพิดเพอร์ออกซิเดชันและซูเปอร์ออกไซด์แอนไอออน ผู้วิจัยเชื่อว่าสารสกัดมะเขือพวงมีศักยภาพในการลดความเครียดออกซิเดชันในผู้ป่วยเบาหวาน
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.๒๕๕๒ พบว่าสารสกัดแอลกอฮอล์จากมะเขือพวงมีฤทธิ์ต้านการผลิตไนตริกออกไซด์ และ TNF-? ในเซลล์มิวรีนมาโครฟาจที่ถูกกระตุ้นด้วยไลโพโพลีแซ็กคาไรด์ของแบคทีเรียในภาชนะเพาะเลี้ยง จึงมีฤทธิ์ต้านอักเสบ
นอกจากนี้ งานวิจัยจากสถาบันวิจัยป่าไม้ประเทศมาเลเซียพบว่าสารสกัดผลมะเขือพวงมีผลยับยั้ง platelet activating factor (PAF) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหอบหืด การอักเสบเฉียบพลัน ภูมิแพ้และภาวะเลือดแข็งตัวอีกด้วย
มะเขือพวงบำรุงไต
งานวิจัยในอินเดียในปี พ.ศ.๒๕๔๕ พบว่าสารสกัดมะเขือพวงเมื่อให้ก่อนรับยามีความสามารถป้องกันและรักษาอาการพิษต่อไตที่เกิดจากยาคีโมรักษามะเร็งได้ การทดลองในหนูเมื่อให้ยาโดรูไบซิน พบว่าหนูทดลองเกิดการอุดตันในท่อไตและมีแผลในท่อไต เมื่อได้รับสารสกัดมะเขือพวงก่อนรับยาหนูไม่มีอาการดังกล่าว การศึกษานี้จึงสนับสนุนการใช้มะเขือพวงในการบำรุงไตของหลายประเทศ
มะเขือพวงรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
กลุ่มวิจัยในแคเมอรูนในปี พ.ศ.๒๕๕๑ พบว่า สารสกัดน้ำและแอลกอฮอล์ของมะเขือพวงมีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากแอลกอฮอล์ ยา และความเครียด ส่วนที่ให้ผลดังกล่าวเพราะมีองค์ประกอบเป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์และไทรเทอร์พีน ผลวิจัยนี้สนับสนุนการใช้งานใบมะเขือพวงของแพทย์พื้นบ้านในประเทศแคเมอรูน
มะเขือพวง จิ๋วแต่แจ๋ว
จะเห็นว่ามะเขือพวงผลน้อยนิดนี่เป็นพืชที่มีคุณค่าเกินขนาดจริงๆ ใครที่เคยเขี่ยมะเขือพวงออกจากอาหารควรเปลี่ยนใจหันมากินมะเขือพวงกันได้แล้ว
คนโบราณกล่าวไว้ว่าขมเป็นยา อยากสุขภาพดีก็ฝึกกินมะเขือพวงสุกทีละน้อยให้เกิดความคุ้นเคยกันดีกว่านะคะ
มะเขือพวงเป็นไม้ทนโรคพืช การเพาะปลูกมักไม่ต้องใส่สารพิษฆ่าแมลงจึงค่อนข้างแน่ใจว่าเมื่อกินมะเขือพวงได้ผักปลอดสารพิษแน่นอน
- อ่าน 72,951 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้