• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฝรั่งตกเขา

เกาะลันตา  เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดกระบี่  มีประชากรประมาณ 28,000 คนเศษ  เป็นพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ  เพราะมีทิวทัศน์, ภูมิประเทศที่เงียบสงบ, สะอาด, มีหาดทรายที่สวยงาม, ไม่พลุกพล่าน ระยะหลังๆนี้จึงมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวยุโรปและสแกนดิเนเวีย  เดินทางไปพักผ่อนกันมากขึ้น  ล่าสุดได้รับการยกย่องจากนิตยสาร FORBES ให้ติดอันดับ 1 ใน 6 เกาะที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก

 “ฮัลโหล....ฮัลโหล... พี่ครับช่วยหน่อยครับ  ผมมีเรื่องด่วนขอปรึกษา”    เสียงโทรศัพท์จากแพทย์รุ่นน้อง  ดังแว่วมาตามสายด้วยสุ้มเสียงรุ่มร้อน

 “ว่ามาเลยคุณหมอ  ยินดีรับใช้”  ผมตอบกลับไป

 “มีฝรั่งกับคนไทยเมาเหล้า  แล้วขับจักรยานยนต์เที่ยวบนเกาะลันตา  แล้วตกเขา ทำให้ขาหัก, ซี่โครงหัก มีบาดแผลภายนอกเลือดออกมาก  ตอนนี้อยู่ที่โรงพยาบาลเกาะลันตา  จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดใหญ่ด่วน  ต้องส่งต่อครับ  ญาติที่เป็นฝรั่งกระวนกระวายใจมาก”

ข้อมูลในเวลาต่อมา  ทำให้ผมทราบว่าหลัง 6 โมงเย็น  แพข้ามฟากจากตรังหยุดวิ่ง  และคลื่นลมในฤดูมรสุมอย่างนี้  ทำให้การเดินทางโดยเรือในยามวิกาลลำบากยิ่ง  อย่างน้อยต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง  คนไข้ฉุกเฉินรายนี้อาจเสียชีวิตก่อนเดินทางมาถึงฝั่งได้

นาทีนั้นเอง…..ผมก็ฉุกคิดขึ้นได้ว่า  สำนักงานบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ) มีบริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยเฮลิคอปเตอร์  โดยเป็นการประสานความร่วมมือกับระหว่าง สำนักงานบริการการแพทย์ฉุกเฉิน, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ  โดยภาครัฐเป็นคนออกค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าน้ำมัน, ค่านักบิน และภาคเอกชนให้ใช้เครื่องบิน

ในเวลาไม่ถึงชั่วโมงต่อมา.......เฮลิคอปเตอร์ก็ไปถึงเกาะลันตา  และเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอาการหนักทั้ง 2 ราย ไปที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดตรัง  ผู้ป่วยทั้งสองรายได้รับการผ่าตัดช่วยชีวิตได้อย่างทันท่วงที.........

หลังจากนั้นไม่นาน  ผู้ป่วยชาวต่างประเทศรายนี้ซึ่งเป็นชาวสวีเดนที่มาเที่ยวเมืองไทยบ่อยๆ  ได้ทำหนังสือแสดงความขอบคุณและชื่นชมประเทศไทย  ที่มีการบริการขนส่งผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวสำหรับนักท่องเที่ยว  ทำให้เพิ่มหลักประกันสำหรับการท่องเที่ยวในประเทศไทย

ผู้ป่วยที่เป็นคนไทย  นอกจากได้รับการเคลื่อนย้ายทันเวลาด้วยบริการดังกล่าวแล้ว  ยังไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางเที่ยวพิเศษนี้  ซึ่งดูแลโดยสำนักงานบริการการแพทย์ฉุกเฉิน  และไม่ต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลในการผ่าตัด เพราะดูแลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

หากเกิดเหตุฉุกเฉิน วิกฤตบนพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร  การเดินทางคมนาคมยากลำบาก  อย่าลืมนะครับ เบอร์ 1669 และ 1330

ข้อมูลสื่อ

371-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 371
มีนาคม 2553
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ