นพ.ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล
ผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อสุขภาพ
มองจากทัศนะแพทย์แผนจีน (๓)
ระบบการย่อย การดูดซึมอาหารไม่มีระเบียบ ไร้กฎเกณฑ์ เกิดจากการกินอาหารจุบจิบ ตามอารมณ์
เทคนิคการกินอาหารเพื่อสุขภาพ
๑. การกินข้าวต้มหรือโจ๊ก
เหมาะเป็นอาหารมื้อเช้าสำหรับคนที่มีระบบการย่อยและดูดซึมไม่ค่อยดี
ช่วงตื่นนอนตอนเช้า ระบบการย่อยอาหารของเรา เพิ่งจะเริ่มทำงาน (หลังจากพักมาตลอดทั้งคืน) ให้ดื่มน้ำ หลังตื่นนอนทันที ๑-๒ แก้ว เพื่อกระตุ้นระบบย่อยอาหาร พลังลมปราณที่ไหลผ่านเส้นลมปราณ กระเพาะอาหาร ม้าม สูงสุดในช่วง ๐๗.๐๐-๐๙.๐๐ น. และ ๐๙.๐๐-๑๑.๐๐ น. ตามลำดับ เราจึงควรกินอาหารเช้าที่มีลักษณะ ย่อยง่ายในช่วงเวลาดังกล่าว
๒. กินเมื่อยังไม่รู้สึกหิว และหยุดเมื่อเริ่มอิ่ม
ไม่ควรปล่อยให้หิวจัดเกินไป เพราะจะทำลายพลังของกระเพาะอาหาร และไม่ควรกินอาหารอิ่มเกินไป เพราะจะทำลายสมรรถภาพการย่อยและการดูดซึม ทำให้อาหารตกค้างเป็นของเสีย ควรหยุดกินอาหารเมื่อมีความอิ่ม ร้อยละ ๗๐-๘๐
๓. อาหารมื้อเช้าต้องดี มื้อเที่ยงต้องอิ่ม มื้อเย็นต้องน้อย
ปริมาณอาหารมื้อเช้า ร้อยละ ๓๐-๔๐ มื้อเที่ยง ร้อยละ ๔๐-๕๐ มื้อเย็น ร้อยละ ๒๐-๓๐
๔. ควรกินอาหารตามมื้อหลัก ตามเวลา
ไม่ควรกินอาหารว่างหรือกินจุบจิบ ไม่มีกฎเกณฑ์ กินตามอารมณ์ เพราะทำให้ระบบการย่อยและดูดซึมอาหารไม่มีระบบระเบียบ ไร้กฎเกณฑ์ เช่นเดียวกัน
๕. ไม่กินอาหารที่มีรสชาติซ้ำซากเป็นเวลานาน
รสเปรี้ยว วิ่งเส้นตับ ถ้ากินมากจะกระทบระบบย่อย และดูดซึมอาหาร โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร
รสเผ็ด วิ่งเส้นปอด กระจาย กระตุ้นการไหลเวียน เลือด รสเผ็ดมากจะกระทบกระเทือนตับ ทำให้เส้นเอ็นหดตัว
รสหวาน วิ่งเส้นม้าม เสริมร่างกาย ลดการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ แต่ทำให้สะสมความร้อนและชื้นในร่างกาย เกิดการตกค้างของอาหารและของเสียได้ง่าย
รสเค็ม วิ่งเส้นลมปราณไต รสเค็มทำให้ก้อนนิ่ม ช่วยระบาย แก้ท้องผูก การกินเค็มมากเกินไปจะกระทบกระเทือนหัวใจ ทำให้หลอดเลือดหดตัว ความดันสูง
รสขม วิ่งเส้นลมปราณหัวใจ มีสรรพคุณขจัดร้อน สลายไฟ ลดไฟหัวใจที่แกร่ง (นอนไม่หลับ ฝันบ่อย แผลร้อนในปาก ลิ้นแดง) การกินรสขมมากเกินไปทำให้แห้งและระบบการย่อยอาหารอ่อนแอ
แพทย์แผนจีนกับอาหารและยา
แนวคิดเกี่ยวกับอาหารและยาของแพทย์แผนจีน มีดังนี้
๑. อาหารและยามีแหล่งที่มาเดียวกัน ยามปกติหรือไม่รุนแรง ควรใช้อาหารแทนยา ยาใช้เพื่อรักษาโรค ไม่ควรกินนานโดยไม่จำเป็น
๒. ต้องแยกแยะฤทธิ์ของอาหารและยา เป็นร้อน เย็น
๓. ต้องสนใจว่ารสชาติของอาหารและยา มีผลต่อ อวัยวะภายในและกลไกการขึ้นลงของพลัง รวมถึงการเข้าสู่เส้นลมปราณต่างๆ ไม่เหมือนกัน
๔. การเลือกกินอาหารไม่มีสูตรตายตัวเหมือนกันทุกคน ขึ้นกับสภาพความเป็นจริงของร่างกาย สภาพแวดล้อม (ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และเวลาที่เหมาะสม)
๕. อาหารและยา มีแนวคิดใหญ่ๆ ในการปรับสมดุล โดยเน้นการขับปัจจัยก่อโรค (เสียชี่) และการสร้างเสริมบำรุงพลังพื้นฐานร่างกาย (เจิ้งชี่) และปรับกลไกการไหลเวียนเลือด
๖. การเสริมสร้างภาวะสมดุล ต้องมีลักษณะองค์-รวม มองเห็นความสัมพันธ์เกี่ยวข้องของภาวะเสียสมดุล หลายๆ ด้านประกอบการพิจารณา เช่น จากผลกระทบของสิ่งแวดล้อม วิถีการดำเนินชีวิต อารมณ์ การพักผ่อน การนอนหลับ เพศสัมพันธ์ สภาพภูมิประเทศ อาหาร อากาศ ฤดูกาล เป็นต้น
อ่านต่อฉบับหน้า
- อ่าน 7,129 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้