• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูก

มูลนิธิรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดทำโครงการปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สูลูก เฉลิมพระเกียรติ ๕๕ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเพิ่มทางรอด ให้ชีวิตใหม่แก่ผู้ป่วยเด็กโรคตับที่ยากไร้ ด้วยวิธีการปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่ที่ยังไม่เสียชีวิต นับเป็นครั้งแรกในไทย และพัฒนาการแพทย์ให้ก้าวหน้าทัดเทียมต่างประเทศ

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดี ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ "โครงการปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูก เฉลิมพระเกียรติ ๕๕ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" ว่าเป็นโครงการที่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะจัดทำเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ๕๕ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หวังจะช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กโรคตับระยะสุดท้ายที่ไม่มีค่ารักษาพยาบาล ให้มีชีวิตรอดอย่างมีคุณภาพ และยังเป็นการพัฒนาการเรียน การสอนด้านการแพทย์ให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ

ศ.นพ.รัชตะกล่าวต่อว่า "เนื่องจากปัจจุบันการปลูกถ่ายตับเป็นวิธีการรักษาวิธีเดียวสำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็ง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาโดยการปลูกถ่ายตับจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด การปลูกถ่ายตับโดยปกติจะใช้ตับจากผู้บริจาคสมองตาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในภาวะขาดแคลน" 


ดังนั้น จึงนับเป็นครั้งแรกที่มีการปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่สู่ลูก เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสในการรักษามากยิ่งขึ้น ทั้งนี้สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่ "เด็กทารกที่มีความผิดปกติจากโรคท่อน้ำดีตีบตัน แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำดีก่อน ถ้าหากไม่ได้ผลจะทำให้เกิดภาวะตับแข็งและจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายตับภายในระยะเวลาไม่เกิน ๑-๒ ปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ถ้าหากช้ากว่านี้จะส่งผลให้เด็กเสียชีวิตได้"

"สำหรับโครงการปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูกฯ เราเลือกใช้ตับของพ่อแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ เนื่องจากตับจากผู้บริจาคสมองตายขณะนี้อยู่ในภาวะขาดแคลน และการปลูกถ่ายตับให้ผู้ป่วยเด็กจะใช้ปริมาณตับน้อย ซึ่งสามารถแบ่งมาจากตับของพ่อแม่ที่มีชีวิตอยู่ได้" ศ.นพ.รัชตะให้ข้อมูลเพิ่มเติม

ขณะนี้มีผู้ป่วยเด็กมากกว่า ๑๐๐ คนรอรับการปลูกถ่ายตับจากโครงการ และยังมีผู้ป่วยที่ไม่ทราบจำนวนอีกมาก ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และขาดโอกาสในการรักษา จนเป็นสาเหตุให้ไม่มีการส่งตัวมาถึงแพทย์ได้ทันเวลา โครงการนี้จึงเป็นอีกหนึ่งความช่วยเหลือที่สามารถบรรเทาความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของเด็กน้อยได้
 

โครงการปลูกถ่ายตับฯ มีระยะเวลาโครงการ ๕ ปี นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓-๒๕๕๘ โดยตั้งเป้าช่วยเหลือผู้ป่วยโรคตับจำนวน ๒๕ ราย ซึ่งทางมูลนิธิรามาธิบดีฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายและค่ารักษาพยาบาลในการปลูกถ่ายตับทั้งหมด โดยแต่ละรายมีค่าใช้จ่ายในการปลูกถ่ายตับรายละ ๑ ล้านบาท และค่ายากดภูมิต้านทานปีละ ๑๒๐,๐๐๐ บาทต่อคน รวมงบประมาณในโครงการฯ กว่า ๓๐ ล้านบาท สนใจร่วมบริจาคติดต่อมูลนิธิรามาธิบดี โทร.๐ ๒๒๐๑ ๑๑๑๑

 

ข้อมูลสื่อ

378-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 378
ตุลาคม 2553
เก็บมาฝาก
กองบรรณาธิการ