• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคอ้วนคุกคามเด็กไทย

ผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยและตรวจร่างกายครั้งที่ ๔ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑-๒๕๕๒ พบว่าเด็กชายและเด็กหญิงมีการเติบโตทางร่างกายมีส่วนสูงเพิ่มขึ้นประมาณ ๔ เซนติเมตร ในช่วง ๘ ปีที่ผ่านมาจะมีภาวะโภชนาการดีขึ้น

พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยในงานการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติครั้งที่ ๔ "การขับเคลื่อนงานโภชนาการเพื่อคุณภาพชีวิต" ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา พบว่าเด็กไทยมีโภชนาการพร่องและเกินอยู่ในภาวะเตี้ย น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ในเด็กอายุ ๖-๑๔ ปี เด็กเหล่านี้เสี่ยงต่อสุขภาพไม่แข็งแรงเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ ๒ และยังทำให้ระดับเชาวน์ปัญญาต่ำในวัยผู้ใหญ่ ปัญหานี้พบมากในเด็กเขตชนบท และที่พบ ๓ ใน ๔ ที่อายุ ๑-๕ ขวบที่มีการเลือกกินผักและผลไม้น้อยกว่า ๐.๕ ส่วนต่อวันและในร้อยละ ๒๘ ของเด็กอายุ ๒-๔ ขวบ กินขนมกรุบกรอบที่มีไขมันสูง เช่น มันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบกุ้ง และอาหารแช่แข็ง เป็นต้น หรือเด็กอายุ ๒-๔ ขวบ มักดื่มน้ำอัดลมหรือน้ำหวานมากกว่า ๑ ครั้ง/วัน
 

ส่วนที่อายุมากกว่า ๑๕ ปี ร้อยละ ๒๔ กินผักและผลไม้เพียงพอตามคำแนะนำในภาวะโภชนาการของผู้ใหญ่อายุ ๑๘-๕๙ ปี ที่ความชุกภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ในผู้ชายร้อยละ ๓๐.๘ ในผู้หญิงร้อยละ ๔๓.๕ โดยผู้หญิงมีภาวะอ้วนลงพุงสัมพันธ์กับกลุ่มโรคเมตาบอลิก (Metabolic syndrome) มากกว่าผู้ชายเกิน ๒ เท่าล้วนสัมพันธ์กับการกินอาหาร และโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง


ทั้งหมดนี้ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดที่คร่าชีวิตประชากรไทยจำนวนมาก แต่ในผู้ใหญ่เมื่ออายุมากกว่า ๖๐ ปีขึ้นไปจะกินผักลดลงจากที่ได้รับรายงานวิจัยแบบอภิมาณถึงการกินอาหารเหล่านี้จะทำให้เกิดโรคอ้วนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ได้


ประชากรไทยต้องเผชิญกับปัญหาโภชนาการในเด็กทั้ง ๒ ด้านคือ จำนวนหนึ่งยังขาดสารอาหารอย่างรุนแรงจึงส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมองและศักยภาพการเรียนรู้ในระยะยาวแต่มีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งทั้งในเมืองและชนบทจะประสบกับปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วน เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่เกือบครึ่งหนึ่งของผู้หญิงและ ๑ ใน ๓ ของผู้ชายมักจะมีปัญหาโภชนาการเกิน


จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายวิชาการ วิชาชีพ องค์กรเอกชน อาสาสมัคร ประชาสังคม และฝ่ายอุตสาหกรรม ที่เป็นภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนนโยบายให้ครอบครัวและชุมชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัดสินใจการเลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพและมีกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสม

 

ข้อมูลสื่อ

378-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 378
ตุลาคม 2553
กองบรรณาธิการ