• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หน้าพิงวัง หลังพิงวัด

คนไทยในสมัยโบราณ  ก่อนเริ่มมีการศึกษาระบบแผนตะวันตกเข้ามาอย่างเต็มรูปแบบ  พ่อแม่ที่ให้ความสำคัญและใส่ใจกับอนาคตของบุตรหลาน  จะใช้วิธีฝากตัวให้เข้าไปเป็น “เด็กวัด”  ตั้งแต่กินอยู่หลับนอน, ช่วยกิจของสงฆ์และงานต่างๆทั่วไป  พระภิกษุท่านก็ถือเป็นลูกหลานช่วยแนะนำสั่งสอนให้ความรู้, ให้การศึกษาทั้งทางโลก และทางธรรม  ผู้หลักผู้ใหญ่ของเราจำนวนมากในบ้านเมืองขณะนี้ ที่ได้ดิบได้ดีมาเป็นตัวหลักสร้างคุณูปการแก่ประเทศชาติ  หลายท่านถูกหล่อหลอมและเพาะบ่มมาจากการเคยผ่านประสบการณ์ “การเป็นเด็กวัด” มาก่อน…

หลังจากนั้น  เมื่อเติบใหญ่มีความรู้  ความสามารถพอตัว  พอที่จะประกอบอาชีพในสังคมได้  ผู้หลักผู้ใหญ่ก็จะนิยมที่จะให้บุตรหลาน  เข้าไปทำงานใกล้ชิดกับทางราชการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบรมวงศานุวงศ์  โดยการฝากฝั่งให้เป็นเด็กรับใช้บ้าง  เด็กฝึกงานบ้าง  แล้วค่อยๆสั่งสมประสบการณ์ไต่เต้าขึ้นเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย อาศัยบารมีของผู้หลักผู้ใหญ่ “ในรั้วในวัง” ส่งเสริมจนได้ทำงานใหญ่ๆและไต่เต้าก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆในตำแหน่งที่สูงขึ้น..

เรียกได้ว่าสังคมไทยในอดีต จวบจนปัจจุบัน  พัฒนาคนโดยอาศัยยุทธศาสตร์ “หน้าพิงวัง หลังพิงวัด” มาโดยตลอด...

ทุกวันนี้...แม้ค่านิยมและทัศนคติของผู้คนจะเปลี่ยนไปบ้าง...แต่บทบาทของ “วังและวัด” ต่อสังคมไทย ก็ยังมีอยู่มิใช่น้อยๆ
 

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข  ได้พยายามส่งเสริมให้ “วัด” ได้มีบทบาทในการดูแลสุขภาพประชาชนในบริบทต่างๆ  ดังตัวอย่างเช่น

* วัดทุ่งบ่อแป้น อ.เมือง จ.ลำปาง  เป็นศูนย์ดูแลผู้พิการแบบองค์รวม ช่วยดูแลผู้พิการที่มีปัญหาเรื่องความเคลื่อนไหว เช่น เป็นอัมพาต, อัมพฤกษ์  โดยการร่วมมือกับโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง

* วัดปทุมคณาวาส อ.เมือง จ.สมุทรสาคร  จัดตั้งศูนย์แพทย์ชุมชนขึ้นในโรงพยาบาล  ดูแลคนสูงอายุ  ญาติโยม และประชาชนทั่วไปที่มาทำบุญที่วัด  ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ

* วัดคำประมง  อ.พรรณานิคม  จ.สกลนคร  จัดตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งซึ่งต้องการบำบัดรักษาแนวพุทธ  ซึ่งเน้นการทำสมาธิบำบัด และการทำจิตใจให้สงบ

* วัดพระบาทน้ำพุ  อ.เมือง  จ.ลพบุรี  ได้มีบทบาทอย่างมากในการบำบัดเยียวยา  ผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ในระยะที่มีอาการรุนแรงแล้ว  เป็นเวลากว่า 10 ปี  น่าเสียดายที่ระยะหลังด้วยปัญหาด้านภาระค่าใช้จ่าย  ทำให้ต้องลดบทบาทลง

* กรมสนับสนุนบริการ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดให้มีการอบรมพระสังฆาธิการในจังหวัดต่างๆ  ให้มีความรู้ด้านสาธารณสุขมูลฐาน  เช่น เรื่องการบริโภคอาหารที่เหมาะสม  การดูแลตนเอง  การปฏิบัติธรรมะเพื่อสุขภาพทางจิต  ในอันที่จะส่งเสริมให้พระภิกษุได้มีบทบาทในการให้ความรู้  และแนะนำสั่งสอนประชาชนทั่วไป  เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยในเบื้องต้นได้

สำหรับกิจการที่เกี่ยวกับ “วัง”  หรือ พระบรมวงศานุวงศ์นั้นก็เช่นกัน  มีโครงการด้านสุขภาพอนามัยจำนวนมากที่ขณะนี้ มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว,  พระบาทสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ  และพระเจ้าลูกยาเธอ เกือบทุกพระองค์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์อยู่  ตัวอย่างเช่น 
* โครงการดูแลประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารของมูลนิธิ พอ.สว.

* โครงการ “To be number one” ด้านเยาวชน

* โครงการสนับสนุนรางวัลคนดีศรีสังคม เช่น “รางวัลเจ้าฟ้ามหิดล” ซึ่งมีการมอบรางวัลแก่นักวิทยาศาสตร์ และบุคลากรด้านสาธารณสุขทั่วโลก  ที่ทำประโยชน์แก่วงการแพทย์และสาธารณสุข

* โครงการ “แพทย์ชนบทคืนถิ่น” ของมูลนิธิสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

* โครงการเทิดพระเกียรติอีกหลายสิบโครงการ  ที่จัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เช่นโครงการฟันเทียมพระราชทาน, โครงการผ่าตัดหัวใจ, โครงการส่งเสริมการบริโภคอาหารเสริมไอโอดีน...เป็นต้น

โดยภาพรวมทั้งหมด  จะเห็นได้ว่า  สถาบันศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์  ได้มีบทบาทอย่างสูงในการร่วมผลักดัน  และขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพ  และการดูแลสุขภาพของประชาชนชาวไทยทั้งปวง

ระบบหลักประกันสุขภาพ  จึงเป็นระบบที่สอดประสานอยู่ในความเป็น “ชาติ  ศาสนา  และพระมหากษัตริย์” อย่างแท้จริง

 


 

ข้อมูลสื่อ

378-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 378
ตุลาคม 2553
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ