สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้านั้น มีต้นไม้หลายต้นเข้ามาร่วมอยู่ในเหตุการณ์อันสำคัญนี้ หนึ่งในนั้นคือต้นสาละ
ต้นสาละที่เรากล่าวถึงในบทความนี้ คือต้นสาละลังกา เพราะมีประวัติอันยาวนานที่มาจากศรีลังกานั่นเอง จึงเป็นที่มาของชื่อสาละลังกา
สาละลังกามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Couroupita guianensis มีชื่อเรียกันทั่วไปอีกชื่อคือลูกปืนใหญ่ (Cannonball Tree) อยู่ในวงศ์ Lecythidaceae หรือวงศ์ของต้นจิก ต้นกระโดน
ลักษณะต้นของสาละลังกาคือเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ เปลือกสีน้ำตาลแกมเทา แตกเป็นร่องและสะเก็ด ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ เป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง
จุดเด่นของต้นสาละก็คือดอกที่สวยงาม มีสีชมพูอมเหลืองหรือแดง ด้านในมีสีม่วงอ่อนอมชมพู กลิ่นหอมมาก ช่อดอกยาวประมาณ ๒-๓ ฟุต ดอกทยอยบานจากโคนไปหาปลายช่อ ดอกบานเต็มที่กว้าง ๕-๑๐ เซนติเมตร และดอกบานได้นานเป็นเดือน
ส่วนผล มีลักษณะเป็นผลแห้ง ทรงกลมใหญ่ ขนาด ๑๐-๒๐ เซนติเมตร เปลือกแข็ง สีน้ำตาลปนแดง เป็นที่มาของชื่อลูกปืนใหญ่ ข้างในมีเมล็ดจำนวนมากแต่ผลสุกมีกลิ่นเหม็น
เนื่องจากเดือนนี้อยู่ในเทศกาลเข้าพรรษาทำให้นึกถึงต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติจริงๆ ซึ่งเรียกว่าต้นสาละ หรือต้นสาละอินเดีย คนทั่วไปคิดว่าเป็นต้นเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วต้นไม้นั้นเป็นคนละต้นกับต้นสาละลังกาอย่างสิ้นเชิง เป็นอีกชนิดหนึ่งซึ่งอยู่กันคนละวงศ์ ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Shorea robusta Roxb. ชื่อสามัญคือ Sal, Shal, Sakhuwan, Sal Tree, Sal of India, Religio อยู่ในวงศ์ Dipterocarpaceae หรือวงศ์ต้นยาง
ตอนพระพุทธเจ้าประสูติ ดังประวัติที่ว่า เมื่อพระพุทธมารดาคือพระนางสิริมหามายาทรงครรภ์ใกล้ครบกำหนดพระประสูติกาล จึงเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อไปมีพระประสูติกาลที่กรุงเทวทหะ อันเป็นเมืองต้นตระกูลของพระนาง ตามธรรมเนียมประเพณีพราหมณ์ เมื่อขบวนเสด็จมาถึงครึ่งทางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ณ ที่ตรงนั้นเป็นสวนมีชื่อว่า "สวนลุมพินีวัน" เป็นสวนป่าไม้ "สาละ" พระนางได้ทรงหยุดพักอิริยาบถ (ปัจจุบันคือตำบล "รุมมินเด" แขวงเปชวาร์ ประเทศเนปาล) พระนางประทับยืนชูพระหัตถ์ขึ้นเหนี่ยวกิ่งสาละ และขณะนั้นเองก็รู้สึกประชวรพระครรภ์ และได้ประสูติพระสิทธัตถะกุมาร และเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะจะตรัสรู้ หลังจากที่ได้เสวยข้าวมธุปายาสที่บรรจุอยู่ในถาดทองคำของนางสุชาดาแล้ว ได้ทรงอธิษฐานว่า ถ้าพระองค์ได้สำเร็จพระโพธิญาณ ขอให้การลอยถาดทองคำนี้สามารถทวนกระแสน้ำแห่งแม่น้ำเนรัญชราได้ เมื่อทรงอธิษฐานแล้วได้ทรงลอยถาด ปรากฏว่าถาดทองคำนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำ จากนั้นพระองค์เสด็จไปประทับยังควงไม้สาละ ตลอดเวลากลางวัน ครั้นเวลาเย็นก็เสด็จไปยังต้นพระศรีมหาโพธิ์ ประทับนั่งบนบัลลังก์ภายใต้ต้นโพธิ์ และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลารุ่งอรุณ ณ วันเพ็ญเดือน ๖
เมื่อพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์สาวก เสด็จถึงเขตเมือง
กุสินาราของมัลละกษัตริย์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญวดี พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยมาก จึงมีรับสั่งให้พระอานนท์ ซึ่งเป็นองค์อุปัฏฐากปูลาดพระที่บรรทม โดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ระหว่างต้นสาละทั้งคู่ แล้วพระองค์ก็ทรงสำเร็จสีหไสยาสน์ โดยพระปรัศว์เบื้องขวา (นอนตะแคงขวาพระบาทซ้ายซ้อนทับพระบาทขวา) และแล้วเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน
- อ่าน 32,103 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้