• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

๑๐ หน่วยงานร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ยุติความรุนแรงในครอบครัว

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา องค์ทูตสันถวไมตรี ในการต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง ของกองทุนการพัฒนา เพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UNIFEM) เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการยุติความรุนแรงในครอบครัว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ โดยมี ๑๐ องค์กรภาครัฐร่วมลงนาม เพื่อร่วมดำเนินการยุติความรุนแรงในครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรม

นายศุภฤกษ์ หงส์ภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า หลังจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ อันมีผลสืบเนื่องมาจากปัญหาการแก้ไขการใช้ความรุนแรงในครอบครัว โดยมาตรา ๑๓ กำหนดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดให้มีระบบงาน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน และการบังคับให้เป็นไปตามมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ ประกอบกับมาตรา ๑๗ กำหนดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จัดทำรายงานประจำปี และรายงานต่อคณะรัฐมนตรีและสภา เพื่อทราบปีละครั้ง โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันในครอบครัวเป็นผู้รับผิดชอบสนับสนุนการดำเนินงาน

เพื่อให้การดำเนินการยุติความรุนแรงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากขึ้น สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จึงได้จัดทำข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการยุติความรุนแรงในครอบครัว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งมุ่งเน้นความร่วมมือให้เกิดการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมุ่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินงานลักษณะบูรณาการ ทั้งเชิงนโยบายและปฏิบัติในการช่วยเหลือคุ้มครอง การป้องกันและเฝ้าระวัง และจัดทำระบบข้อมูลความรุนแรงในครอบครัว เพื่อขับเคลื่อนพระราชบัญญัติฯ ให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังมุ่งให้สังคมเกิดความตระหนักในความสำคัญของปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และเข้ามาร่วมมือร่วมใจกัน ในการเฝ้าระวัง ช่วยเหลือ และระงับเหตุในครอบครัว และชุมชนของตนเอง เพื่อลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในสังคมไทย โดยมี ๑๐ หน่วยงานร่วมลงนามข้อตกลงดังกล่าว คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวต่อว่า ความร่วมมือระหว่าง ๑๐ องค์กร ในการดำเนินการยุติความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ ครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการประสานงานระหว่างองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมีความละเอียดอ่อนซับซ้อน เพราะมีความเกี่ยวพันกับคนใกล้ชิด การใช้มาตรการทางอาญาตามประมวลกฎหมายมาบังคับกับการกระทำความรุนแรงในครอบครัวจึงไม่เหมาะสม เนื่องจากกฎหมายอาญามีเจตนารมณ์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดมากกว่าที่จะแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดหรือปกป้องคุ้มครองผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
 

นอกจากนี้ภายในงานมีพิธีประทานรางวัล "สุภาพบุรุษต้นแบบลดความรุนแรงในครอบครัว" ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศแก่สุภาพบุรุษต้นแบบที่เสียสละ อดทนและตั้งใจทำงานให้แก่สังคม ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปีนี้เป็นปีแรกของการดำเนินงาน จึงคัดเลือกสุภาพบุรุษต้นแบบจาก ๕ จังหวัดนำร่อง คือ ปทุมธานี นนทบุรี ระยอง พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี จำนวน ๒๖ คน และประทานใบประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ๕ จังหวัดนำร่องที่สนับสนุนรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัว
 

ข้อมูลสื่อ

373-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 373
พฤษภาคม 2553
กองบรรณาธิการ