• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิตามินเม็ด กินทำไม ปลอดภัยจริงหรือ?

ถ้าลองถามผู้ที่กินวิตามินเม็ดอยู่ทุกวันว่ากินทำไมกัน ก็ได้รับคำตอบว่า กินแล้ว "รู้สึก" สบายดีบ้าง กินได้นอนหลับดีบ้าง กินบำรุงให้แข็งแรงขึ้น ความจำดีขึ้นบ้าง คนโน้นบอกว่าดี คนนี้ก็บอกว่าดี เลยกินตามๆ กัน


ถามต่อว่า กินอยู่ทุกวัน ไม่กลัวอันตรายหรือ (ทีกินยาทุกวัน กลัวว่ายาจะสะสม ตับไตจะพัง) ก็มักจะได้คำตอบว่า วิตามินเม็ดทำมาจากธรรมชาติ จากอาหาร ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ กินอาหารได้สารอาหารไม่ครบ ต้องกินเสริมให้แข็งแรง ป้องกันโรค กิน ๑ เม็ดเท่ากับกินผักผลไม้เป็นกิโลๆ แน่ะ กินแล้วไม่เห็นเป็นไร ก็สบายดีนี่

มีการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพมากกว่า ๑ การศึกษาบอกว่า วิตามินหลายๆ ตัวที่กินกันอยู่ ไม่ได้ผลในการป้องกันมะเร็ง โรคหัวใจหลอดเลือด สมองเสื่อม ไม่ได้ทำให้อายุยืนยาวขึ้น หรืออื่นๆ เราจะยังกินหรือไม่?

มีการศึกษาหลายการศึกษาบอกว่า วิตามินบางตัวที่เราๆ ท่านๆ กินกันอยู่ เพิ่มโอกาสเสียชีวิต มากกว่าไม่ได้กิน หรือยาหลอก เราจะยังกินต่อหรือเปล่า? 

เราใช้ ความ "รู้" หรือความ "รู้สึก" ในการบอกว่า จะกินหรือไม่กิน ดี?
วิตามินเอ วิตามินอี และบีตาแคโรทีน อาจเพิ่มโอกาสเสียชีวิต (Bjelakovic G. JAMA 2007;297:
842-57)

การรวบรวมการศึกษาไปข้างหน้าแบบสุ่ม (randomized trials)  ๖๘ การศึกษา จากประชากร ๒ แสน ๓ หมื่นกว่าคน (ทั้งคนปกติและเป็นโรคแล้ว) เพื่อดูว่า ผลของการกินวิตามินเม็ด หรือสารต้านอนุมูลอิสระสกัด ต่อการเสียชีวิต เมื่อเทียบกับไม่ได้กิน หรือกินวิตามินหลอก (รูปลักษณ์เหมือนวิตามินเม็ดทุกอย่าง แต่ไม่มีวิตามินอยู่ เพื่อผู้ทำวิจัยเก็บข้อมูล และผู้ป่วยจะไม่ทราบ ป้องกันการลำเอียง หรืออุปาทาน ในการเลือกให้วิตามินเม็ด และการแปลผล) ถ้ารวมการศึกษาทั้งลำเอียงมากและน้อย (high and low-bias trials) ไม่พบความแตกต่างในโอกาสเสียชีวิตของผู้ที่กิน หรือไม่กินวิตามินเม็ด หรือสารต้านอนุมูลอิสระสกัด แต่ถ้าดูเฉพาะการศึกษาที่มีคุณภาพการศึกษาที่ดี (ความลำเอียงน้อย) ๔๗ การศึกษา ในประชากร ๑ แสน ๘ หมื่นกว่าคน พบว่า การกินบีตาแคโรทีนในการศึกษา ๖ การศึกษา เพิ่มโอกาสเสียชีวิตร้อยละ ๖ (95% CI 1.01-1.11) การกินวิตามินเอเดี่ยวๆ หรือร่วมกับอาหารเสริมอื่น ยกเว้นซีลีเนียม (๕ การศึกษา) เพิ่มโอกาสเสียชีวิตร้อยละ ๑๖ (95% CI 1.10-1.24) และการกินวิตามินอี (๒๖ การศึกษา) ก็เช่นเดียวกับวิตามินเอ คือ เพิ่มโอกาสเสียชีวิตร้อยละ ๔ (95% CI 1.01-1.07)


วิตามินอีไม่ช่วยในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด (Vivekananthan DP, Lancet 2003;361:2017)

ตำราโรคหัวใจเล่มล่าสุด (Braunwald's Heart Disease) ได้ตีพิมพ์ข้อสรุปจากการศึกษาแบบสุ่ม ๗ การศึกษา ในประชากร ๘ หมื่นกว่าคน พบว่าการกินวิตามินอีไม่ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (กลุ่มที่กินเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดร้อยละ ๑๑.๓ กลุ่มควบคุม (ไม่ได้กิน) เกิดร้อยละ ๑๑.๑)


ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนกินวิตามินรวม ไม่ช่วยลดโอกาสเสี่ยงจากมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือการเสียชีวิต
(Neuhouser ML. Arch Intern Med 2009;169:294-304)การศึกษา Women's Health Initiative เป็นการศึกษาในหญิงอเมริกัน ๑ แสน ๖ หมื่นกว่าคน ทั้งในการวิจัยทางคลินิกและการติดตามระยะยาวประมาณ ๘ ปี พบว่าหญิงวัยหมดประจำเดือนที่กินวิตามินรวม ไม่ว่าจะกินวิตามินรวมเดี่ยว วิตามินรวมร่วมกับเกลือแร่ (เช่น แคลเซียม) หรือวิตามินรวมในขนาดสูง (สูงกว่าร้อยละ ๒๐๐ ของระดับที่แนะนำ) ไม่ช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง (ที่พบบ่อย) โรคหัวใจและหลอดเลือด และไม่มีผลต่อการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ


คำแนะนำของสมาคมหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) ปี พ.ศ.๒๕๔๙ (Circulation 2006;114:82-96)

แม้ว่าวิตามินเม็ด หรือสารต้านอนุมูลอิสระสกัด เช่น วิตามินอี บีตาแคโรทีน ซีลีเนียม ไม่แนะนำให้กิน แต่แนะนำให้กินอาหารจากพืชแทน (เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดขาว น้ำมันพืช ที่มีวิตามินดังกล่าว)


หญิงวัยหมดประจำเดือน กินวิตามินดีและแคลเซียมเป็นประจำ ไม่ลดโอกาสกระดูกหัก แต่อาจเพิ่มนิ่วในไต (Jackson RD.N Engl J Med 2006;354:669-83)

การศึกษาหญิงวัยหมดประจำเดือนมากกว่า ๓๖,๐๐๐ คน สุ่มแบ่งให้กินวิตามินดี ๔๐๐ หน่วยมาตรฐาน และแคลเซียม ๑ กรัม หรือกินยาหลอกทุกวัน เป็นเวลา ๗ ปี พบว่าการกินวิตามินดีและแคลเซียม เพิ่มความหนาแน่นของกระดูกสะโพก แต่ไม่ลดโอกาสกระดูกสะโพกหัก และเพิ่มโอกาสเกิดนิ่วในไตประมาณร้อยละ ๑๗ นอกจากนี้ การกินวิตามินดีและแคลเซียมไม่ช่วยลดโอกาสเสียชีวิต หรือไม่ลดโอกาสเกิดโรคหัวใจ และโรคมะเร็งที่พบบ่อย


ดังนั้น หญิงวัยหมดประจำเดือน ไม่ควรกินแคลเซียม และวิตามินดีเสริมกระดูก ควรจะตรวจมวลกระดูกก่อนว่า กระดูกบางหรือยัง แล้วขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการเพิ่มมวลกระดูก เช่น งดกาแฟ (ทุกๆ ๑ แก้วที่ดื่มกาแฟ ดึงแคลเซียมออกจากร่างกายประมาณ ๔๐ มิลลิกรัม) งดน้ำอัดลม เปลี่ยนเป็นน้ำเปล่าหรือชาชง (ใบชาชงด้วยน้ำร้อน ไม่ใช่ชาขวด ชากระป๋อง อย่างที่ขายกันอยู่) หยุดยาไทรอยด์บางชนิด และให้กินกะปิ ปลาตัวเล็ก กุ้งแห้งที่มีแคลเซียมเพิ่มในอาหาร ออกกำลังกาย เดิน ยกน้ำหนัก เพิ่มแรงกดบนกระดูกที่บาง เพื่อกระตุ้นให้แคลเซียมไปสะสมอยู่ที่กระดูกที่ใช้งาน (ยิ่งใช้ยิ่งแข็งแรง ยิ่งไม่ใช้ยิ่งเสื่อมโทรม) ตากแดดอ่อนๆ ตอนเช้า เย็น ๑๕ นาทีต่อวัน เพื่อให้ผิวหนังสร้างวิตามินดี วิตามินดีจะเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารที่กิน ร้อยละ ๘๐ ของวิตามินในร่างกายเราสร้างจากผิวหนังที่สัมผัสแสงแดด ที่เหลือได้จากอาหาร เช่น ไขมันปลา นม ธัญพืช ส่วนการกินแคลเซียม และวิตามินดีเสริม ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ เพื่อป้องกันผลเสียในระยะยาวดังกล่าวข้างต้น

 

สรุป
"วิตามิน" เป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็เกิดโทษได้เหมือนกัน
การกินตาม "ธรรมชาติ" จะได้ประโยชน์มากกว่า และ/หรือโทษน้อยกว่าการกินแบบ "ปรุงแต่ง" โดยสกัดเป็นเม็ดหรืออาหารเสริม

วิตามินเม็ดที่มีวิตามินเอ อี และบีตาแคโรทีนเป็นส่วนประกอบ ควรจะหลีกเลี่ยง ไม่ควรกินในระยะยาว ส่วนการกินวิตามินดี และแคลเซียม ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งให้กินในระยะยาว

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

373-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 373
พฤษภาคม 2553
เรื่องน่ารู้
นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์