• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเร็ง ดับชีวิตคนไทยมากสุด ปีละกว่า ๕ หมื่นคน แนะสูตรปฏิบัติตัว “เพิ่ม ๕ ลด ๗” ลดเสี่ยงป่วยมะเร็ง

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยโรคมะเร็งเป็นภัยร้ายตัวฉกาจ ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับ ๑ ปีละกว่า ๕๕,๐๐๐ ราย เป็นชายมากกกว่าหญิง ๒ เท่าตัว กว่าครึ่งเป็นผู้สูงอายุ แนะสูตรลดเสี่ยงมะเร็ง “เพิ่ม ๕ ลด ๗” อาทิ เพิ่มการกินผักผลไม้สดมากขึ้นให้ได้วันละ ๔ ขีด เพิ่มการออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักตัว ลดกินอาหารมัน ดองเค็ม อาหารปิ้ง-ย่าง รมควัน อาหารสุกๆ ดิบๆ ลดสูบบุหรี่ ลดเหล้า
 

นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์สุขภาพคนไทยว่า โรคที่เป็นภัยสุขภาพของคนไทยที่ร้ายแรงที่สุดในขณะนี้ คือ โรคมะเร็ง จากการวิเคราะห์สถิติการเสียชีวิตของคนไทยย้อนหลังตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๓ ซึ่งมีปีละประมาณ ๓ แสนคน พบว่ามะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ ๑ ติดต่อกันเป็นเวลา ๙ ปี ล่าสุดใน พ.ศ.๒๕๕๑ มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด ๕๕,๔๐๓ คน เป็นชาย ๓๒,๐๖๐ คน หญิง ๒๓,๓๔๓ คน โดยร้อยละ ๕๓ ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป รองลงมาคือวัยแรงงาน อายุ ๑๕-๕๙ ปี ร้อยละ ๔๖ เฉลี่ยแล้วในแต่ละวันจะมีคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ๑๕๒ คน หรือชั่วโมงละ ๖ คน
 

เมื่อแยกตามอวัยวะที่เกิดมะเร็ง อันดับ ๑ มะเร็งตับ ๑๔,๐๘๔ คน เป็นชาย ๙,๙๕๑ คน หญิง ๔,๑๓๓ คน อันดับ ๒ มะเร็งหลอดลม ปอด ๘,๕๖๕ คน ชาย ๕,๘๐๑ คน หญิง ๒,๗๖๔ คน (ทั้งมะเร็งตับและมะเร็งปอด ผู้เสียชีวิตเป็นชายมากกว่าหญิง ๒ เท่าตัว) อันดับ ๓ มะเร็งเต้านม ๒,๓๔๗ คน อันดับ ๔ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ๑,๘๓๙ คน ขณะที่องค์การอนามัยโลกรายงานในปี พ.ศ.๒๕๔๘ ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเกือบ ๘ ล้านคน
 

 

ด้านนายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสาเหตุการเกิดมะเร็งว่า ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่นอน สำหรับการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงเป็นมะเร็ง มีข้อแนะนำ ๑๒ ประการ โดย ๕ ประการเป็นการป้องกัน ได้แก่ ๑.กินผักตระกูลกะหล่ำให้มาก เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักคะน้า หัวผักกาด บรอกโคลี ๒.กินอาหารที่มีกากใยมาก เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวโพด เมล็ดธัญพืช ๓.กินอาหารที่มีสารบีตาแคโรทีนและวิตามินเอสูง เช่น ผักสด ผลไม้ที่มีสีเขียวเหลือง เช่น มะละกอ ส้ม ๔.กินอาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น ผลไม้ต่างๆ และ ๕.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมน้ำหนักตัว ไม่ให้อ้วน โดยควรกินผัก ผลไม้ให้ได้วันละ ๔๐๐ กรัม
 

อีก ๗ ประการเป็นวิธีลดความเสี่ยงเป็นมะเร็ง ได้แก่ ๑.ไม่กินอาหารที่มีราขึ้น ๒.ลดอาหารไขมัน ๓.ลดอาหารดองเค็ม อาหารปิ้ง-ย่าง รมควัน ๔.ไม่กินอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ก้อยปลา ปลาจ่อม เพราะจะทำให้เกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในตับ ๕.หยุดหรือลดสูบบุหรี่ ๖.ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ ๗.อย่าตากแดดจัด ซึ่งจะเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง

ทั้งนี้ การก่อตัวของโรคมะเร็งจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่รู้ตัว จึงแนะนำให้ผู้ที่มีอายุ ๓๕ ปีขึ้นไป ตรวจสุขภาพค้นหาความผิดปกติอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง หากตรวจพบเร็วโอกาสรักษาหายจะมีสูง 
 

สัญญาณผิดปกติที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งมี ๗ ประการ ได้แก่ ๑.มีเลือดออกหรือมีสิ่งขับออกจากร่างกายผิดปกติ เช่น ตกขาวมากเกินไป ๒.มีก้อนเนื้อหรือตุ่มเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งของร่างกายและก้อนนั้นโตเร็ว ๓.มีแผลเรื้อรังรักษาหายยาก ๔.ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะผิดปกติหรือเปลี่ยนไปจากเดิม ๕.เสียงแหบหรือเรื้อรัง ๖.กลืนอาหารลำบากหรือกินอาหารแล้วไม่ย่อย และ ๗.มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝ หากมีอาการเหล่านี้ขอไปให้พบแพทย์โดยเร็ว 

       

ข้อมูลสื่อ

374-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 374
มิถุนายน 2553
กองบรรณาธิการ