• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรค...ที่ถูกมองข้าม

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต มักถูกมองข้าม เนื่องจากอาการจะเกิดขึ้นเงียบๆ ค่อยเป็นค่อยไป ในระยะแรกอาการแสดงไม่เด่นชัด แต่เมื่อเป็นแล้วจะเป็นเรื้อรัง รักษาให้หายขาดไม่ได้ ต้องดูแลตนเองโดยปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต ลดเสี่ยงและรักษาควบคู่กันไปเพื่อควบคุมไม่ให้เป็นมากขึ้น และลุกลามเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตตามมา ข้อมูลข้อเท็จจริงในปัจจุบัน โรคไม่ติดต่อเรื้อรังป้องกันได้ด้วยตนเอง ร้อยละ ๘๐

ปฏิบัติการลดเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วยตนเองแบบง่ายๆ ด้วยการควบคุมป้องกันสหปัจจัยเสี่ยง โดยใช้เคล็ดลับ “ใส่ใจ ๓ อ. บอกลา ๒ ส. ต้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” 

อาหาร เลือกกินอาหารรสชาติไม่หวาน มันน้อย เค็มน้อย ชิมก่อนปรุง เพิ่มผักหลากสี ผลไม้สดไม่หวาน กินอาหาร ๓ มื้อต่อวัน ในปริมาณแค่พออิ่ม ใส่ใจฉลากโภชนาการ เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเกลือ หรือโซเดียมต่ำสุด ใน ๑ วันบริโภคเกลือหรือผลิตภัณฑ์ที่มีเกลือผสมให้น้อยกว่า ๑ ช้อนชา น้ำตาลน้อยกว่า ๔-๖ ช้อนชา (ขึ้นกับกิจกรรมทางกายในแต่ละวัน)

ออกกำลังกาย วันละ ๓๐-๖๐ นาที อย่างน้อย ๕ วันต่อสัปดาห์ หลีกเลี่ยงสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น รีโมตคอนโทรล ลิฟต์

อารมณ์
ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เช่น เปิดเพลงฟังเบาๆ หยุดทำงานสักครู่เพื่อคลายเครียดโดยการพักสายตา มองสำรวจสิ่งรอบๆ ตัว โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียว พูดคุยปรึกษากับเพื่อนหรือคนที่ไว้ใจได้ เป็นต้น

ไม่สูบบุหรี่
การหยุดสูบบุหรี่เป็นเวลา ๑ ปี จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจให้กลับมาใกล้เคียงกับคนปกติได้ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีควันบุหรี่ เนื่องจากสภาพแวดล้อมดังกล่าวส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้แม้ไม่สูบเอง

ลดดื่มสุรา ผู้ชายไม่ควรดื่มเกิน ๒ แก้วมาตรฐานต่อวัน ผู้หญิงไม่ควรเกิน ๑ แก้วมาตรฐานต่อวัน และไม่ควรดื่มทุกวัน (๑ แก้วมาตรฐาน = เบียร์ ไม่เกิน ๓๖๐ ซีซี ไวน์ ไม่เกิน ๑๕๐ ซีซี วิสกี้ ไม่เกิน ๔๕ ซีซี)

ผู้ที่อายุตั้งแต่ ๓๕ ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง และควรทราบค่าตัวเลขที่ประเมินความเสี่ยงของตัวเอง ได้แก่ ค่าความดันโลหิต รอบเอว น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด เพื่อใช้วางแผนในการดูแลตนเองที่เหมาะสมต่อไป

 

ข้อมูลสื่อ

374-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 374
มิถุนายน 2553
กองบรรณาธิการ