• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากกรรมพันธุ์มากถึง ๓ เท่า

พบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ๗-๑๐ คนต่อประชากร ๑ แสนคน เหตุจากกรรมพันธุ์ ๒-๓ เท่า และพฤติกรรมการกินอยู่แบบทันสมัย
 
ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา รองประธานศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และ นพ.ณวรา ดุสิตานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เปิดเผยถึงผลสรุปของโครงการบำเพ็ญพระกุศลใน ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ วันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ของ"โครงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้และทวารหนัก"

นพ.ณวรากล่าวว่า โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้เริ่มโครงการในวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ โดยให้ผู้ที่มีอายุ ๕๐-๖๕ ปี เข้าตรวจคัดกรองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยวิธีการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่พบว่ามีจำนวน ๑,๕๐๐ ราย ที่สามารถจำกัดได้ว่ามีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้หรือไม่ เบื้องต้นได้ตรวจคัดกรองจนถึงปลายเดือนพฤษภาคมจำนวน ๑,๓๐๐ ราย ตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ ๑๕ ราย

นอกจากนี้ ยังได้ตรวจประชาชนในส่วนของภูมิภาค ซึ่งได้ทำการคัดเลือกผู้ที่มีอายุมากกว่า ๕๐ ปี มีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด และกิ่งอำเภอหนองฮี พร้อมทั้งได้ทำการตรวจหาเลือดที่ปนในอุจจาระ ซึ่งมีผู้สนใจเข้ารับการตรวจ ๙,๒๒๐ รายจากผู้ที่มีอายุเกิน ๕๐ ปี ประมาณ ๒๑,๐๐๐  ราย โดยตรวจพบความผิดปกติจำนวน ๗๓๐ ราย ซึ่งทางโรงพยาบาลได้ให้แพทย์เข้าไปทำการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ในผู้เข้าร่วมโครงการกลุ่มนี้ช่วงวันที่ ๒๖-๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๓ จำนวน ๕๓๙ ราย ตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ ๑๐ ราย

สำหรับสาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เกิดจากกรรมพันธุ์ประมาณ ๒-๓ เท่าตัว ส่วนปัจจัยอื่นซึ่งไม่เด่นชัดมากนักมาจากอาหารการกิน การใช้ชีวิตท่ามกลางความทันสมัย เป็นต้น โดยเฉลี่ยพื้นที่กรุงเทพมหานครพบประมาณ ๗-๑๐ คนต่อประชากร ๑ แสนคน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ชนบท ทั้งอำเภอพนมไพรและกิ่งอำเภอหนองฮีจำนวน ๑๓๐,๐๐๐ คนพบโรคเฉลี่ย ๘-๑๐ คนต่อประชากร ๑ แสนคน ส่วนตัวเลขภาพรวมของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่าโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากเป็นอันดับ ๓ ในเพศชาย และพบมากเป็นอันดับ ๕ ในเพศหญิง

"การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ การส่องกล้อง ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรวจประจำทุกปี เพราะตรวจเพียงครั้งเดียวครอบคลุมประมาณ ๕-๑๐ ปี อย่างไรก็ตาม การตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่มีหลายระยะ โดยระยะศูนย์ เป็นระยะที่ยังไม่มีการลุกลามเข้าผนังลำไส้ การรักษาจะใช้การตัดติ่งเนื้อผ่านกล้อง โอกาสหายขาด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ระยะนี้เป็นการตรวจพบโดยบังเอิญ ส่วนระยะที่ ๑-๒ มีการกินเข้าไปผนังลำไส้แล้ว การรักษาใช้วิธีการผ่าตัดลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็ง แต่ไม่จำเป็นต้องให้เคมีบำบัด หรือฉายแสง โอกาสหายขาดร้อยละ ๘๐-๙๐ ระยะที่ ๓ เป็นมะเร็งที่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง การรักษาใช้การผ่าตัดร่วมกับการใช้เคมีบำบัดและการฉายรังสี และระยะที่ ๔ ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ทั้งตับ ปอด เป็นระยะแพร่กระจายต้องทำการผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการ ร่วมกับการใช้เคมีบำบัด"

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

375-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 375
กรกฎาคม 2553
กองบรรณาธิการ