• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พื้นที่ปลอดควันบุหรี่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ๕ ประเภท

              

 
นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้การสูบบุหรี่ในไทยมีแนวโน้มให้เห็นชัดเจนว่ามีบางกลุ่มเริ่มมีตัวเลขสูงขึ้น จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี
พ.ศ.๒๕๓๔-๒๕๕๒ พบว่าการสูบบุหรี่ผู้หญิงไทยมีค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับชายไทย

ในปี พ.ศ.๒๕๓๔ หญิงไทยสูบบุหรี่ร้อยละ ๔.๙๕ หรือประมาณ ๙๕๐,๐๐๐ คน และในปี
พ.ศ.๒๕๕๒ พบร้อยละ ๒ หรือประมาณ ๕๔๐,๐๐๐ คน ทั้งนี้ในช่วง ๒ ปีนี้ ผู้หญิงสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นประมาณ ๑๕,๐๐๐ คนต่อปี โดยพบว่าผู้หญิงที่เป็นวัยรุ่นสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิงทั่วไป คือ หญิงวัยรุ่นสูบบุหรี่ร้อยละ ๓.๘ ในขณะที่หญิงทั่วไปสูบบุหรี่เฉลี่ยร้อยละ ๒.๐๑ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของธุรกิจยาสูบที่หันมามุ่งเน้นตลาดวัยรุ่น เยาวชนหญิง

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ปีนี้องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นในการรณรงค์ว่า Gender and tobacco with an emphasis on marketing to women หรือ "หญิงไทยฉลาด ไม่เป็นทาสตลาดบุหรี่"

สำหรับความคืบหน้าการควบคุมการบริโภคยาสูบในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมีแผนยุทธศาสตร์การควบคุมบริโภคยาสูบมีเป้าหมาย ๓ ประการ คือ
๑. ลดปริมาณจำนวนผู้สูบบุหรี่
๒. ลดจำนวนการบริโภคยาสูบต่อคน
๓. สร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดจากควันบุหรี่

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๑๙ และมีผลวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ โดยได้กำหนดพื้นที่ที่ปลอดควันบุหรี่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ๕ ประเภท ได้แก่
๑. สถานบริการสาธารณสุขและส่งเสริมสุขภาพ
๒. สถานศึกษา
๓. สถานที่สาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน 
๔. ยานพาหนะและสถานีขนส่งสาธารณะ
๕. ศาสนสถาน สถานปฏิบัติธรรม

นอกจากนั้นเป็นพื้นที่ที่ยกเว้นให้สูบได้เฉพาะนอกอาคาร เช่น ปั๊มน้ำมัน สถานที่ราชการ และสถานที่ที่ให้สูบได้ในอาคาร แต่ต้องจัดเป็นห้องที่สูบเฉพาะ ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิเฉพาะ International เท่านั้น    

      

       
 

ข้อมูลสื่อ

375-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 375
กรกฎาคม 2553
กองบรรณาธิการ