• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผู้ป่วยโรคเรื้อรังกับการใช้ยา

ภก.วิรัตน์ ทองรอด
ผู้ป่วยโรคเรื้อรังกับการใช้ยา

คำถาม
ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ควรใช้ยาอย่างไร?... จึงจะได้ผลดีและปลอดภัย

โรคเรื้อรัง...เป็นแล้ว...มักไม่หายขาด
โรคเรื้อรังเป็นโรคที่เมื่อเริ่มเป็นแล้วมักไม่หายขาด จะต้องให้การดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องตลอดไป เพื่อควบคุมอาการของโรคไม่ให้ลุกลามจนเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือเป็นอันตรายรุนแรงได้ ตัวอย่างของโรคเรื้อรัง เช่น โรคหืด โรคความดันเลือด โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคข้อเข่าเสื่อม โรคไทรอยด์ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น ผู้ป่วยโรคหืดถ้าไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีก็อาจเกิดอาการจับหืด หายใจไม่ออกและ ตายได้ ผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูงถ้าไม่ควบคุมระดับความดันเลือดให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม ก็จะมีโอกาสทำให้หลอดเลือดไปเลี้ยงที่สมองเกิดอันตรายจนแตก ทำให้เกิดเลือดออกในสมอง เป็นอัมพาต พิการ ทรมาน และเสียชีวิตได้เช่นกัน
    
โรคเรื้อรัง...โรคแห่งการสะสม
เมื่อเป็นโรคเรื้อรังแล้วจึงต้องควบคุมอาการไม่ให้ลุกลามรุนแรงด้วยการปฏิบัติตนเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าไม่สนใจเอาใจใส่ดูแลรักษา ตนเองให้ดี โรคเรื้อรังที่ตนเองประสบอยู่ชนิดใดชนิดหนึ่งก็จะลุกลามและรุนแรงมากขึ้น และอาจก่อให้เป็นโรคชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกได้

ตัวอย่างของโรคเรื้อรังที่แสดงอาการให้สังเกตได้ เมื่อเป็นโรคเบาหวานแล้วไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี ก็จะส่งผลต่อหลอดเลือดทั่วร่างกาย ที่จะมีผล ต่อระบบประสาทส่วนปลาย ไต สายตา ทำให้เกิดอาการ ชาตามปลายมือปลายเท้า ไตวาย หรือสายตาฝ้าฟางได้ เป็นต้น เป็นเหมือนการเพิ่มเติมโรคหรือสั่งสมอันตรายให้แก่ตนเองมากขึ้นๆ จึงเกิดคำว่า โรคแห่งการสะสม ทำให้เป็นหลายๆ โรคโดยไม่จำเป็น และสามารถทุเลาหรือป้องกันได้ ถ้ามีการรักษาดูแล ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง
    
กินได้ นอนหลับ...สุขีกับโรคเรื้อรัง
โรคเรื้อรังส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานผิดปกติของ ร่างกาย ความเสื่อมของอวัยวะและเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดพยาธิสภาพ และแสดงอาการผิดปกติของโรคออกมาได้
แนวทางการดูแลรักษาโรคเรื้อรังเหล่านี้จะต้อง   เริ่มด้วยการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ลักษณะการดำเนินชีวิตและพฤติกรรม ซึ่งครอบคลุมถึงอาหาร การออกกำลังและอารมณ์ (ความเครียด) ตลอดจนการ    พักผ่อนที่เหมาะสมและพอเพียง เหมือนคำโบราณที่ได้กล่าวไว้ว่า "กินได้นอนหลับ" ก็นับว่า "สุขี" ซึ่งอาจจะไม่ได้กล่าวถึงการออกกำลังกายไว้ที่นี้ โดยอาจจะละไว้

เพราะว่าอดีตการทำมาหากินของคนไทยไม่ว่าจะทำไร่ ทำนา หรือทำสวน เรียกว่าได้ออกกำลังกายเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว บ้านเมืองเราจึงมีแต่ผู้คนที่เอื้ออาทร ยิ้มแย้มแจ่มใส จนชาวตะวันตกได้มาพบเห็น จึงขนานนามว่า "สยามเมืองยิ้ม"

ถ้ามีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและ/หรือสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม มักจะส่งผลช่วยบรรเทา อาการและความรุนแรงของโรคเรื้อรังได้อย่างดี เช่น
กินได้ ด้วยการกินอาหารในปริมาณและชนิดของอาหารอย่างเหมาะสม

นอนหลับ หมายถึง การรักษาสภาวะจิตใจให้สดชื่น แจ่มใส ไม่ขุ่นมัว ไม่กังวล หรือไม่เคร่งเครียด จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายและสภาวะจิตใจ ตลอดจนการทำงาน และการดำเนินชีวิตประจำวันได้

สุขี ด้วยการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลต่อร่างกาย ลดความเครียด และช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ของโรคเรื้อรังได้เป็นอย่างดี
นอกจากเรื่องอาหาร อารมณ์ และการออกกำลัง-กายแล้ว ยาเป็น ๑ ในปัจจัย ๔ ก็มีส่วนสำคัญในการช่วยควบคุมอาการของโรคเรื้อรังไม่ให้ลุกลามรุนแรงมากขึ้นๆ ซึ่งจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
    
การใช้ยารักษาโรคเรื้อรัง ควรใช้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอและถูกต้อง
ยาที่ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง มีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาอาการหรือควบคุมความรุนแรงของโรค      ไม่ให้มีอาการมากขึ้นและ/หรือลุกลามจนเกิดอันตราย   ได้
ดังนั้น เพื่อให้การใช้ยารักษาโรคเรื้อรังมีประสิทธิภาพ อย่างดีที่สุด พร้อมๆ กับเกิดความปลอดภัยจากการใช้ยานั้นๆ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องใช้ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอและถูกต้อง ตามคำสั่งของแพทย์
    
หลักการใช้ยารักษาโรคเรื้อรังให้ได้ผลดีและปลอดภัย
เพื่อให้การใช้ยาของผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้ผลดีและปลอดภัย ซึ่งตัวผู้ป่วยหรือผู้ดูแลผู้ป่วยที่ทำหน้าที่รับยาและเป็นผู้ที่ให้ยาควรปฏิบัติมี ๔ ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
๑. การตรวจรักษาจากแพทย์
๒. การรับยาที่ห้องยา
๓. การใช้ยา
๔. หลังจากใช้ยา

การตรวจรักษาจากแพทย์
การที่จะใช้ยาให้ได้ผลดีและปลอดภัย เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการรับการตรวจรักษาจากแพทย์ ซึ่งระหว่างนี้ แพทย์จะทำการซักประวัติความเจ็บป่วยพร้อมกับการตรวจร่างกาย และอาจจะมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ ตรวจเลือด เป็นต้น

เตรียมข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วย เล่าให้แพทย์ฟัง
สิ่งหนึ่งที่สำคัญนอกจากข้อมูลเกี่ยวกับความเจ็บป่วยในปัจจุบันที่แพทย์ซักถามค้นหาด้วยตัวแพทย์เองแล้ว ผู้ป่วยก็สามารถช่วยเหลือแพทย์ได้ด้วยการเตรียมข้อมูลสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยของตนเอง ทั้งอดีตและปัจจุบันให้พร้อมและเล่าให้แพทย์ฟัง ซึ่งรวมถึง เรื่องยา สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผู้ป่วยใช้เป็นประจำ ตลอดจนอาการแพ้ยา หรืออาการอันไม่พึงประสงค์ ผลข้างเคียงที่เกิดจากยา เพื่อแพทย์จะได้รับข้อมูลประกอบการเจ็บป่วยอย่างครบถ้วนส่งผลให้การวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และให้การรักษาด้วยยา และวิธีอื่นๆ ได้อย่างเหมาะสม

 แจ้งเรื่องยา สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นๆ ที่ท่านใช้อยู่ด้วย
กรณีที่มีการใช้ยาจากโรคอื่นๆ สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยอาจทำเป็น รายการ หรือนำตัวอย่างพร้อมบรรจุภัณฑ์ทุกชนิดไปแสดง ให้แพทย์ได้รับรู้ก่อนการวินิจฉัยโรคและให้การรักษา

บรรดายา สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิดอาจจะไปเสริมฤทธิ์ทำให้ผลของยาที่แพทย์จะจ่ายให้มีฤทธิ์มากขึ้น และอาจเกิดอันตรายได้ หรือตรงกันข้าม ยา สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิด ก็อาจจะไปต้านฤทธิ์ยาที่แพทย์จะจ่าย ทำให้ผลการรักษาที่ได้น้อยลง
 ขอให้แพทย์อธิบายเรื่องยาและการรักษาด้วย วิธีอื่นๆ อย่างละเอียด

เมื่อแพทย์ให้การรักษา รวมถึงการสั่งจ่ายยาให้กับผู้ป่วย โดยทั่วไปแพทย์จะบันทึกไว้ในใบสั่งยา ระบุชนิด จำนวน และวิธีใช้ยา
 ผู้ป่วยควรได้รับการอธิบายจากแพทย์ว่า มียาชนิดใดบ้างที่แพทย์สั่งจ่ายให้ ด้วยวัตถุประสงค์ใด มีวิธีการใช้อย่างไร และอาจจะเกิดผลต่อผู้ป่วยที่กินยาอย่างใดบ้าง คือทั้งผลดีและผลเสียของยาทั้งหมด 

การรับยาที่ห้องยา
เมื่อได้รับยาจากห้องยาแล้วผู้ป่วยจะต้องตรวจเช็กยาทั้งหมดที่ตนได้รับ ดังนี้
"ถูกคน" หรือไม่ ด้วยการตรวจชื่อผู้ป่วยที่ปรากฏ อยู่บนฉลากยาว่า ถูกต้องหรือไม่ เป็นของผู้ป่วยหรือไม่
"ถูกชนิด" หรือไม่ ตรวจชนิดของยา ชื่อยา ข้อบ่งใช้ และจำนวนยาที่ได้รับว่า ถูกต้องตรงกับอาการความเจ็บป่วยของผู้ป่วยหรือไม่ และเป็นไปตามคำอธิบายของแพทย์หรือไม่ ถ้าเป็นยาที่ต้องใช้อย่างต่อ เนื่อง และคำนวณดูว่าจำนวนเพียงพอถึงการนัดพบแพทย์ในครั้งต่อไปหรือไม่
"ถูกวิธีใช้" หรือไม่ อ่านและทำความเข้าใจวิธีการ ใช้ยาให้ชัดเจน ถ้ามียาใดที่ไม่เข้าใจหรือสงสัยวิธีใช้ยา จะต้องปรึกษาเภสัชกรผู้จ่ายยาจนเข้าใจดีก่อนกลับบ้าน
มี "ยาใหม่" หรือไม่ กรณีที่พบยาใหม่ ต้องตรวจเช็กว่าเป็นยาใหม่ตามคำอธิบายของแพทย์หรือไม่ ถ้าได้ รับยาใหม่โดยที่แพทย์ไม่เคยอธิบายให้ฟัง จะต้องปรึกษา เภสัชกรทันที เพราะอาจผิดพลาดและเกิดอันตรายได้
มี "ยาที่มีรูปแบบพิเศษ" หรือไม่? ถ้าได้รับยามีรูปลักษณ์แปลกใหม่ ไม่คุ้นเคย จะต้องปรึกษาเภสัชกรผู้จ่ายยา เพื่อขอคำแนะนำวิธีการใช้ยาและฝึกฝนให้   ถูกต้อง
"ผลข้างเคียงของยา" จะต้องสอบถามถึงผลข้างเคียงของยาที่พบบ่อยและอันตราย จะได้สังเกตหลังการใช้ยา และติดตามอาการเหล่านี้ เพื่อปฏิบัติตัวหรือหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวให้รบกวนการใช้ยาน้อยที่สุด หรือแจ้งต่อแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาถ้าผลเสียนั้นเป็นอันตรายมาก

ขั้นตอนการรับยาจากห้องยาเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ดังนั้น จะต้องตรวจเช็กยาที่ได้รับว่า ถูกคน ถูกยา ถูกวิธีใช้ มียาใหม่หรือไม่? ตลอดจนมีวิธีการใช้พิเศษหรือไม่? ผลข้างเคียงของยามีอะไรบ้าง หากสงสัยหรือไม่เข้าใจ จะต้องถามเภสัชกร เพื่อให้การใช้ยาได้ผลดี มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และคุ้มค่าต่อการใช้ยา
นอกจากนี้ จะต้องถามเภสัชกรถึงระยะเวลาการใช้ยา

ระยะเวลาที่เหมาะสมการใช้ยา
ระยะเวลาของการใช้ยาแบ่งได้เป็น ๓ แบบคือ
๑. การใช้ยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
 ยาที่ใช้ควบคุมอาการหรือความรุนแรงของโรคเรื้อรัง มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ยาออกฤทธิ์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และสามารถควบคุมอาการและความรุนแรงของโรคดังกล่าวได้อยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ระดับความรุนแรงของโรคลุกลามมากขึ้น อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงเป็นการใช้ยาเพื่อป้องกันอันตรายจากโรคเรื้อรัง จะต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ห้ามหยุดยาด้วยตัวเองหรือหยุดยาเมื่ออาการทุเลาลงแล้ว หรือไม่มีอาการแล้วก็ตาม (ยกเว้นกรณีที่มีอาการอันไม่พึงประสงค์อย่างรุนแรง จะต้องปรึกษาแพทย์ทันที)
๒. การใช้ยาเมื่อมีอาการเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ยาแก้ปวด ยานอนหลับ ยาระบาย ฯลฯ ยาเหล่านี้เป็นยาที่ใช้รักษาตามอาการ เพื่อบรรเทาอาการใดอาการหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมโรคเรื้อรัง จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ เมื่อใดที่อาการดีขึ้นแล้ว ก็หยุดยาได้ เมื่อใดที่เริ่มมีอาการอีกจึงจะต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น
๓. การใช้ยาติดต่อกันจนหมด ยาเหล่านี้มักจะมีฤทธิ์ต้านเชื้อโรค ใช้รักษาโรคติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือไวรัส ฯลฯ ซึ่งควรใช้ติดต่อกันจนหมดตามจำนวนที่แพทย์สั่ง เมื่อครบแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ต่อไปอีก เพราะยาเหล่านี้จะมีฤทธิ์ต้านเชื้อโรค เมื่อเชื้อหมดแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้อีก

การใช้ยา
เมื่อกลับไปบ้านและจะต้องเริ่มใช้ยา จะต้องอ่านฉลากและวิธีใช้ทุกครั้ง ว่าใช้ครั้งละเท่าใด วันละกี่ครั้ง เวลาใด และใช้ให้ถูกต้อง ตรงตามคำสั่งแพทย์ หรือเภสัชกร และสังเกตลักษณะของยาว่ายังเหมือนเดิมหรือไม่ ก่อนการใช้ยา

หลังจากใช้ยา
ขั้นตอนหลังจากใช้ยา ผู้ป่วยจะต้องติดตามผลการ รักษาและหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้ยา ถ้ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ขอให้ติดต่อกับ   ผู้สั่งจ่ายยาโดยทันที เพื่อแจ้งให้ผู้สั่งจ่ายทราบและให้คำปรึกษาเพื่อการดูแลอาการผิดปกตินั้น

จะเห็นได้ว่าโรคเรื้อรังเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ควรดูแลรักษาตามแพทย์แนะนำ เพราะถ้าไม่ดูแลตนเองให้ดี อาจทำให้โรคลุกลามเป็นหนักยิ่งขึ้น และเกิดโรคแทรกซ้อนทำให้เป็นโรคอื่นเพิ่มเติม เกิด "โรคแห่งการสะสม"

หากมีข้อสงสัยในเรื่องยาและสุขภาพ อย่านิ่ง นอนใจ ควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือเภสัชกรชุมชนที่ประจำอยู่ที่ร้านยาได้ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อให้การใช้ยาได้ผลดี และปลอดภัยจากการใช้ยา 

 

 


 

ข้อมูลสื่อ

342-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 342
ตุลาคม 2550
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด