สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. ค้นพบ "มหาพรหมราชินี" พรรณไม้ในสกุลมหาพรหมชนิดใหม่ของโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗
นอกจากนี้ ได้ทำการศึกษาวิจัย การขยายพันธุ์มหาพรหมราชินี โดยได้นำต้นกล้ามาทดลองปลูก ณ พื้นที่ราบต่ำภาคกลางและมีอุณหภูมิสูง โดยเฉพาะอย่างในกรุงเทพฯ ผลปรากฏว่า ต้นสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้เป็นอย่างดี และมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี และขณะนี้เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ต้นมหาพรหมราชินีซึ่งปลูก ณ แปลงทดลอง วว. เทคโนธานี คลอง ๕ จ.ปทุมธานี มีดอกบานเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ได้ทำการปลูกในพื้นที่ภาคกลาง จึงนับเป็นการบานของดอกมหาพรหมราชินีนอกถิ่นกำเนิดเป็นครั้งแรก
มหาพรหมราชินี เป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่น (endemic) ที่อยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น มีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณที่แคบของยอดเขาสูงชันที่ระดับความสูง ๑,๑๐๐ เมตร ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลักษณะของต้นเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๔-๖ เมตร ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๘ เซนติเมตร เปลือกลำต้นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีขนอ่อนคลุมอยู่ ใบรูปหอก กว้าง ๔-๙ เซนติเมตร ยาว ๑๑-๑๙ เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบเรียบเป็นมันทั้งสองด้าน โคนใบและปลายใบแหลม มีเส้นแขนงใบจำนวน ๘-๑๑ คู่
ดอก มีลักษณะเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ ๑-๓ ดอกใกล้ปลายยอด เป็นพรรณไม้ที่มีดอกใหญ่ที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับดอกของพรรณไม้ชนิดอื่นๆ ในสกุลมหาพรหม คือ เมื่อบานเต็มที่ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๐ เซนติเมตร โคนกลีบสีเขียวอ่อน ปลายกลีบสีม่วงเข้ม กระดกงอขึ้นและประกบติดกันเป็นรูปกระเช้า แต่ละดอกบานอยู่ได้ ๓-๕ วัน กลิ่นหอมอ่อนๆ มีฤดูดอกบานเต็มต้นในช่วงเดือนพฤษภาคม
ส่วนผล เป็นผลกลุ่ม มีผลย่อย ๑๐-๑๕ ผล รูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๒-๒.๔ เซนติเมตร มีขนอ่อนปกคลุมหนาแน่น มีผลแก่ในช่วงเดือนตุลาคม
อนึ่ง วว. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย เป็นชื่อพืชชนิดใหม่ว่า Mitrephora siriketiae Weerassoriya, Chalermglin & M.K.R. Saunders
- อ่าน 9,342 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้