บุหรงช้าง...พรรณไม้ในสกุลบุหรงชนิดใหม่ของโลก ค้นพบโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พร้อมต่อยอดงานวิจัยด้านขยายพันธุ์ และหาแนวทางการใช้ประโยชน์ทางเภสัชกรรม เพื่ออนุรักษ์พรรณไม้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ได้มีการตรวจสอบการตั้งชื่อ "บุหรงช้าง" และนำไปตีพิมพ์รายงานในวารสาร Systematic Botany ปีที่ ๓๔ ฉบับที่ ๒ หน้า ๒๕๒-๒๖๕ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๒ โดยวารสารดังกล่าวเป็นวารสารการจำแนกพรรณไม้นานาชาติที่ออกในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้นแบบตัวอย่างแห้ง (Type specimen) ของบุหรงช้างเก็บไว้ที่หอพรรณไม้ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (BKF) นับเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย
บุหรงช้าง มีชื่อวิทยาศาสตร์ Dasymaschalon grandiflorum Jing Wang, Chalermglin & R.M.K. Saunders สำรวจพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔ ในป่าดิบชื้นของอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ที่ระดับความสูง ๓๐๐-๕๐๐ เมตร
ลักษณะพิเศษของบุหรงช้าง คือ เป็นบุหรงเพียงชนิดเดียวที่เป็นเถาเลื้อย (บุหรงชนิดอื่นทั้งหมดเป็นไม้พุ่ม) มีดอกและผลขนาดใหญ่ที่สุดในสกุลบุหรง เถาเลื้อยไปได้ไกลถึง ๑๕ เมตร เถามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕ เซนติเมตร
แผ่นใบรูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๖-๘ เซนติเมตร ยาว ๑๕-๒๐ เซนติเมตร
เนื้อใบหนา เรียบ ด้านบนใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างมีนวลแป้งสีขาวเคลือบ มีเส้นแขนงใบ ๑๑-๑๖ คู่ ก้านใบยาว ๑-๑.๕ เซนติเมตร
ดอกออกตามเถาแก่ ก้านดอกยาว ๘.๕ เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมี ๓ กลีบแยกจากกัน รูปกลมขนาด ๖-๗.๕ มิลลิเมตร
กลีบดอก ๓ กลีบ กว้าง ๓.๕ เซนติเมตร ยาว ๑๗ เซนติเมตร ขอบกลีบบรรจบกันเป็นแท่งสามเหลี่ยมคล้ายเหล็กขูดชาร์ฟ ตอนปลายกลีบบิดเป็นเกลียว
ผลกลุ่ม ก้านผลรวมยาว ๘-๑๐ เซนติเมตร มีผลย่อย ๕-๑๐ ผล แต่ละผลรูปทรงกระบอกยาว ๓-๖ เซนติเมตร เมื่อแก่มีสีแดงเข้ม มี ๓-๖ เมล็ด ผลมีรอยคอดตามเมล็ด แต่ละเมล็ดกลม สีเหลืองอ่อน
ออกดอกบานในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ผลแก่ในเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โทร. ๐ ๒๕๗๗ ๙๐๐๐ โทรสาร ๐ ๒๕๗๗ ๙๐๐๙
- อ่าน 4,086 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้