• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ

นพ.ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล
ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ
มองจากทัศนะแพทย์แผนจีน (๔)

ระบบการย่อย การดูดซึมอาหารไม่มีระเบียบ ไร้กฎเกณฑ์ เกิดจากการกินอาหารจุบจิบ ตามอารมณ์
ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงความเป็นมาและแนวคิดของแพทย์แผนจีนทางด้านโภชนบำบัดมาโดยสังเขป ต่อไปนี้จะนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับอาหารและอาหารสุขภาพของแพทย์ตามแนวคิดตะวันตก ซึ่งพัฒนาจากการศึกษาวิจัย ประมาณ ๖๐-๗๐ ปีที่ผ่านมา โดยศึกษาประเด็นต่างๆ ดังนี้
๑. สารอาหารเป็นส่วนประกอบของโครงสร้างต่างๆ ของร่างกาย ทำให้สามารถเข้าใจโครงสร้างชีวโมเลกุลของเซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆ ได้ จึงจัดสารอาหารเป็นหมวดหมู่ เช่น คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน เกลือแร่ วิตามิน เป็นต้น
๒. ความจำเป็นของสารอาหารที่เข้าไปมีส่วนสำคัญในกระบวนการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น เอนไซม์ ฮอร์โมน สารคัดหลั่งต่างๆ ล้วนมีโครงสร้างหรือส่วนประกอบของสารอาหารทั้งสิ้น
๓. กลไกการเมแทบอลิซึมระดับเซลล์หรือในกระบวนการเผาผลาญให้ได้พลังงานและการกำจัดทิ้งของเสีย ก็อาศัยสารอาหารต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงเข้าเกี่ยวข้อง
๔. มีความก้าวหน้าในการศึกษาสารอื่นๆ ที่ไม่ใช่สารอาหารแต่อยู่ในอาหาร และมีฤทธิ์เป็นยา มีบทบาทในการปรับสมดุลของร่างกาย หรือป้องกันการเกิดโรค (แนวคิดนี้เริ่มสอดคล้องกับแพทย์แผนจีนที่ว่าอาหารและยามาจากแหล่งเดียวกัน อาหารก็คือยา)
๕. ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตการผสมผสาน สารอาหารแบบแผนปัจจุบันกับสารที่ไม่ใช่อาหารแต่มีฤทธิ์ทางยา รวมถึงสารสกัดสมุนไพร เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในการป้องกันโรคหรือพยายามใช้อาหารธรรมชาติเป็นยาในการรักษาโรคเพื่อทดแทนหรือ       ลดปริมาณการใช้ยาเคมี (ซึ่งมีฤทธิ์ตกค้างและผลแทรกซ้อนมากมาย)

แนวคิดอาหารสุขภาพในทัศนะแพทย์แผนปัจจุบัน
๑. อาหารหลัก ๖ หมู่
ความรู้เรื่องอาหารหลัก ๖ หมู่ ได้แก่ คาร์โบ-ไฮเดรต ไขมัน โปรตีน เกลือแร่ วิตามิน และน้ำ (บ้างจัดเป็น ๕ หมู่ไม่รวมน้ำ บ้างจัดเป็น ๗ หมู่) รวมถึง     กากใยอาหาร (ไฟเบอร์) ความรู้เหล่านี้เป็นผลจากการศึกษาวิจัยเมื่อ ๖๐-๗๐ ปีก่อนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ร่างกายต้องการอาหารบางอย่างที่ให้พลังงานเพื่อการดำรงชีวิต เพื่อการทำงานของระบบต่างๆ และการเจริญเติบโต สารอาหารที่ต้องการปริมาณมาก เรียกว่า macronutrients ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน

สารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกายอย่างมาก แต่ต้องการปริมาณที่น้อย มีบทบาทสำคัญในการช่วยควบคุมและมีส่วนร่วมให้ปฏิกิริยาทางเคมีของร่างกาย เรียกว่า micronutrients ได้แก่ วิตามินและเกลือแร่

ส่วนน้ำ เป็นสารประกอบสำคัญของร่างกาย คือร่างกายผู้ใหญ่ มีน้ำเป็นส่วนประกอบประมาณร้อยละ ๖๐ ของน้ำหนักตัว ถ้าร่างกายสูญเสียน้ำไป ร้อยละ ๑๐ จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และถ้าสูญเสียน้ำไปร้อยละ ๒๐ จะทำให้เสียชีวิตได้

น้ำจึงเป็นตัวกลางของการดำรงชีวิต นอกจากเป็นส่วนประกอบของเซลล์แล้ว ระบบเลือด ระบบน้ำเหลือง ระบบการย่อยอาหาร ระบบการขับถ่ายของเสีย การควบคุมอุณหภูมิ การลำเลียงอาหาร ก็ล้วนต้องอาศัยน้ำเข้าเกี่ยวข้องด้วย

 ไฟเบอร์ (กากใยอาหาร) เป็นส่วนของพืชที่ไม่สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ แต่เดิมไม่จัดเป็นสารอาหาร เพราะไม่ให้พลังงานแก่ร่างกาย  และไม่มีบทบาทต่อการทำงานของปฏิกิริยาชีวเคมีในร่างกายโดยตรง แต่ปัจจุบันพบว่า ไฟเบอร์มีบทบาทสำคัญมากต่อการมีสุขภาพที่ดี

หน้าที่หลักคือ การช่วยทำให้การขับของเสียจากตับที่ออกมาสู่ลำไส้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ช่วยควบคุมการดูดซึมอาหาร ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด    
ช่วยกันดูดซับกรดน้ำดี ทำให้สามารถควบคุมระดับ     คอเลสเทอรอลในเลือด เป็นต้น

การกินอาหารที่มีกากใยอาหารน้อย จะทำให้มีความผิดปกติของทางเดินอาหาร เกิดอาการท้องผูก และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น
การศึกษาวิจัยต่อเนื่องหลังปี พ.ศ.๒๕๒๓ ทางการแพทย์พบว่าความสัมพันธ์ของอาหารกับโรคต่างๆ ที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคโลกาภิวัตน์ เช่น โรคภาวะหลอดเลือดเสื่อม ทำให้เกิดโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความเสื่อมชรา เป็นต้น

๒. อาหารเสริม หรืออาหารสุขภาพ
อาหารเสริม บางคนใช้ศัพท์ diet supplement
อาหารสุขภาพ บางคนใช้ศัพท์ junctional food
อาหารเสริมหรืออาหารสุขภาพคือ อาหารที่ประกอบด้วยสารก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย นอกเหนือจากอาหารหลักทั้ง ๖ ประเภทที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยป้องกันและลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ

ความเชื่อเรื่องอาหารเสริมสุขภาพ พัฒนามาจากความรู้ทางโภชนาการ ร่วมกับเทคโนโลยีอาหาร ความรู้สุขภาพและการแพทย์สมัยใหม่ หรือการผสมผสานการศึกษาวิจัยการแพทย์แบบภูมิปัญญา ผสมผสานกันทำให้เกิดการดัดแปลง ปรุงแต่ง ทำให้ได้สารอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการสูง กลายเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ง่าย สะดวกต่อการกิน และกลายเป็นทางเลือกหนึ่งของการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรค อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเรื่องอาหารเสริม ยังไม่เป็นที่ยอมรับของแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งเป็นกระแสหลักของสังคมไทยที่ยึดกับความเชื่อเรื่องอาหารหลัก ๖ หมู่เป็นสำคัญ

๓. อาหารที่มีหน้าที่เป็นยา (โภชนเภสัชภัณฑ์)
ศัพท์ฝรั่งเรียกอาหารที่ทำหน้าที่เป็นยาว่า nutraceutical มาจากคำว่า nutritional หมายถึงโภชนาการ กับคำว่า pharmaceutical หมายถึงยา บางท่านใช้ราก-ศัพท์มาตั้งชื่อเป็นโภชนเภสัชภัณฑ์ ซึ่งยังไม่ใช่ชื่อที่บัญญัติเป็นทางการ
      
อาหารที่มีหน้าที่เป็นยาเป็นสารสกัดจากพืชสมุน-ไพรหรือผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ รวมถึงสารอาหารหลัก ตัวอย่างเช่น
๑. สารสกัดจากพืชและสมุนไพรที่ไม่ใช่สารอาหารหลักกลุ่มไฟโทเคมิคอล (phytochemicals)
- ไฟโทเอสโทรเจน ฟลาโวนอยด์
- โพรไบโอติด พรีไบโอติก
- กลุ่มไกลโคไซด์
- แคโรทีนอยด์ เป็นสารธรรมชาติที่พบในพืชผักผลไม้ สีส้ม เหลือง แดง
๒. กลุ่มอาหารที่มีหน้าที่เป็นยาที่สกัดจากสาร อาหารหลัก เช่น วิตามินซี วิตามินอี บีตาแคโรทีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก ซิลิคอน โบรอน ไฟเบอร์ ซีลีเนียม เป็นต้น
จากข้อมูลต่างๆ และแนวโน้มของการเกิดโรคสมัยใหม่ พบว่าสาเหตุสำคัญอันหนึ่งคือ ความเสียสมดุล ในการกินอาหารโดยเฉพาะสังคมเมือง (ปัจจุบันลุกลาม ไปชนบท ที่โลกาภิวัตน์ย่างกรายไปถึง)

 แนวโน้มการกินอาหารที่หนักไปทางไขมัน น้ำตาล แป้ง และเกลือ (ความเค็ม)  (ซึ่งดูได้จากอาหารแบบตะวันตก รวมถึงของขบเคี้ยวที่เป็นแป้ง เค็ม มีสารปรุงแต่งรสจำนวนมาก) ทำให้ได้รับสารเคมีหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย เกิดความเสียสมดุลทางโภชนาการ ขาดวิตามิน เกลือแร่ ไฟเบอร์ ก่อให้เกิดการสะสมไขมัน เกิดการสะสมสารพิษ เกิดอนุมูลอิสระ เกิดความเสื่อมของหลอดเลือดและระบบต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุของความเสื่อมชรา โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง นี้ยังไม่รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น น้ำ เครื่อง-ดื่ม อากาศ ความเครียด การพักผ่อน การออกกำลังกาย  ซึ่งล้วนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ก่อให้เกิดการเสียสมดุลของร่างกายทั้งสิ้น ด้วยการศึกษาวิจัย และเทคโนโลยีทางอาหารในการแยกส่วนหรือสกัดสารที่ไม่ใช่อาหารหลัก (หรือที่เรียกว่าไฟโทเคมิคอล) แต่เป็นสารชีวเคมีของสิ่งมีชีวิตที่มีบทบาทในการปรับสมดุล และมีฤทธิ์ทางยาด้วย

ความพยายามผลิตอาหารเสริมสุขภาพ หรืออาหารที่มีหน้าที่เป็นยา โดยถือหลักเติมเต็มสิ่งที่ขาดไปในวิถีชีวิตของโลกาภิวัตน์ แล้วยังเติมสารสกัดธรรมชาติ ที่เชื่อว่าจะช่วยขจัดและป้องกันความเสื่อมของเซลล์ร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มขจัดอนุมูลอิสระ กลุ่มต้านมะเร็ง กลุ่มป้องกันการเสื่อมของหลอดเลือด กลุ่มควบคุม     การเผาผลาญน้ำตาลและไขมัน มาจากอาหาร หรือพืชสมุนไพรที่เป็นภูมิปัญญาสั่งสมกันมานาน
(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

342-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 342
ตุลาคม 2550
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล