• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การดูแลสุขภาพดวงตา

การดูแลสุขภาพตา

ดวงตาเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมากของมนุษย์ ในการเป็นประตูเปิดทางติดต่อสื่อสารกับผู้คนและสิ่งแวดล้อม ทำให้เราได้เพลิดเพลินกับความบันเทิงต่างๆ การท่องเที่ยว รวมถึงการศึกษาหาความรู้ต่างๆ ดังนั้น บทความต่อไปนี้ จึงเป็นการรวบรวมความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ในการรักษาสุขภาพดวงตาของเราในกรณีต่างๆ

เด็ก
        เด็กแม้ยังตัวเล็ก ก็อาจมีปัญหาทางตาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ได้ เช่น โรคต้อกระจก ต้อหิน สายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง เป็นต้น ดังนั้น กรณีต่อไปนี้อาจต้องสงสัยว่าเด็กจะมีปัญหาเรื่องการมองเห็น เช่น        
- เด็กอายุ ๒-๓ เดือนขึ้นไป ยังไม่มองหน้าแม่ หรือไม่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม คล้ายมองไม่เห็น
- เด็กในวัยเข้าเรียนที่ดูหนังสือหรือโทรทัศน์ใกล้มากผิดปกติ เอียงคอมอง หยีตามอง กะพริบตาบ่อย อาจมีปัญหาทางสายตาสั้น ยาว เอียง หรือสาเหตุอื่น ก็ควรพาไปพบจักษุแพทย์

ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำ


        จะมีปัญหาเรื่องปวดเมื่อยล้าตา หรือแสบเคืองตาจากอาการตาแห้งได้  ดังนั้น
       ๑. ควรพักสายตาโดยทำอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องมองใกล้ (๑-๒ ฟุต) ประมาณ ๕-๑๐ นาทีต่อการทำงานคอมพิวเตอร์ ๑ ชั่วโมง เพื่อลดการเพ่งของสายตาบ้าง จะช่วยคลายการปวดเมื่อยล้าตาได้
       ๒. ด้านหลังจอคอมพิวเตอร์ไม่ควรมีแสงสว่างมาก เพราะจะรบกวนการมองจอคอมพิวเตอร์ เช่นไม่ควรตรงกับหน้าต่าง
       ๓. ศีรษะของเราควรอยู่สูงกว่าจอคอมพิวเตอร์เล็กน้อย จะได้ไม่ต้องเงยหน้ามองคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้เมื่อยล้าง่าย
       ๔. ถ้ามีอาการตาแห้ง เช่น แสบเคืองตา ให้กะพริบบ่อยขึ้นเพื่อกวาดน้ำตามาเคลือบผิวตา หรือพักการใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะ ถ้ายังมีอาการมาก การใช้น้ำตาเทียมหยอดตาจะช่วยบรรเทาอาการได้
       ๕. อาจมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของสายตาก็ได้ที่ทำให้ปวดเมื่อยล้าตาง่าย เช่น คนสายตาเอียง หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า ๔๐ ปีขึ้นไป ซึ่งจะมีปัญหาเวลามองใกล้ การใส่แว่นตาจะช่วยแก้ปัญหาได้

การตรวจสุขภาพตา


       ๑. ผู้มีอายุ ๔๐ ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดความดันลูกตาอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อตรวจหาต้อหิน โดยเฉพาะผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นต้อหิน เพราะบางคนอาจเป็นต้อหินได้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งถ้าปล่อยไว้โดยไม่ได้รักษาเป็นเวลานานจะทำให้สายตาเสื่อมลงหรือบอดได้ และไม่สามารถรักษาให้สายตากลับมามองเห็นได้      
      ๒. ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน ควรตรวจจอประสาทตาเพื่อดูว่ามีเบาหวานขึ้นตาหรือไม่ อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง ตั้งแต่พบว่าเป็นเบาหวาน ยกเว้นในผู้ที่เป็นเบาหวานตั้งแต่อายุน้อยกว่า ๓๐ ปี ถ้าไม่มีตามัวลงผิดปกติ อาจรอ ๕ ปี ค่อยเริ่มตรวจเป็นประจำปีละครั้งก็ได้ ถ้าจักษุแพทย์พบมีเบาหวานขึ้นตา การยิงเลเซอร์ที่จอประสาทตาอาจจะช่วยให้ในระยะยาวมีสายตาที่ดีกว่าผู้ที่ไม่ได้ยิงเลเซอร์ แต่ไม่ได้ทำให้สายตาเห็นชัดขึ้น
ที่สำคัญคือควรรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับปกติอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานขึ้นตาได้ดี

อุบัติเหตุกับดวงตา
การป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับดวงตา เช่น
•    การคาดเข็มขัดนิรภัยเวลาขับรถ ไม่ขับรถเวลาเมาหรือง่วงนอน เพราะในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ใบหน้าอาจกระแทกกับกระจกหน้ารถทำให้ตาบอดทั้งสองข้างได้
•    การหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด ลม ฝุ่น อาจโดยการใส่แว่นกันแดดกันลมบ้าง
•    การใส่แว่นตาป้องกันเวลาทำงานที่อาจมีวัตถุแปลกปลอมกระเด็นเข้าตา เช่น การตอกตะปู การใช้รถตัดหญ้า การเจียรเหล็ก เป็นต้น
•    การใช้แว่นตาป้องกันแสงรังสีขณะเชื่อมเหล็ก จะช่วยป้องกันกระจกตาอักเสบจากรังสีอัลตราไวโอเล็ตได้
•    ในเด็กควรระวังการเล่นกับไก่หรือนกที่อาจจิกกระจกตาแตกได้ รวมทั้งการเล่นกับสุนัข อาจถูกสุนัขกัดบริเวณเปลือกตาและท่อน้ำตาขาดได้
•    ถ้ามีน้ำยาหรือสารเคมีเข้าตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดใกล้ตัว (เช่น น้ำประปา) เพื่อลดปริมาณสารเคมีในตาลงบ้างจะช่วยลดความรุนแรงได้ดีขึ้น

อันตรายจากยาหยอดตา
•    ถ้าซื้อยาหยอดตาเองตามร้านขายยา ต้องระวัง เพราะถ้าได้ยาบางประเภท เช่น ยาสเตียรอยด์ ถ้าใช้หยอดตาไม่ถูกวิธีหรือหยอดเป็นเวลานาน อาจทำให้มีการติดเชื้อแทรกซ้อนที่ตา หรือทำให้เป็นต้อกระจกเเละต้อหินได้


•    ยาน้ำหยอดหูบางชนิดที่เขียนให้หยอดตาร่วมด้วย อาจนำมาใช้หยอดตาได้ แต่ถ้าระบุไว้เป็นเฉพาะยาหยอดหู ห้ามนำมาใช้หยอดตา เพราะอาจเป็นอันตรายต่อดวงตาได้

สอบถามปัญหาสุขภาพตากับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
ที่เว็บไซต์ www.rcopt.org
 

ข้อมูลสื่อ

382-026
นิตยสารหมอชาวบ้าน 382
กุมภาพันธ์ 2554
นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์