แตงโม Citrullus lanatus (Thunb.) Matsum & Nakai เป็นพืชวงศ์แตง Cucurbitaceae ภาคอีสานเรียกบักโม ภาคเหนือเรียกบะเต้า คนตรังเรียกแตงจีน มีชื่อสามัญว่า Watermelon แปลว่า "แตงน้ำ" เพราะในผลแตงโมมีน้ำเป็นส่วนใหญ่
แตงโมมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกาแถบทะเลทรายคาลาฮารี ในทวีปดังกล่าวมีแตงโมขึ้นเองตามธรรมชาติ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด มีทั้งพันธุ์ที่เนื้อผลมีรสหวาน จืด และรสขม
ชาวอียิปต์เป็นชาติแรกที่ปลูกแตงโมไว้กินเมื่อ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ประเทศจีนปลูกแตงโมคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ และปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ปลูกแตงโมมากที่สุดในโลก
คริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ พบบันทึกการนำแตงโมเข้าสู่ทวีปยุโรปโดยผู้รุกรานชาวมัวร์ และถูกนำเข้าสู่ทวีปอเมริกาเหนือโดยทาสผิวดำที่ถูกนำไปใช้แรงงานในไร่ในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕
แตงโมเป็นไม้เถาอยู่ในวงศ์เดียวกับแตงกวา ลำต้นเป็นเถาเลื้อยแผ่ไปตามพื้นดิน ใบมีลักษณะเว้าลึก ๓-๔ หยัก ก้านใบยาว ทั้งเถาและใบมีขนอ่อนปกคลุม ผลพัฒนาจากรังไข่
ผลแตงโมมีทั้งแบบกลม กลมรี และทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางผล ๑๕-๒๐ เซนติเมตร เปลือกแข็ง สีเขียว สีเขียวเข้ม และสีเหลือง บ้างก็มีลวดลายสีขาวเป็นแถบยาวจากขั้วถึงปลายผล รสชาติของเนื้อผลคือฉ่ำน้ำและหวานกรอบ ในเนื้อมีเมล็ดสีดำขนาดเล็กแทรกอยู่บริเวณใจกลางผล
แตงโมที่มีการปลูกในปัจจุบันแบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ ตามลักษณะของผลและเมล็ด ได้แก่ พันธุ์ธรรมดา พันธุ์ไม่มีเมล็ด และพันธุ์กินเมล็ดที่นำไปผลิตเป็นเม็ดก๊วยจี๊นั่นเอง
คุณค่าทางโภชนาการ
แตงโม เนื้อผล (กินได้) คุณค่าทางโภชนาการต่อ ๑๐๐ กรัม
------------------------------------------------------------------------------------------------------
พลังงาน ๓๐ กิโลแคลอรี
คาร์โบไฮเดรต ๗.๕๕ กรัม
น้ำตาล ๖.๒๐ กรัม
เส้นใยอาหาร ๐.๔๐ กรัม
ไขมัน ๐.๑๕ กรัม
โปรตีน ๐.๖๑ กรัม
น้ำ ๙๑.๔๕ กรัม
วิตามินเอ (เทียบเท่า) ๒๘ μg (๓%)
วิตามินบี ๑ (ไทอะมีน) ๐.๐๓๓ มิลลิกรัม (๓%)
วิตามินบี ๒ (ไรโบฟลาวิน) ๐.๐๒๑ มิลลิกรัม (๑%)
วิตามินบี ๓ (ไนอะซิน) ๐.๑๗๘ มิลลิกรัม (๑%)
วิตามินบี ๕ (กรดแพนโทเทนิก) ๐.๒๒๑ มิลลิกรัม (๔%)
วิตามินบี ๖ ๐.๐๔๕ มิลลิกรัม (๓%)
วิตามินบี ๙ (โฟเลต) ๓ μg (๑%)
วิตามินซี ๘.๑๐ มิลลิกรัม (๑๔%)
แคลเซียม ๗ มิลลิกรัม (๑%)
เหล็ก ๐.๒๔ มิลลิกรัม (๒%)
แมกนีเซียม ๑๐ มิลลิกรัม (๓%)
ฟอสฟอรัส ๑๑ มิลลิกรัม (๒%)
โพแทสเซียม ๑๑๒ มิลลิกรัม (๒%)
สังกะสี ๐.๑๐ มิลลิกรัม (๑%)
ร้อยละเมื่อเทียบกับปริมาณแนะนำของสหรัฐอเมริกาที่ผู้ใหญ่ควรกินใน ๑ วัน
แหล่งข้อมูล : USDA Nutrient database
แตงโมเป็นผลไม้ที่มีพลังงานต่ำ แตงโมมีน้ำตาลทั้งหมดร้อยละ ๖.๘๑-๙.๓๖ โดยมีน้ำตาลฟรักโทสร้อยละ ๓-๔ น้ำตาลกลูโคสร้อยละ ๑-๓ และน้ำตาลซูโคสร้อยละ ๒-๕ เมื่อกินแตงโมจะได้น้ำถึงร้อยละ ๙๒ มีวิตามินซี บีตาแคโรทีน ไลโคพีน และแร่ธาตุอื่น
ทั่วโลกกินเนื้อแตงโมเป็นผลไม้ มีฤทธิ์ขับปัสสาวะอย่างอ่อน แต่ในประเทศไทยพบการกินแตงโมเป็นผักในอาหารมื้อหลักด้วย
ในอดีตคุณยายของผู้เขียนจะกินปลาแห้งแตงโมกับข้าวสวย เป็นปลาช่อนแห้งผัดหอมเจียวเคล้าน้ำตาลขลุกขลิก ตักข้าว ๑ ช้อนโรยผัดปลาแห้ง แกล้มแตงโมแดงเข้มเต็มคำ เมื่อเคี้ยวมีน้ำแตงโมเคล้าข้าวปลาแห้งหวานหอม...
ไม่ลองไม่รู้ค่ะสุดยอดคนโบราณสรรหามากินจริงๆ ไม่ทราบคิดได้อย่างไร เสียดายปัจจุบันแทบไม่เห็นอาหารนี้แล้ว อยากกินแต่ทำไม่เป็น...
นับเป็นอาหารผู้สูงอายุที่ชาญฉลาดเพราะน้ำแตงโมมีคุณสมบัติเพิ่มความอยากอาหาร เมนูนี้เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย ปลาแห้งผัดเก็บได้นานไม่ต้องอาศัยตู้เย็น และได้โปรตีนจากเนื้อปลาแห้งอีกด้วย
เปลือกผลกินได้ มีธาตุอาหารซ่อนไว้มากแต่ในทวีปอเมริกาเหนือไม่มีวัฒนธรรมการกินเปลือกแตงโม ที่ไม่กินเพราะเปลือกแตงโมปราศจากรสชาติ
ในประเทศไทยมีการปอกผิวเปลือกแตงโมสีเขียวเข้มออก เอาเปลือกด้านในมาประกอบอาหารกับเครืองปรุงมีรส เช่น แกงส้ม
บางประเทศกินเป็นผัก แต่ที่จีนนำเปลือกแตงโมที่ฝานผิวนอกออกแล้วมาปรุงเป็นผัดผักกับกระเทียม พริก ต้นหอม น้ำตาลและเหล้าขาว ต้มพะโล้ หรือดองเก็บไว้กิน เปลือกแตงโมดองนี้มีกินกันในหมู่ชนหลายวัฒนธรรม เช่น รัสเซีย โรมาเนีย บัลแกเรีย ยูเครน และตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาบางแห่ง
น้ำแตงโมมีการดื่มกันมากในประเทศแถบคาบสมุทรบอลข่าน บ้างนำน้ำแตงโมมาหมักเป็นไวน์
ทางเหนือของประเทศไทยนำน้ำแตงโมมาผลิตเป็นขนมขบเคี้ยวเรียกข้าวแต๋นน้ำแตงโม
เมล็ดแตงโมตากแห้งคั่วกินได้ เท่าที่ทราบมีกินในจีน เวียดนาม และไทย
ความรู้อายุรเวทจากอินเดียกล่าวว่า เนื้อแตงโมเสริมธาตุไฟและธาตุน้ำ มีคุณสมบัติช่วยเจริญอาหาร เพิ่มกากอาหารเพื่อการขับถ่ายที่ดี แก้อาการกระหายน้ำ ลดไข้และระบายความร้อนในร่างกาย บำรุงไตและม้าม มีฤทธิ์ขับปัสสาวะอย่างอ่อนลดการเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
ส่วนการแพทย์แผนจีนใช้เปลือกแตงโมและเปลือกฟักเขียวอย่างละ ๓๐ กรัม ต้มน้ำดื่มวันละ ๓ ครั้งในการควบคุมอาการผู้ป่วยเบาหวาน
แตงโมมีกรดอะมิโนซิทรูลีน พบมากในส่วนที่เป็นเปลือก กรดอะมิโนนี้กระตุ้นการสร้างไนตริกออกไซด์ผ่านการแปรสภาพเป็นกรดอะมิโนอาร์จีนีน สารไนตริกออกไซด์ช่วยเสริมการทำงานของเซลล์เอนโดทีเลี่ยมที่บุหลอดเลือด มีฤทธิ์ช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดอ่อนนิ่ม คล้ายกับฤทธิ์ของยาไวอากร้า
งานวิจัยจากเยอรมนีพบว่า การกินกรดอะมิโนซิทรูลีนดีกว่าการกินกรดอะมิโนอาร์จีนีนเพราะไปแปรสภาพเป็นกรดอะมิโนอาร์จีนีนหลังการดูดซึม จึงไปเพิ่มปริมาณไนตริกออกไซด์ได้โดยตรงโดยไม่มีการสูญเสียไปโดยการขับออกของเอนไซม์อาร์จีเนสในลำไส้เล็ก
ดังนั้น การกินแตงโมและเปลือกแตงโมมีส่วนช่วยสุขภาพทางเพศในเพศชาย บ้างเชื่อว่าเปลือกแตงโมกระตุ้นกำหนัดได้ด้วย
เมล็ดแตงโมมีโปรตีนสูง ช่วยบำรุงร่างกาย ปอด สมอง แต่ควรจำกัดปริมาณการกินถ้าเมล็ดแตงโมมีความเค็มสูง
แตงโมเป็นผลไม้พลังงานต่ำ คุณค่าสูง ราคาประหยัดที่หากินได้ทั้งปี ลองกินเนื้อแตงโมและนำเปลือกมาประกอบอาหารดูบ้างนะคะเพื่อสุขภาพของหลอดเลือดค่ะ
- อ่าน 14,026 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้