• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แมมโมแกรม

แมมโมแกรม
ถาม : ปนัดดา/ระยอง
หมอชาวบ้าน เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๕๐ พูดเรื่อง แมมโมแกรม (mammogram) ช่วยอธิบายให้เข้าใจด้วย

 ตอบ: นพ.สมยศ ชัยธีระสุเวท
เครื่องแมมโมแกรมก็เหมือนกับเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป แต่เครื่องแมมโมแกรมจะออกแบบพิเศษ ให้สัมผัสปริมาณรังสีน้อยมาก โดยที่เห็นรายละเอียดภายในเนื้อเต้านมได้หมด (โดยที่เครื่องทั่วไปทำไม่ได้)  ขณะที่ทำจะอึดอัดตอนถูกบีบเล็กน้อย รวมเวลาที่ถูกบีบ ๒ ข้าง ข้างละ ๒ ท่า ทั้งหมดไม่เกิน ๔๐ วินาที (เฉพาะเวลาที่บีบ ที่เหลือเป็นตอนจัดท่า ล้างฟิล์ม) ถ้ามีบางจุดที่สงสัย อาจจะต้องมีการถ่ายเพิ่มเติม และ/หรืออัลตร้าซาวนด์ร่วมด้วย

การทำแมมโมแกรมเหมาะมากสำหรับเป็นการตรวจหา (คัดกรอง) คนปกติ เพราะจะสามารถเห็นเนื้อที่ผิดปกติ ที่คาดว่าจะเจริญต่อไปเป็นมะเร็ง ตั้งแต่ที่มันยังไม่ได้ฟอร์มตัวเป็นก้อน หรือก้อนเล็กมาก จนจนคลำไม่ได้ ซึ่งถ้าพบตอนนี้โอกาสรักษาหายขาดมีสูงมาก

ผู้หญิงทุกคนจะต้องได้รับการ ตรวจเป็นพื้นฐานอย่างน้อย ๑ ครั้งหรือปีเว้นปีในช่วงอายุ ๓๕-๔๐ ปี  หลังจากอายุ ๔๐ ปี จะต้องตรวจเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะหญิงที่มีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัวหรือญาติด้านมารดา อาจจะยิ่งต้องตรวจเนิ่นกว่าปกติ  เวลาที่เหมาะสมคือหลังหมดประจำเดือนใหม่ หรือไม่ใกล้ช่วงประจำเดือนจะมา เพราะช่วงนั้น เต้านมจะคัดอยู่แล้วจะไม่สบายตัว  งดการทาเครื่องสำอางหรือแป้งบริเวณต่ำกว่าคอลงมา แล้วก็เดินเข้าไปที่โรงพยาบาลไหนก็ได้  ไม่ต้องเตรียมตัวอย่างอื่นใดเพิ่มเติม  สิ่งสำคัญของรังสีแพทย์ ก็คือ การรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการตรวจหามะเร็งเต้านม ประจำปี เพราะเปลี่ยนแปลงชีวิตได้เลย ระหว่างตรวจพบก่อนตั้งแต่แรก (ซึ่งอาจรักษาหายขาด) กับมาพบตอนที่บังเอิญคลำก้อนเจอหรือมีอาการอย่างอื่นสงสัยแล้วค่อยมาทำ (อาจช้าเกินไป) 
 

ข้อมูลสื่อ

343-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 343
พฤศจิกายน 2550
นพ.สมยศ ชัยธีระสุเวท