• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาเม็ดปาร์ตี้

คำถาม ยาเม็ดปาร์ตี้ คือสารเสพติดชนิดใหม่?

 

          เตือนภัย "ยาเม็ดปาร์ตี้" ระบาดหนักสถานบันเทิง ทำเป็นยาเม็ดคล้ายอาหารเสริม ระวังกินพร้อมเหล้าถึงตาย
         นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งตัวอย่างยาเม็ด "ปาร์ตี้" ซึ่งเป็นยาเสพติดชนิดใหม่นำเข้าจากต่างประเทศ และตรวจพบเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๕๒ ไปตรวจวิเคราะห์หาสารเสพติดพบว่า ลักษณะภายนอกกล่องยาคล้ายอาหารเสริม มีทั้งแบบแคปซูลและเม็ดยาหลากสีคล้ายยาบ้า เมื่อตรวจพิสูจน์ในห้องปฏิบัติการ พบสารเสพติดในกลุ่มพิเพอราซีน (Piperazine-based drugs) ๒ ชนิด ได้แก่ BZP และ TFMPP

          (จากมติชนออนไลน์ www.matichon.co.th วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓)

 

 

ยาเม็ดปาร์ตี้ คือยาเสพติดชนิดหนึ่งมีฤทธิ์คล้าย “ยาบ้า” และ “ยาอี” มีสารสำคัญ ๒ ชนิด ได้แก่ Benzylpiperazine (BPZ) และ Trifluoromethylphenylpiperazine (TFMPP)

สาร Benzylpiperazine (BPZ) มีฤทธิ์คล้ายยาบ้า แต่อ่อนกว่า 

สาร Benzylpiperazine หรือมีชื่อย่อว่า BPZ เป็นสารสำคัญและเป็นองค์ประกอบหลักของ ยาเม็ดปาร์ตี้ เดิมนักวิทยาศาสตร์สังเคราะห์ขึ้นเมื่อกว่า ๕๐ ปีมาแล้ว เพื่อนำมาใช้เป็นยาขับพยาธิสำหรับสัตว์เลี้ยง แต่ระหว่างการทดลองพบผลข้างเคียงที่รุนแรง จึงไม่ได้นำมาใช้ในทางการแพทย์

ต่อมามีการนำสารชนิดนี้มาทดลองอีกครั้งในโรคซึมเศร้าและโรคจิต แต่ก็พบผลข้างเคียงซ้ำเดิมอีกครั้งหนึ่ง แต่มีการบันทึกถึงฤทธิ์ของสาร BPZ นี้ว่า มีผลต่อร่างกายเหมือนกับสารแอมเฟทามีน (amphetamine) หรือที่ชาวไทยรู้จักกันว่ายาบ้า

ฤทธิ์ของสารนี้คล้ายคลึงกับยาบ้า แต่มีความแรงน้อยกว่ายาบ้า คือ มีความแรงเป็น ๑ ใน ๑๐ ของยาบ้า หรือถ้าต้องการให้สารนี้ออกฤทธิ์เท่ากับยาบ้า ก็จะต้องใช้สารชนิดนี้ในขนาด ๑๐ เท่าของขนาดยาบ้า จึงจะแสดงฤทธิ์ได้เหมือนกัน

 ฤทธิ์และผลข้างเคียงของสาร BPZ

สารนี้จะออกฤทธิ์กระตุ้นสมอง ทำให้รู้สึกตื่นตัว ไม่ง่วงนอน ขยัน อยู่เฉยไม่ได้ เหมือนมีพลัง ไม่เหนื่อยง่าย เกิดอาการเคลิ้มฝัน อารมณ์ดี เข้าสังคมได้ง่าย เบื่ออาหาร ไม่หิว คิดมาก กระวนกระวาย ประสาทหลอน ฯลฯ

ทั้งยังออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วและแรงยิ่งขึ้น ทำให้รู้สึกใจสั่น มือสั่น นอกจากนี้ยังส่งผลต่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ทำให้รูม่านตาขยาย ปากแห้ง คอแห้ง ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกง่าย เป็นต้น และอาจทำให้เป็นโรคจิต มีพิษต่อไต ทำให้ระบบหายใจล้มเหลว หรือ ชักกระตุก (ลมชัก) ได้

 สาร BPZ นิยมทำเป็นเม็ดหรือแคปซูล กินครั้งละ ๕๐-๒๐๐ มิลลิกรัม 

สาร TFMPP ผสมกับ BPZ มีฤทธิ์คล้ายกับยาอี

สาร Trifluoromethylphenylpiperazine หรือ TFMPP เป็นส่วนผสมที่ ๒ ที่พบอยู่ในเม็ดยาปาร์ตี้ที่จับกุมได้นั้น ซึ่งปกติไม่ค่อยพบว่ามีการผลิตสารชนิดนี้เป็นสารเดี่ยวๆ โดดๆ แต่มักนิยมผสมร่วมกับสาร BPZ เป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้สารทั้ง ๒ ออกฤทธิ์ร่วมกันคล้ายกับยาบ้าหรือยาอี (Ectasy) และอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นยาชนิดใหม่ที่จะช่วยให้รู้สึกสนุกสนาน มึนเมา ในงานปารตี้ บ้างก็อ้างว่าเป็นสารจากธรรมชาติหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดใหม่ 

จากการศึกษาฤทธิ์ของสาร TFMPP พบว่า ทำให้เกิดประสาทหลอนอย่างอ่อนๆ และเมื่อใช้ในขนาดสูงจะทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เครียด ตื่นเต้นง่าย ปวดไมเกรน ปวดหัว ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยต้ว คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร เป็นต้น ประกอบกับไม่มีประโยชน์ในทางการแพทย์ จึงไม่นิยมนำสารนี้มาใช้

ผลข้างเคียงของยาเม็ดปาร์ตี้... อันตรายถึงชีวิต

 ดังนั้น ในยาเม็ดปาร์ตี้ จึงมีส่วนผสมของสาร ๒ ชนิด ได้แก่ สาร BPZ และ สาร TFMPP ซึ่งทำให้เกิดอาการ ตื่นตัว ไม่ง่วงนอน ขยัน อยู่เฉยไม่ได้ มีพลัง ไม่เหนื่อยง่าย เคลิ้มฝัน อารมณ์ดี เข้าสังคมได้ง่าย เบื่ออาหาร ไม่หิว คิดมาก กระวนกระวาย ประสาทหลอน หัวใจเต้นเร็วและแรงยิ่งขึ้น ใจสั่น มือสั่น รูม่านตาขยาย ปากแห้ง คอแห้ง ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกง่าย โรคจิต พิษต่อไต ระบบหายใจล้มเหลว หรือชักกระตุก (ลมชัก) ได้

อาการข้างเคียงเหล่านี้จะรุนแรงมากขึ้น เมื่อใช้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ วิสกี้ เป็นต้น จนมีรายงานในต่างประเทศว่า ผู้ที่เสพยาชนิดนี้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจเกิดอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้

นอกจากนี้ พบว่าผู้ที่เสพสารชนิดนี้จะเกิดการเสพติดได้ ในลักษณะเดียวกันกับการเสพติดยาบ้าหรือยาอี และก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจนถึงแก่ชีวิตได้

 

 ยาเม็ดปาร์ตี้... เป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือไม่?

ที่สหรัฐอเมริกา หลายประเทศในทวีปยุโรป และนิวซีแลนด์ มีการแพร่ระบาดของสารเสพติดชนิดนี้มามากกว่า ๑๐ ปีแล้ว ได้ตระหนักถึงพิษภัยอันตราย มีการปราบปราม จับกุม และออกกฎหมายจัดเข้าเป็นสารเสพติดหรือสารควบคุมพิเศษ และไม่สามารถหาซื้อได้อย่างอิสระ

ในประเทศไทยเพิ่งพบการแพร่หลายของสารเสพติดชนิดใหม่นี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ติดตามและจับกุมได้หลายราย จึงจัดให้มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน และกำลังเร่งดำเนินการเพื่อออกกฎหมายควบคุมสารเสพติดทั้ง ๒ ชนิดอย่างเร็วที่สุดว่า

สาร Benzylpiperazine (BPZ) และ Trifluoromethylphenylpiperazine (TFMPP) เป็นสิ่งเสพติดและผิดกฎหมาย ที่จะบั่นทอนทำลายสุขภาวะสร้างความเสียหายให้กับประชาชนและสังคมไทย ดังเช่นยาบ้าและยาอีที่เป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน

ยาเม็ดปาร์ตี้... เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจริงหรือ?

ในวงการยาเสพติดได้พยายามป่าวประกาศว่า สาร Benzylpiperazine (BPZ) และ Trifluoromethylphenylpiperazine (TFMPP) เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (dietary supplement) เพื่อให้ดูดี มีคุณค่า ซึ่งล้วนแต่เป็นคำหลอกลวงไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น

ดังที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้นว่า สารทั้ง ๒ ชนิดไม่มีประโยชน์ หรือคุณค่าทางอาหารเลยแม้แต่น้อย เคยทดลองจะนำมาใช้เป็นยาขับพยาธิให้กับสัตว์เมื่อ ๕๐ ปีก่อน แต่ก็เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจึงไม่ได้นำมาใช้ ทั้งยังเป็นปัญหาก่อให้เกิดการเสพติดมึนเมาเยาวชนและผู้ที่เสพอีกด้วย จนอาจถึงแก่ชีวิตได้ ดังรายงานจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และนิวซีแลนด์

ยาเม็ดปาร์ตี้... ได้จากธรรมชาติจริงหรือ?

ในอีกมุมหนึ่งของแวดวงยาเสพติดทั้งบนดินใต้ดิน หรือในอินเทอร์เน็ต โฆษณาว่า สารเสพติดทั้ง ๒ ชนิดเป็นสารที่สกัดได้จากพืชตามธรรมชาติ ซึ่งล้วนแต่เป็นการโกหกคำโต เพื่อหลอกลวงเหยื่อให้หลงเชื่อเสพสารเหล่านี้ เพราะสารเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการสังเคราะห์ด้วยปฏิกิริยาทางเคมีในห้องปฏิบัติการทั้งสิ้น

 

ข้อมูลสื่อ

380-040
นิตยสารหมอชาวบ้าน 380
ธันวาคม 2553
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด