• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคขาดไทรอยด์

ถ้าอยู่ๆ ท่านมีอาการตัวฉุๆ  เฉื่อยชา คิดช้า ทำอะไรช้าลงกว่าที่เคยเป็น และรู้สึกขี้หนาวกว่าคนอื่น ก็ควรสงสัยว่า อาจเป็นโรคขาดไทรอยด์โดยไม่รู้ตัว

โรคนี้แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุ ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยอาจตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน และจำเป็นต้องกินยาฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนไปชั่วชีวิต ก็จะมีสุขภาพเป็นปกติ  สามารถดำเนินชีวิตเช่นคนปกติทั่วไป

ชื่อภาษาไทย :  โรคขาดไทรอยด์ โรคพร่องไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย

ชื่อภาษาอังกฤษ : Hypothyroidism

สาเหตุ                 

โรคขาดไทรอยด์ หมายถึง ภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ (thyroid hormone)ได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ร่างกายทุกส่วน (รวมทั้งสมองและความคิด) ทำงานเชื่องช้า เนื่องจากขาดฮอร์โมนตัวนี้กระตุ้นให้เกิดการเผาผลาญเป็นพลังงานให้เซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ทำงานได้  จึงเกิดอาการไม่สบายต่างๆ ขึ้น อาจมีสาเหตุได้หลายอย่าง และบางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ (เชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง)

ส่วนที่ทราบสาเหตุแน่ชัด ก็ได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาโรคคอพอกเป็นพิษ (จะโดยวิธีให้ยาต้านไทรอยด์ กินสารกัมมันตรังสี หรือผ่าตัดก็เป็นได้เหมือนๆ กัน) หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนของต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง

บางรายอาจเกิดจากผลข้างเคียงของการฉายรังสีรักษาโรคมะเร็ง (เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง) ที่บริเวณคอ หรืออาจเกิดจากการใช้ยา เช่น ลิเทียม อะมิโอดาโรน (amiodarone) เป็นต้น

บางรายอาจมีสาเหตุจากความผิดปกติของต่อมใต้สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ เช่น โรคชีแฮน เนื้องอกต่อมใต้สมอง เนื้องอกสมอง เป็นต้น

ในเด็กเล็ก อาจเกิดจากภาวะขาดไอโอดีนในมารดาระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร หรือต่อมไทรอยด์เจริญไม่ได้เต็มที่ ซึ่งเป็นมาแต่กำเนิด

อาการ     

ในผู้ใหญ่ อาการจะค่อยๆ เกิดขึ้นช้าๆ กินเวลาเป็นแรมเดือน หรือแรมปี ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เฉื่อยชา ทำงานเชื่องช้า คิดช้า ขาดสมาธิ ความจำไม่ดี ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ลำไส้ก็มักจะเคลื่อนไหวช้า ทำให้มีอาการท้องผูกเป็นประจำ บางรายอาจมีอาการคอโต (คอพอก) ร่วมด้วย

เนื่องจากร่างกายทำงานเชื่องช้า มีการใช้พลังงานน้อย ผู้ป่วยจึงมักมีรูปร่างอ้วนขึ้น ทั้งๆ ที่กินไม่มาก และจะรู้สึกขี้หนาว (รู้สึกหนาวกว่าคนปกติ จึงชอบอากาศร้อนมากกว่าอากาศเย็น)

อาจมีอาการเสียงแหบ หูตึง ปวดชาปลายมือ เนื่องจากเส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น ทั้งนี้เนื่องจากมีสารมิวโคโพลีแซ็กคาไรด์สะสมที่กล่องเสียง ประสาทหู และช่องที่เส้นประสาทมือผ่าน บางรายอาจไม่มีความรู้สึกทางเพศ

ในผู้หญิงอาจมีประจำเดือนออกมากหรือประจำเดือนไม่มา ถ้าเป็นรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการซึมลงจนหมดสติ เรียกว่า Myxedma coma ซึ่งมักมีสาเหตุกระตุ้น เช่น ถูกความเย็นมากๆ ได้รับบาดเจ็บ เป็นโรคติดเชื้อ ใช้ยาแก้ปวดกลุ่มนาร์โคติก (narcotic) เป็นต้น

ในทารกแรกเกิด จะมีอาการซึม ไม่ร้องกวน หลับมาก ต้องคอยปลุกขึ้นให้นม มักมีอาการเสียงแหบ ท้องผูกบ่อย และอาจมีอาการดีซ่านอยู่นานกว่าปกติ เมื่ออายุมากขึ้น เด็กจะมีการเจริญเติบโตช้า ฟันขึ้นช้า ผิวหนังหยาบแห้ง ขี้หนาว กินไม่เก่ง เฉื่อยชา (ทำให้ดูคล้ายเลี้ยงง่าย ไม่กวน) ถ้าไม่ได้รับการรักษา เด็กจะมีรูปร่างเตี้ยแคระ พุงป่อง สมองทึบ ปัญญาอ่อน หูหนวก เป็นใบ้ เรียกว่า สภาพแคระโง่ (cretinism) หรือเด็กเครติน (cretin) ซึ่งทางภาคเหนือเรียกว่าโรคเอ๋อ*

*แบ่งเป็น ๒ ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่

(๑) ชนิดที่เกิดจากภาวะขาดไอโอดีน เนื่องจากมารดาเป็นโรคคอพอกประจำถิ่น เด็กเครตินที่เกิดจากสาเหตุนี้ เรียกว่า สภาพแคระโง่ประจำถิ่น (endemic cretinism)

(๒) ชนิดที่เกิดจากต่อมไทรอยด์เจริญไม่ได้เต็มที่ ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้ตั้งแต่แรกเกิด เรียกว่า สภาพแคระโง่แต่กำเนิด (congenital cretinism)

การแยกโรค          

เนื่องจากโรคนี้อาจมีอาการแสดงได้หลายอย่างจึงควรแยกออกจากสาเหตุอื่นๆ มากมาย ดังนี้

๑. อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อาจต้องแยกจากสาเหตุอื่นๆ เช่น

ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperthyroidism) ซึ่งจะมีอาการต่างๆ ตรงกันข้ามกับโรคขาดไทรอยด์ กล่าวคือ จะมีอาการน้ำหนักลด ขี้ร้อน เหงื่อออก มือสั่น ใจสั่น นอนไม่หลับ ชีพจรเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก ถ่ายเหลว

ภาวะซีด (โลหิตจาง) จากสาเหตุต่างๆ ซึ่งจะมีอาการหน้าตา ริมฝีปาก ลิ้น มือและเล็บซีดเผือดกว่าปกติ

ภาวะดีซ่าน จะพบอาการตาเหลือง ตัวเหลือง และปัสสาวะเหลืองพร้อมๆ กัน มักมีสาเหตุจากโรคตับ โรคถุงน้ำดี และอื่นๆ

ภาวะวิตกกังวล หรือซึมเศร้า ผู้ป่วยจะมีอาการนอนไม่หลับ คิดมาก หรือมีอารมณ์เบื่อหน่าย ซึมเศร้า คิดช้า พูดช้า ท้องผูกหรือท้องเสีย เบื่ออาหารหรือกินเก่ง

๒. อาการบวมฉุ อาจต้องแยกจากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคไต โรคขาดอาหาร  ผลข้างเคียงจากยา

๓. อาการคอโตหรือคอพอก (ถ้ามี) อาจต้องแยกจากโรคคอพอกเป็นพิษ (ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ดังกล่าวในข้อ ๑) คอพอกที่เกิดจากการขาดไอโอดีน (พบในเขตเขาทางภาคเหนือ ภาคอีสานทที่ไม่ได้บริโภคเกลือแกง เกลือที่ใส่ไอโอดีน และอาหารทะเล)

๔. อาการเสียงแหบ หูตึง ท้องผูก หรือชีพจรช้า ก็ต้องแยกแยะจากสาเหตุอื่นๆ ซึ่งมีอยู่มากมาย

๕. อาการปัญญาอ่อนในเด็ก ก็ต้องแยกแยะจากสาเหตุอื่น เช่น กลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome)

 การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้น จากอาการอ่อนเพลีย ตัวบวมฉุ คิดช้าและทำอะไรช้าลงกว่าที่เคย ตรวจพบหน้าบวม หนังตาบวมฉุๆ ผิวหนังหยาบแห้งและเย็น ผมบางและหยาบ ผมร่วง ขนคิ้วร่วง ชีพจรเต้นช้า (อาจต่ำกว่า ๕๐ ครั้ง/นาที) อาจตรวจพบอาการคอโตหรือไม่ก็ได้ ส่วนในทารก อาจตรวจพบอาการตัวอ่อนปวกเปียก ผิวหยาบแห้ง ลิ้นโตคับปาก  ท้องป่อง สะดือจุ่น ซีด ดีซ่าน

หากสงสัย แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด (พบระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ระดับน้ำตาลและโซเดียมในเลือดต่ำ) เอกซเรย์ (อาจพบว่า มีภาวะหัวใจโต เนื่องจากมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มหัวใจ หรือน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด)

การดูแลตนเอง

ถ้ามีอาการที่สงสัยว่าเป็น โรคขาดไทรอยด์ เช่น อ่อนเพลีย บวมฉุ คิดช้าและทำอะไรช้ากว่าปกติ ผิวหนังหยาบแห้ง ขี้หนาว ชีพจรเต้นช้า ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์

ถ้าพบว่าเป็นโรคนี้จริง ก็ควรปฏิบัติดังนี้

  • ไปพบแพทย์ตามนัด
  • กินยาฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน บางรายอาจจำเป็นต้องกินไปตลออดชีวิต ซึ่งจะปรับขนาดยาให้เหมาะกับสภาพอาการของผู้ป่วย
  • อย่าเลิกหาหมอหรือเลิกกินยาโดยพลการ หรือใช้ยาหรือสมุนไพรที่ไม่มีข้อพิสูจน์ว่าได้ผลจริง
  • เมื่อรับการรักษากับแพทย์แล้ว ยังมีอาการไม่ปกติอะไร ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษา เพื่อจะได้ช่วยกันดูว่า เกิดจากอะไรหรือใช้ยาไม่ได้ผล หรือมีผลข้างเคียงจากยา แล้วแก้ไขให้ถูกต้อง

การรักษา

แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากการใช้ยาบางชนิด เมื่อหยุดยานั้น (ถ้าหยุดได้) อาการก็จะทุเลาไปได้เอง

ถ้าเป็นชนิดไม่ทราบสาเหตุ หรือเกิดจากสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้ (เช่น ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี การผ่าตัดไทรอยด์ การกินน้ำแร่รักษาคอพอกเป็นพิษ) ก็จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยกินฮอร์โมนไทรอยด์ไปจนตลอดชีวิต โดยทั่วไปแพทย์นิยมให้ฮอร์โมนไทรอยด์สังเคราะห์ เช่น เลโวไทร็อกซีน (levothyroxine) มีชื่อการค้า เช่น เอลทร็อกซิน (Eltroxin) วันละ ๑-๓ เม็ด หลังให้ยารักษา แพทย์จะนัดมาตรวจดูอาการและตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดเป็นระยะๆ และปรับขนาดยาให้เหมาะกับสภาพอาการของผู้ป่วย

ภาวะแทรกซ้อน    

อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจโต หัวใจวาย ติดเชื้อง่าย เป็นหมัน แท้งบุตรง่าย เป็นโรคจิต (myxedema madness) ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ระดับโซเดียมในเลือดต่ำ

ในรายที่เป็นรุนแรง อาจเกิดภาวะหมดสติ เรียกว่า Myxedema com

ในทารก อาจทำให้ตัวเตี้ยแคระ ปัญญาอ่อน

การดำเนินโรค     

ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการจะไม่หายและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้

ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาการต่างๆ ก็จะทุเลาได้ ภายในเวลาไม่นาน และร่างกายจะคืนกลับสู่สภาพปกติได้ภายในไม่กี่เดือน แต่ถ้าขาดยา อาการก็จะกลับกำเริบได้ใหม่

สำหรับทารกแรกเกิด ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ก่อนอายุได้ ๑ เดือน (ก่อนมีอาการชัดเจน แต่พบจากการตรวจเช็กเลือด) เด็กจะสามารถเจริญเติบโตได้เป็นปกติทั้งทางร่างกายและสมอง แต่เด็กจะต้องกินยาทุกวัน ห้ามหยุดยา

การป้องกัน

๑.   ในผู้ใหญ่ อาจไม่สามารถหาทางป้องกันได้ เนื่องจากส่วนหนึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนหนึ่งเกิดจากผลข้างเคียงของยาหรือกรรมวิธีที่จำเป็นต้องใช้รักษาโรคอื่น

๒.  ในทารก การป้องกันมิให้เกิดสภาพแคระโง่ สามารถกระทำได้โดยการตรวจระดับฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ (TSH) และฮอร์โมนไทร็อกซีนในเลือดของทารกแรกเกิด ถ้าพบว่ามีภาวะขาดไทรอยด์จะได้ให้การรักษาเสียแต่เนิ่นๆ ช่วยให้เด็กเจริญเติบโตเป็นปกติได้

ดังนั้น จึงแนะนำให้มีการตรวจเลือดทารกแรกเกิดทุกคน (ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม) โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการขาดสารไอโอดีน ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้สูง

ความชุก

โรคนี้พบได้ไม่บ่อยนัก พบได้ในคนทุกวัย แต่จะพบมากในหญิงวัยกลางคน (ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ)

ส่วนชนิดที่ทราบสาเหตุ มักพบในผู้ป่วยคอพอกเป็นพิษที่รักษาด้วยการกินน้ำแร่หรือการผ่าตัดต่อมไทรอยด์

ข้อมูลสื่อ

381-039
นิตยสารหมอชาวบ้าน 381
มกราคม 2554