ภก.วิรัตน์ ทองรอด
ยารักษา โรคเอดส์
คำถาม
ปัจจุบัน ยารักษาโรคเอดส์ ให้หายได้ไหม?
โรคเอดส์เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งมีสาเหตุจากเชื้อ ไวรัสเอชไอวี (HIV) ซึ่งมีชื่อเต็มๆ ว่า human immuno- deficiency virus หรือแปลความหมายเป็นไทยว่า ไวรัสที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์บกพร่องผิดปกติ ไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะไวรัสเอชไอวีจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือด ขาวชนิดทีลิมโฟไซต์ (T-lymphocyte) หรือเม็ดเลือด ขาวซีดี4 ทำให้มีปริมาณลดลงเรื่อยๆ ส่งผลต่อภูมิคุ้มกัน ของร่างกายลดน้อยลง จนไม่สามารถปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อได้ ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย (โรคติดเชื้อ ฉวยโอกาส๑) เกิดภาวะแทรกซ้อน และถึงแก่ชีวิตในที่สุด
ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้กว่า ๔๐ ล้านคน หรือประมาณร้อยละ ๑ ของประชากรโลก ประเทศไทยมีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขว่าปี พ.ศ.๒๕๔๙ มีคนไทยติดเชื้อไวรัสเอชไอวีประมาณ ๓ แสนคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ ๒ หมื่นรายต่อปี และเสียชีวิตจากโรคนี้ปีละประมาณ ๕,๐๐๐ ราย
ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามรณรงค์เพื่อลดการเกิดผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้ลดน้อยลงกว่าในอดีต พร้อมทั้งได้บรรจุการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ในโครงการประกัน สุขภาพแห่งชาติ ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับยาต้านเชื้อไวรัส เอชไอวีมากขึ้น ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดอัตราการตายก่อนเวลาอันควรลงได้เป็นอันมาก แต่เนื่องจากปริมาณผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในประเทศไทยมีจำนวนมาก จึงเป็นปัญหาสุขภาพและสาธารณะหนึ่งที่สำคัญและมีระดับความรุนแรงอย่างมากต่อผู้ป่วย ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศ ทั้งด้านการดูแลรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่าย เศรษฐกิจ จิตใจ และคุณภาพ ชีวิตของสังคมไทยทั้งประเทศ
ยารักษาโรคเอดส์ (หรือยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี)
ไวรัสเอชไอวีเป็นเชื้อที่ทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเชื้อชนิดนี้จะมีความจำเพาะกับเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่ชื่อทีลิมโฟไซต์ ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่คุ้มกันป้องกันและทำลายการติดเชื้อโรคหรือสิ่ง แปลกปลอมชนิดต่างๆ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนี้ที่เยื่อหุ้มเซลล์จะมีส่วนประกอบที่เรียกว่าซีดี4 ซึ่งเป็นตำแหน่ง สำคัญที่จำเพาะต่อการเกาะตัวของอนุภาคของไวรัสเอชไอวี ดังนั้นจึงอาจเรียกทีลิมโฟไซต์ว่าเม็ดเลือดขาว ชนิดซีดี4
เมื่อเริ่มติดเชื้อใหม่ๆ จำนวนเชื้อไวรัสยังมีไม่มาก ก็ จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนในร่างกายมากขึ้นๆ ด้วยการทำลาย ทีลิมโฟไซต์ชนิดนี้ไปเรื่อยๆ ถ้ายิ่งร่างกายอ่อนแอและภูมิต้านทานไม่ดี การเพิ่มจำนวนของไวรัสด้วยการทำลายเซลล์ทีลิมโฟไซต์ ก็จะยิ่งมีมากขึ้นและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้จำนวนไวรัสมากขึ้น ดังนั้น การตรวจหาระดับความรุนแรงของโรคเอดส์ จึงสามารถตรวจด้วยการตรวจหาปริมาณทีลิมโฟไซต์ หรือเม็ดเลือดขาวชนิดซีดี4 (CD4 + T-cell) ที่เรียกว่า "ระดับเม็ดเลือดขาวชนิดซีดี4" ซึ่งถ้ามีการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีรุนแรงมากขึ้น ระดับเม็ดเลือดขาวชนิดซีดี4 ก็จะมีปริมาณลดต่ำลงเรื่อยๆ
ในทางตรงกันข้ามอาจตรวจวัดระดับความรุนแรงของโรคเอดส์ได้จากปริมาณไวรัส ซึ่งเรียกว่า การตรวจหาปริมาณไวรัสในกระแสเลือด (viral load) ซึ่งถ้ามีการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีรุนแรงมากขึ้น ปริมาณไวรัสชนิดนี้ในกระแสเลือดก็จะมีปริมาณมากขึ้น ซึ่งเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับระดับเม็ดเลือดขาวชนิดซีดี4 เสมอ ยาที่มีการวิจัยและค้นพบเพื่อนำมาใช้ต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดแรกคือ เอแซดที (AZT หรือ Zidovudine หรือ ZDV) ซึ่งเริ่มใช้ปี พ.ศ.๒๕๓๐ และมียาชนิดใหม่ๆ ตามมาอีกเป็นจำนวนมากที่นำมาใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยโรค เอดส์ เช่น Stavudine (d4T) Didanosine (ddI) Lamivudine (3TC) Abacavir (ABC) Tenofovir (TDF) Nevirapine (NVP) Efavirenz (EFV) Lopinavir (LPV) Ritonavir (RTV) Saquinavir (SQV) Indinavir (IDV) เป็นต้น
ยาออกฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีได้อย่างไร
ปกติเชื้อไวรัสเอชไอวีเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะตรงไปที่เซลล์ทีลิมโฟไซต์เพื่อเริ่มกระบวนการติดเชื้อและทำลาย เซลล์ ด้วยการแทรกซึมเข้าไปในเซลล์ พร้อมทั้งสั่งให้เซลล์สร้างองค์ประกอบของไวรัส ไม่ว่าจะเป็น RNA โปรตีน หรือเยื่อหุ้ม ฯลฯ เมื่อสร้างองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้เรียบร้อย ก็นำส่วนต่างๆ มาประกอบกันเป็นอนุภาคเป็นตัวของไวรัสเอชไอวีจำนวนมหาศาล และ ซึมออกนอกเซลล์ ไปติดเชื้อเซลล์อื่นต่อไป เซลล์ทีลิม-โฟไซต์ ที่ถูกติดเชื้อแล้วก็จะตายไป
ขั้นตอนการสร้างองค์ประกอบของไวรัสภายในเซลล์ มีขั้นตอนที่สำคัญต่อการออกฤทธิ์ของยาคือขั้นตอนการ สร้างสายพันธุกรรม RNA ที่ต้องอาศัยเอนไซม์ reverse transcriptase และขั้นตอนการตัดย่อยสายโปรตีนให้มีขนาดเหมาะสมซึ่งต้องอาศัยเอนไซม์โพรเทส (protease) เอนไซม์ทั้ง ๒ ชนิดนี้เป็นจุดสำคัญที่ยาออกฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสเอชไอวี
ยาที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีจึงแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มคือ ยาที่ยับยั้งเอนไซม์ reverse transcriptase และยาที่ยับยั้งเอนไซม์โพรเทส
ตัวอย่างยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ reverse transcrip-tase ได้แก่ Stavudine (d4T) Didanosine (ddI) Lamivudine (3TC) Abacavir (ABC) Tenofovir (TDF) Nevirapine (NVP) Efavirenz (EFV) เป็นต้น
ตัวอย่างยาอีกกลุ่มหนึ่งที่มีฤทธิ์ต่อเอนไซม์โพรเทส ได้แก่ Lopinavir (LPV) Ritonavir (RTV) Saquinavir (SQV) Indinavir (IDV) เป็นต้น
นอกจากยาทั้ง ๒ กลุ่มนี้แล้ว ปัจจุบันยังมียาใหม่อีกชนิดหนึ่งที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการเกาะติดของไวรัสที่เยื่อหุ้มเซลล์ของทีลิมโฟไซต์คือ ยา Enfuvirtide ซึ่งมีใน รูปแบบของยาฉีด และจะใช้เป็นตัวเลือกสุดท้าย กรณีที่มีการดื้อยาชนิดอื่นๆ แล้วเท่านั้น
ในห้องวิจัยและพัฒนายาหลายแห่งทั่วโลกกำลังมุ่งพัฒนายาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดใหม่เพื่อเพิ่มทางเลือกและความหวังในการรักษาโรคเอดส์ และคาดว่าอนาคตอันใกล้นี้อาจมียาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดใหม่ๆ ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ใหม่ๆ มีประสิทธิภาพที่ดี ปลอดภัย และมีผลข้างเคียงน้อย ดีกว่ายาเดิม มาใช้กับผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีเพิ่มขึ้น
เมื่อใดที่ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีจะต้องเริ่มใช้ยา?
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีทุกคนจะต้องดูแลตนเอง ตามหลักสุขอนามัยที่ดีทั่วๆ ไป อันได้แก่ กินอาหารที่สุก ครบ ๕ หมู่ ออกกำลังกาย รักษาอารมณ์ให้สดชื่นแจ่มใส พักผ่อนอย่างพอเพียงและเหมาะสม และสามารถทำงาน หรือดำเนินชีวิตได้ตามปกติทั่วไป และต้องได้รับการตรวจ รักษาจากแพทย์เป็นประจำ ซึ่งแพทย์จะนัดดูอาการและตรวจเลือดเพื่อติดตามระดับความรุนแรงของโรค
ถ้าผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีมีระดับเม็ดเลือดขาวซีดี4 มากกว่า ๒๐๐ และไม่มีอาการของการติดเชื้อโรคฉวยโอกาส ก็ยังไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี เพียงแต่ดูแลรักษาสุขภาพอนามัยที่ดีก็เพียงพอแล้ว
สำหรับประเทศไทยจะเริ่มใช้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี เมื่อผู้ป่วยมีค่าระดับเม็ดเลือดขาวซีดี4 ต่ำกว่า ๒๐๐ (อาการอื่นๆ ปกติ ไม่มีอาการของโรคติดเชื้อฉวยโอกาส) หรือเมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการอื่นๆ ผิดปกติอันใดอันหนึ่งของโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ได้แก่ ท้องเสียเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุมามากกว่า ๒ สัปดาห์ หรือมีไข้เรื้อรังไม่ทราบสาเหตุมามากกว่า ๑ เดือน หรือน้ำหนักตัวลดลงมากกว่าร้อยละ ๑๐ (๕-๑๐ กก.) ภายในระยะเวลา ๓ เดือน หรือเป็นเชื้อราในช่องปาก หรือมีตุ่มผื่นทั่วตัว เป็นต้น
กรณีที่จะเริ่มใช้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี ควรปรึกษา และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่ควรซื้อหามาใช้เอง หรือแบ่งมาจากผู้ป่วยรายอื่น เพราะยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีมีหลายชนิด ต้องใช้สูตรที่เหมาะสม และต้องใช้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจึงจะได้ผลดี
หลักการใช้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ดี
เนื่องจากยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีมีผลลดจำนวนเชื้อไวรัสให้น้อยลง พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาวซีดี4 เพิ่มมากขึ้น ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้น โอกาสที่จะ ติดเชื้อโรคฉวยโอกาสก็จะลดลง และสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มียาที่ทำให้หายขาด ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่เริ่มใช้ยาจึงต้องใช้ยาติดต่อกันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อยับยั้งเชื้อ ควบคุมไม่ให้เชื้อ เพิ่มจำนวนมากขึ้น และจะต้องใช้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี อย่างน้อย ๓ ชนิด เพื่อให้เกิดผลดี ทั้งยังต้องกินยาตรง เวลาสม่ำเสมอทุกวัน มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาการดื้อยาได้ง่าย เพราะถ้าเกิดการดื้อยาแล้ว ผู้ป่วยจะต้องเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่นๆ ที่ให้ผลการรักษาเท่าเทียมกันหรือด้อยกว่า แต่จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงกว่ากันมาก ทั้งยังอาจมีอาการอันไม่พึงประสงค์ หรือผลข้างเคียงจากยาที่พบได้บ่อยกว่าและ/หรือมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงกว่าด้วย
ดังนั้น ก่อนเริ่มใช้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี ผู้ป่วยควรได้มีความรู้และความเข้าใจเรื่องการใช้ยากลุ่มนี้ อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นวิธีใช้ จำนวนและขนาดของเม็ดยา เวลาที่ใช้ยา ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ และมีความพร้อมในการปฏิบัติตามการใช้ยาอย่างถูกต้อง ตรงเวลา และสม่ำเสมอ พร้อมทั้งจะต้องไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อให้ยาได้ผลดี ประหยัด และปลอดภัยต่อผู้ติดเชื้อ ซึ่งสรุปได้เป็นข้อๆ ดังนี้
๑. การเริ่มใช้ยาต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
๒. ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ต้องมีค่าระดับเม็ดเลือดขาวซีดี4 ต่ำกว่า ๒๐๐ หรือเมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการอื่นๆ ผิดปกติ อันใดอันหนึ่งของโรคติดเชื้อฉวยโอกาส
๓. ผู้ใช้ยาควรมีความรู้และความเข้าใจเรื่องการใช้ยากลุ่มนี้อย่างชัดเจน และมีความพร้อมปฏิบัติตามการใช้ยาอย่างถูกต้อง ตรงเวลา สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง
๔. ต้องใช้ยาอย่างน้อย ๓ ชนิดร่วมกัน ตามคำแนะนำของแพทย์
๕. ผู้ใช้ยาควรมีความรู้ถึงผลดีของการรักษา และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อเฝ้าระวัง สังเกต และดูแลตนเองขณะใช้ยา หรือไปพบแพทย์เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้น
การตรงต่อเวลาในการใช้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี
จากการศึกษาพบว่า ถ้าผู้ป่วยใช้ยากลุ่มนี้ไม่ตรง ตามเวลาตั้งแต่ร้อยละ ๕ ขึ้นไป ก็อาจทำให้เกิดการดื้อยาขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรใช้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีอย่าง สม่ำเสมอและตรงเวลา เพื่อคงประสิทธิภาพที่ดีของยาต่อไป ไม่เกิดการดื้อยา
ตัวอย่างเช่น การใช้ยาวันละ ๒ ครั้ง โดยให้ห่าง กัน ๑๒ ชั่วโมง ถ้าใช้ยามื้อเช้ามื้อแรกเวลา ๐๘.๐๐ น. (แปดโมงเช้า) มื้อที่ ๒ ก็ควรใช้เวลา ๒๐.๐๐ น. (๒ ทุ่ม) เป็นต้น
รู้ได้อย่างไรว่าใช้แล้วได้ผลหรือไม่?
เมื่อเริ่มใช้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีอย่างถูกต้องและ เหมาะสมไปแล้วสักระยะหนึ่ง จะสังเกตว่ายาเริ่มเห็นผล ได้จากน้ำหนักตัวที่เริ่มเพิ่มขึ้น โรคฉวยโอกาสที่เคยเป็นจะมีอาการดีขึ้นและลดความรุนแรงลงหรือไม่มี ระดับเม็ดเลือดขาวซีดี4 มีปริมาณเพิ่มขึ้น ปริมาณไวรัสในเลือด ลดน้อยลง และคุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้น ซึ่งมีรายงานว่า มีผู้ป่วยที่ใช้ยาอย่างสม่ำเสมอและมีอายุยืนยาว จนถึงปัจจุบันก็เกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว และสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย
อาการข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้สูง ผื่นลมพิษ เยื่อบุตาอักเสบ เยื่อบุปากอักเสบ หายใจขัดหรือหอบ เป็นต้น ซึ่งยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีที่พบอาการข้างเคียงได้บ่อยที่สุดคือ เนวิราพิน (Nevirapine, NVP) ซึ่งแก้ไขด้วยการเริ่มใช้ยาชนิดนี้ขนาดครึ่งหนึ่งของขนาดปกติเป็นระยะเวลา ๒ สัปดาห์ ถ้าไม่เกิดปัญหาใดๆ ก็จะเพิ่ม ขนาดของยาให้เป็นขนาดปกติ
นอกจากนี้ อาจพบอาการข้างเคียงอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องอืด นอน ไม่หลับ ฝันร้าย เป็นต้น อาการเหล่านี้มักเป็นในช่วงแรกของการใช้ยา และอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน ๒ เดือน แต่ถ้ามีอาการซีด ตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ชาปลายมือปลายเท้า นิ่วในไต น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันกระจายตัวผิดปกติ (ลงพุง ไขมันพอกที่ต้นคอ หน้าอก แต่หน้าตอบและแขนขาลีบ) โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่เริ่มยาต้านฯ เมื่อซีดี4 ต่ำมาก ก็ควรกลับไปปรึกษาแพทย์
วัคซีนรักษาโรคเอดส์
วัคซีนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคเอดส์ ซึ่งมีข่าวความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับต่างประเทศ เมื่อหลายปีที่ผ่านมามีการพัฒนาวัคซีนชนิดนี้ขึ้นเพื่อประโยชน์ของชาวโลก ข้อมูลปัจจุบันพบว่า การทดลองใช้วัคซีนโรคเอดส์ ยังไม่ค่อยได้ผลดีในระดับที่น่าพอใจนัก คงต้องรอคอยเวลาให้กับนักวิจัยและพัฒนาวัคซีนต่อไปในอนาคต
การใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร
อีกเรื่องหนึ่งที่สาธารณชนให้ความสนใจคือ การใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร (Compulsory Licensing-LC) ซึ่งรัฐบาลไทยได้ใช้กับยา ๓ ชนิด คือ Efavirenz, Lopinavir/Ritonavir และ Clopidogrel ด้วยวัตถุประสงค์ต้องการให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยา แต่จัดหายาไม่ได้ ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาเรื่องราคาค่าใช้จ่ายของยาต่าง-ประเทศที่มีราคาสูง ผู้ป่วยไม่มีเงินเพียงพอในการจัดหา ยา ซึ่งทางรัฐบาลจึงประกาศใช้สิทธินี้เพื่อลดค่าใช้จ่าย ทำให้ยามีราคาย่อมเยา รัฐสามารถจัดหามาบริการแก่ผู้ป่วยเหล่านี้ โดยไม่กระทบต่อผู้ป่วยที่มีฐานะเพียงพอในการใช้ยาราคาแพงๆ จากต่างประเทศ
จำนวนยาทั้ง ๓ ชนิดนี้ มีเพียงชนิดเดียวที่เป็น ยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ ยาชนิดที่ ๓ Clopidogrel ส่วนที่เหลืออีก ๒ ชนิด เป็นยาต้านเชื้อไวรัส เอชไอวีทั้งสิ้น ทั้ง Efavirenz และ Lopinavir/Ritonavir เป็นยาสำคัญสำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ดื้อต่อยาสูตรพื้นฐาน ซึ่งมีผู้ป่วยเอดส์กว่า ๑ แสนคนที่จำเป็นต้องใช้ Efavirenz แต่ติดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย
ขณะที่ยังมีผู้ติดเชื้ออีกกว่า ๑ แสนคนที่จำเป็นต้องใช้แต่ไม่สามารถใช้ยา Lopinavir/Ritonavir ได้ จึงเป็น เหตุผลทางมนุษยธรรมของประเทศและเป็นสิทธิขั้น พื้นฐานของประชาชนชาวไทยในการที่จะได้รับการรักษาที่ดีจากรัฐ เพื่อลดการเจ็บป่วย ทุกข์ทรมาน และถึงแก่ชีวิต
ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีเป็นยาที่ดี มีประโยชน์ แก่ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีซึ่งจะต้องได้รับคำปรึกษาเรื่องการเริ่มใช้ยา การใช้ยาที่ดี และการติดตามการใช้ยากับแพทย์ บนพื้นฐานของความรู้ ความเข้าใจ และความพร้อมของผู้ป่วยในการใช้ยาอย่าง ถูกต้อง ตรงเวลา เหมาะสม และอย่างต่อเนื่องสม่ำ-เสมอ เพื่อให้เกิดผลการรักษาที่ดี ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาส สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ เป็นกำลังของชาติสืบไป
- โรคติดเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic infection) คือการติดเชื้อที่มักไม่เกิดขึ้นในคนปกติทั่วไป แต่จะเกิดในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ (ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี) ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดอื่น ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ตัวอย่าง โรคฉวยโอกาสที่พบบ่อยๆ ในผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี เช่น โรคติดเชื้อราชนิดแคนดิดา วัณโรค โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมซิสติส โรคติดเชื้อคริปโตค็อกคัส โรคติดเชื้อเพนิซิเลียม เป็นต้น
- อ่าน 33,362 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้