ฤดูหนาวสั้นๆ ของประเทศไทยมาเยือนทำให้นึกถึงบรรดาไม้เถาเลื้อยที่มีดอกสีม่วงงดงาม ออกดอกในช่วงฤดูหนาวแบบนี้ หนึ่งในนั้นคือ ม่วงมณีรัตน์ ซึ่งเป็นไม้เถาเลื้อยขนาดกลาง
ชื่อวิทยาศาสตร์ของม่วงมณีรัตน์ คือ Saritaea magnifica (W.Bull) Dugand มีชื่อสามัญ Purple bigonia หรือ Glowvine อยู่ในวงศ์ Bignoniaceae
สำหรับคนไทยอาจสับสนกับ ดอกบานบุรีม่วง บางคนสับสนนึกว่าเป็นดอกไม้ชนิดเดียวกัน และเรียกดอกม่วงมณีรัตน์ว่าเป็นบานบุรีม่วงด้วยซ้ำ
สำหรับดอกบานบุรีสีม่วงอยู่คนละวงศ์กับม่วงมณีรัตน์ คือวงศ์ Apocynaceae และบานบุรีนั้นยังเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยอย่างเห็นได้ชัด แถมยังมีกลีบดอกที่หนากว่าม่วงมณีรัตน์อย่างแน่นอน
บานบุรีม่วง มีชื่อสามัญว่า Purple Allamanda และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allamanda violacea Gard. & Field. มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้
ลักษณะของไม้เถารอเลื้อย ซึ่งเช่นเดียวกับม่วงมณีรัตน์ที่มีมือเกาะปลายขมวดเป็นตะขอระหว่างใบย่อย ใบเป็นใบประกอบมีใบย่อย ๒ ใบ โคนใบรูปลิ่มออกตรงข้าม รูปไข่กลับ หรือรูปรี กว้างประมาณ ๗ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๒ เซนติเมตร ปลายมน โคนแหลมหรือมน
ม่วงศ์มณีรัตน์มีดอกสีม่วงสดใสสมชื่อ ตรงกลางหลอดสีเหลืองอ่อน ใกล้ปลายหลอดเป็นสีขาว ออกเป็นช่อตามซอกใบหรือปลายกิ่ง รูปแตร ๕ กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด สามารถมองเห็นเกสรตัวผู้ ๔ อัน สั้น ๒ อัน ยาว ๒ อัน เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลาง ๖-๙ เซนติเมตร มีผลเป็นฝัก เมื่อฝักแก่จะแตกให้เมล็ด
ม่วงมณีรัตน์สามารถขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ปักชำ หรือตอนกิ่ง เป็นไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดจากโคลัมเบียและปานามา
ม่วงมณีรัตน์จึงจัดเป็นไม้เถาเลื้อยที่น่าสนใจ เหมาะสำหรับปลูกในบ้านที่มีบริเวณและสามารถทำเป็นซุ้มที่งดงามได้ไม่แพ้ใคร
- อ่าน 9,850 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้