• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตับอักเสบจากไวรัสชนิดเรื้อรัง

ตับอักเสบชนิดเรื้อรัง หมายถึง ภาวะที่มีการอักเสบของตับเป็นเวลานานเกิน ๖ เดือนขึ้นไป โดยการตรวจเลือดพบมีร่องรอยของการอักเสบ (เอนไซม์ตับ ได้แก่ สารเคมีที่มีชื่อว่า เอเอสที และเอแอลที ขึ้นสูงกว่าปกติ)
        สาเหตุอาจเกิดจากพิษสุราเรื้อรัง พิษจากยาหรือสมุนไพรบางชนิด การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ภาวะไขมันเกาะตับ (ในผู้ที่เป็นเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อ้วน) หรือเกิดจากภาวะภูมิต้านตนเอง
        อันตรายของโรคตับอักเสบเรื้อรัง ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็คือ มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับ
        ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ซึ่งสามารถป้องกัน และ/หรือลดอันตรายลงได้

ชื่อภาษาไทย   
ตับอักเสบจากไวรัสชนิดเรื้อรัง, ตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัส

ชื่อภาษาอังกฤษ   
Chronic Viral Hepatitis

สาเหตุ   
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี (hepatitis B virus) หรือชนิดซี (hepatitis C cirus) เชื้อทั้ง ๒ ชนิดนี้ มีลักษณะการติดต่อเหมือนกับเชื้อเอชไอวี คือ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ ๓ ทาง ได้แก่
• โดยทางเลือด เช่น การได้รับเลือดจากผู้ติดเชื้อ การใช้อุปกรณ์ที่ปนเปื้อนเลือดของผู้ติดเชื้อในการฉีดยา (เช่นใช้เข็มร่วมกันในการฉีดยาเสพติด) ฝังเข็ม สักตามร่างกาย  หรือทำฟัน
• โดยทางเพศสัมพันธ์ ทั้งชายกับหญิง และชายกับชาย
• โดยการติดต่อจากมารดาที่มีเชื้อสู่ทารก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นขณะคลอด สตรีที่มีเชื้ออยู่ในร่างกาย (เลือดและตับ) เช่น เป็นพาหะของโรคนี้ สามารถถ่ายทอดเชื้อให้ลูกได้มากกว่า ๑ คน (เมื่อตรวจพบคนใดคนหนึ่งมีเชื้ออยู่ แพทย์มักแนะนำให้ตรวจเลือดพี่น้องทุกคน ดูว่าติดเชื้อจากมารดาหรือไม่ จะได้หาทางให้การดูแลที่เหมาะสมต่อไป)
        เมื่อคนเราติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี อาจเกิดผลได้อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
• มีภูมิคุ้มกันโรคเกิดขึ้น เชื้อถูกขจัดไป ไม่เป็นโรค ไม่เป็นพาหะ นับว่าปลอดภัยแล้ว
•  กลายเป็นโรคตับอักเสบ (จากไวรัส) ชนิดเฉียบพลัน (acute viral hepatitis)  ซึ่งในที่สุดอาจหายขาด (มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น และเชื้อหมดไปจากร่างกาย) หรืออาจกลายเป็นตับอักเสบ (จากไวรัส) ชนิดเรื้อรังก็ได้
• กลายเป็นพาหะของโรคนี้ กล่าวคือ ร่างกายไม่อาจสร้างภูมิคุ้มกัน เชื้อยังอยู่ในร่างกายได้นานนับสิบๆ ปี หรือตลอดชีวิต บางรายอาจกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรังในโอกาสต่อมา  หรืออาจกลายเป็นโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับแทรกซ้อนในที่สุดก็ได้

อาการ   
        ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดงใดๆ ให้ผู้ป่วยรู้สึก จนกว่าจะเกิดโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับแทรกซ้อน หรือบางรายอาจไม่มีอาการแต่ตรวจเลือดพบโดยบังเอิญขณะไปขอตรวจเช็กสุขภาพ
        ส่วนน้อย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีประวัติเป็นตับอักเสบเฉียบพลันหรือโรคดีซ่านมาก่อน) อาจมีอาการของตับอักเสบเรื้อรัง ได้แก่ รู้สึกอ่อนเพลีย ซึ่งมักจะเป็นมากขึ้นตอนบ่ายๆ เย็นๆ นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอื่นๆ เช่น มีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ท้องอืดเฟ้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ เป็นต้น ในระยะนี้ผู้ป่วยมักจะยังไม่มีอาการน้ำหนักลด และในระยะท้ายที่เป็นตับแข็งและมะเร็งตับแทรกซ้อน ก็จะมีอาการอ่อนเพลีย ดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง) น้ำหนักลด ท้องบวม เท้าบวม

การแยกโรค
        ในรายที่มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ไข้ต่ำๆ คลื่นไส้  ท้องอืดเฟ้อ ปวดข้อ ควรแยกสาเหตุอื่นๆ ซึ่งมีอยู่มากมาย เช่น วัณโรคปอดและเอดส์ (ซึ่งมักมีไข้เรื้อรังร่วมกับเบื่ออาหารและน้ำหนักลด) โรคกระเพาะ (มีอาการแสบลิ้นปี่เวลาหิว จุกแน่นเวลากินอิ่มใหม่ๆ) โรคข้อ (ปวดข้อ) เป็นต้น
        อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านั้นเรื้อรังนานเกิน ๑-๒ สัปดาห์ ก็ควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ใจ

การวินิจฉัย   
        แพทย์จะวินิจฉัยโดยการตรวจเลือดพบเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี และตรวจพบเอนไซม์ตับ (เอเอสที และ เอแอลที) สูงเกินปกติ
        บางรายแพทย์อาจจำเป็นต้องใช้เข็มเจาะตับนำตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจ

การดูแลตนเอง

         ผู้ที่มีพี่หรือน้องเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสหรือเป็นพาหะของโรคนี้ หรือมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ไข้ต่ำๆ คลื่นไส้ ท้องอืดเฟ้อ ปวดข้อ นานเกิน ๑-๒ สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดว่ามีเชื้อไวรัสบีหรือซีแฝงอยู่หรือไม่ หรือเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังหรือไม่
         เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคตับอักเสบจากไวรัสชนิดเรื้อรัง ก็ควรปฏิบัติดังนี้
๑. ไปพบแพทย์ตามนัด และรับการรักษารวมทั้งกินยา ฉีดยา ตามแพทย์สั่ง ซึ่งบางครั้งอาจต้องใช้ยานานเป็นแรมปี หรือตลอดไป
๒. ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
๓. ห้ามบริจาคเลือด
๔. หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยา มีดโกนหนวด และแปรงสีฟันร่วมกับผู้อื่น
๕. ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือใช้ถุงยางอนามัยป้องกันไม่ให้แพร่ให้ผู้อื่น (ยกเว้นผู้ที่ตรวจพบภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสบีและซี)
๖. ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะยาบางชนิดอาจมีพิษต่อตับ ทำให้ตับอักเสบรุนแรงขึ้นได้
ส่วนผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นพาหะ ก็ควรปฏิบัติตัว (ดังในข้อ ๒-๖ ดังกล่าว) และไปพบแพทย์ทุก ๖-๑๒ เดือนเพื่อตรวจเช็กสุขภาพเช่นเดียวกับผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง

การรักษา   
         แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสเพื่อขจัดเชื้อ โดยมักจะให้กินเป็นแรมปีหรือตลอดไป และบางรายอาจให้ฉีดยาอินเตอร์เฟรอน (interferon ซึ่งเป็นสารภูมิต้านทานไวรัส)
         แพทย์จะนัดผู้ป่วยติดตามผลการรักษาทุก ๓-๖ เดือน ซึ่งจะทำการตรวจเลือดเพื่อตรวจวัดปริมาณเชื้อว่าลดลงมากน้อยเพียงใด ตรวจวัดระดับเอนไซม์ตับ (เอเอสที และเอแอลที) ว่าลดลงสู่ระดับปกติ (หายอักเสบ) แล้วหรือไม่ ตรวจระดับสารแอลฟาฟีโทโปรตีน (alphafetoprotein} AFP) ว่าสูงกว่าปกติ (บ่งชี้ว่าอาจมีมะเร็งตับเกิดขึ้น)
         นอกจากนี้ อาจถ่ายภาพตับด้วยอัลตราซาวนด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ดูว่ามีตับแข็งหรือก้อนมะเร็งตับก่อตัวขึ้นหรือยัง
         การติดตามผลและเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนอย่างใกล้ชิดดังกล่าว มีส่วนช่วยให้สามารถค้นพบมะเร็งตับระยะแรกเริ่ม ซึ่งมีวิธีเยียวยาให้หายขาดได้ โดยการฉีดสารเคมีเข้าไปที่ก้อนมะเร็งโดยตรง ทำให้ได้ผลดีและไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง

ภาวะแทรกซ้อน
         ที่สำคัญ คือ ตับแข็ง และมะเร็งตับ ซึ่งถ้าตรวจพบช้าไป ก็อาจหมดทางเยียวยารักษาได้

การดำเนินของโรค
         หากไม่ได้รับการรักษา (โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีอาการและไม่เคยตรวจเช็กเลือด) ก็อาจใช้เวลานาน ๒๐-๓๐ ปีขึ้นไป ที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ตับแข็ง และมะเร็งตับ
         ส่วนผู้ที่ได้รับการรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ตับอักเสบทุเลา และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง หรือหากป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งตับ การเฝ้าติดตามตรวจกับแพทย์ทุก ๓-๖ เดือน ก็จะช่วยให้ค้นพบมะเร็งตับระยะแรกเริ่ม นำไปสู่การเยียวยาให้หายได้

การป้องกัน
๑. ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดบี ซึ่งปัจจุบันมีการฉีดให้ตั้งแต่แรกเกิด ส่วนผู้ที่ไม่เคยฉีดมาก่อน หากเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ทำงานสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือสัมผัสถูกเลือด มีสามีหรือภรรยาเป็นพาหะหรือโรคนี้ มีพฤติกรรมเสี่ยง (เช่น รักร่วมเพศระหว่างชายกับชาย ชอบเที่ยวกลางคืน หรือมีเพศสัมพันธ์แบบเสรี)
๒. ถ้าจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ทราบว่ามีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีหรือยัง ก็ควรใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน
๓. ไม่ใช้เข็มฉีดยา มีดโกน และแปรงสีฟันร่วมกับผู้อื่น
๔. หลีกเลี่ยงการสักตามตัว การฝังเข็ม ถ้าจะทำก็ควรมั่นใจว่าอุปกรณ์ที่ใช้สักมีความปลอดภัยสูง (คือ ไม่ใช้ซ้ำกับผู้อื่นและมีการทำให้ปราศจากเชื้ออย่างถูกต้อง)

ความชุก
         โรคนี้พบได้ค่อนข้างบ่อย  ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวเพราะไม่มีอาการ
         ส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสตับอักเสบชนิดซี
         พบว่าร้อยละ ๗๕ ของผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสชนิดซี และร้อยละ ๕-๗ ของผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสชนิดบี จะกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรังตามมา
 

ข้อมูลสื่อ

379-028
นิตยสารหมอชาวบ้าน 379
พฤศจิกายน 2553
นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ