ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
เลือกใช้ยาอย่างไร ผิวแห้ง แตก คัน
คำถาม
"ผิวแห้ง แตก คัน และอักเสบที่เกิดในฤดูหนาว ควรดูแลรักษาและเลือกใช้ยาอย่างไร?"
ฤดูหนาว...อากาศเย็น แห้ง.....ผิวแตกได้ง่าย
ถ้าใครถามว่า "ฤดูไหนที่คนไทยชอบมากที่สุด?" ก็คงได้คำตอบว่า "ฤดูหนาว" เป็นฤดูที่ประชาชนชาวไทย คนเมืองร้อน หวนหา ฝันถึง อยากให้เกิดขึ้นทุกปี เมื่อเทียบกันทั้ง ๓ ฤดู ไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว คนไทยส่วนใหญ่จะใฝ่ฝันอยากให้อากาศหนาว อากาศเย็นมากที่สุด เพราะเมืองไทยเป็นเมืองร้อน ใกล้เส้นศูนย์สูตร มีอากาศร้อนชื้นเกือบตลอดทั้งปี จนมีการพูดล้อเล่นกันว่า เมืองไทยมี ๒ ฤดูคือ ฤดูร้อนมากกับฤดูร้อนน้อย
อากาศที่หนาวเย็นในหน้าหนาวนี้ ไม่เพียงแต่แค่อุณหภูมิของอากาศจะลดต่ำลงกว่าปกติเท่านั้น แต่ความ ชื้นในอากาศก็ลดลงตามด้วยคือ อากาศแห้ง ซึ่งมีความ ชื้นหรือไอน้ำในอากาศลดลง ทำให้น้ำหรือความชื้นที่อยู่ตามผิวหนังของร่างกายเราระเหยออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ผิวหนังของพวกเราในฤดูหนาวเป็น "ผิวแห้ง" ถ้าแห้งมากขึ้นก็จะทำให้เกิด "ผิวแตก" ตามมาด้วยอาการ "คัน" และ "ผิวหนังอักเสบ"
สรุปว่า เมื่อร่างกายเราพบกับอากาศเย็นและแห้งของฤดูหนาว จะส่งผลให้ผิวหนังของเราเกิดอาการแห้ง แตก คัน และอักเสบ
ผิวแห้ง แตก คัน และอักเสบ พบได้บ่อยทั้งเด็ก และผู้สูงอายุ
อาการผิวแห้งนี้พบได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะภายใต้สภาวะอากาศหนาวเย็นและแห้ง แต่จะพบได้บ่อยในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ทั้งนี้เพราะวัยเด็กผิวหนังของร่างกายยังไม่มีการพัฒนาสมบูรณ์เหมือนผิวหนังของผู้ใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่าผิวหนังเด็กจะบางกว่าผู้ใหญ่ แต่ร่างกายของเด็กจะมีความชุ่มชื้นมากกว่าผู้ใหญ่ ผิวหนังเด็กจึงเป็นผิวบางและชุ่มชื้นกว่าผู้ใหญ่
อีกวัยหนึ่งคือผู้สูงอายุก็มีผิวหนังบางกว่าผู้ใหญ่เช่นกัน เพียงแต่ว่าผู้สูงอายุนี้ผิวหนังจะเริ่มเสื่อมถอยตามอายุที่มากขึ้น จึงเป็นวัยที่มีผิวบางและแห้ง คนทั้งสองวัยนี้คือเด็กและผู้สูงอายุเป็นช่วงวัยที่ผิวหนังบางลง เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงในฤดูหนาว ที่มีความแห้งและเย็นมากขึ้น ผิวของคนทั้งสองวัยนี้จึงมีโอกาสที่จะแห้งและแตกได้ง่ายกว่าคนในวัยอื่นๆ
ส่วนต่างๆ ของร่างกายจะมีความหนาความบางของผิวหนังแตกต่างกัน บางตำแหน่งผิวหนังจะบางกว่าส่วนอื่นๆ เช่น บริเวณแก้มและใบหน้า จึงมักพบอาการผิวแห้งและแตกที่แก้มของเด็กได้บ่อย โดยเฉพาะ เมื่ออากาศหนาวเย็นและแห้ง นอกจากนี้ยังพบอาการผิวแห้งแตกได้ตามแขน ขา หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกายในผู้สูงอายุได้เช่นกัน
การดูแลผิวแห้งและแตก
เมื่อผิวเริ่มแห้งหรือแตก สิ่งที่จะต้องปฏิบัติเพื่อดูแลตนเองง่ายๆ ก็คือใช้ครีม โลชั่น ขี้ผึ้ง หรือน้ำมันชโลมทาผิวบริเวณที่แห้งแตก เพื่อจะช่วยปกป้องผิว โดยครีม โลชั่น ขี้ผึ้ง หรือน้ำมันบำรุงผิวเหล่านี้จะเคลือบผิว ทำให้เกิดชั้นบางๆ บนผิวหนังของเราอีกชั้นหนึ่ง ช่วยปกป้องรักษาผิวหนัง พร้อมทั้งยังให้ความชุ่มชื้นยังคงอยู่ที่ผิวหนัง ผิวของเราก็จะไม่แห้ง ไม่แตก ไม่คัน และไม่เกิดการอักเสบตามมา
บรรดาครีม โลชั่น ขี้ผึ้ง หรือน้ำมันนั้น ถ้าเรียงตาม ประสิทธิภาพการปกป้องผิวหนังจากน้อยไปมากจะเป็นดังนี้ โลชั่น ครีม น้ำมัน และขี้ผึ้ง ซึ่งหมายความ ว่า โลชั่นมีคุณสมบัติปกป้องผิวน้อยกว่าครีม ครีมมีคุณสมบัติในการปกป้องผิวน้อยกว่าน้ำมัน และน้ำมันมีคุณสมบัติในการปกป้องผิวน้อยกว่าขี้ผึ้ง แสดงว่าถ้าเป็นเล็กๆ น้อยๆ หรือผิวเริ่มแตกหรืออากาศไม่หนาวเย็นแห้งมาก ก็สามารถจะใช้โลชั่นหรือครีมก็ได้ผลดี แต่ถ้าเป็นมากๆ หรือผิวแตก คัน และอักเสบมาก อาจต้องใช้น้ำมันหรือขี้ผึ้ง ที่จะช่วยปกป้องความชุ่มชื้นของผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การใช้โลชั่นหรือครีมจะมีการปกป้องความชื้นของผิวหนังได้พอควรไม่มากเท่ากับการ ทาผิวหนังด้วยขี้ผึ้งหรือน้ำมัน แต่การใช้ครีมหรือโลชั่นก็ให้ความรู้สึกสบายผิวหนัง ไม่เหนียวเหนอะหนะเหมือนการใช้ขี้ผึ้งหรือน้ำมัน บางกรณีผิวหนังอาจแห้ง แตก คัน และอักเสบได้ ถ้าเป็นเล็กๆ น้อยๆ การดูแลตนเองด้วยการหาครีม โลชั่น ขี้ผึ้ง หรือน้ำมันมาทา ณ ตำแหน่งที่เป็น ก็จะช่วยบรรเทา อาการได้อย่างดี แต่ถ้าอาการเหล่านี้ไม่ดีขึ้นหรืออาการรุนแรงมากขึ้น มีอาการคันอย่างมาก (จนอดเกาไม่ได้) และมีการอักเสบ ก็อาจจะต้องใช้ยาทาผิวหนังลดการอักเสบเพื่อรักษาอาการดังกล่าว
ยารักษาอาการผิวแห้ง แตก คัน และอักเสบ
ถ้ามีอาการรุนแรงมากขึ้นถึงขั้นมีอาการคันรุนแรง จนอดเกาไม่ได้ และมีอาการอักเสบของผิวหนัง โดยสังเกตจากอาการบวม แดง ผิวหนังจะยกตัวนูนขึ้น เป็นผื่นหรือเป็นตุ่ม และอาจมีน้ำเหลืองด้วย กรณีนี้จะแนะนำให้ใช้ยาครีมสเตียรอยด์ (ซึ่งมีความแรงของยาแตกต่างกัน)
เด็กอาจแนะนำให้ใช้ยาครีมสเตียรอยด์ ชื่อครีมเพร็ดนิโซโลน (prednisolone cream) ทาบริเวณที่ผิวแตก แห้ง คัน และอักเสบ วันละ ๒-๓ ครั้ง หลังอาบน้ำ เช้า-เย็น หลังจากใช้ยาไปประมาณ ๓-๕ วัน อาการเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้น
ผู้สูงอายุอาจแนะนำยาครีมเพร็ดนิโซโลนเหมือนกับที่ใช้ในเด็กทาบริเวณที่ผิวแตก แห้ง คัน และอักเสบ วันละ ๒-๓ ครั้ง หลังอาบน้ำ เช้า-เย็น เช่นเดียวกัน ซึ่งหลังจากใช้ยาไปประมาณ ๓-๕ วัน อาการเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้น แต่รายที่มีความรุนแรงมากขึ้น มีการอักเสบ บวม แดง คันมากขึ้น ก็อาจใช้ยาครีมสเตียรอยด์ชื่อครีมบีตาเมทาโซน (betamethasone cream) ก็ได้ผลดียิ่งขึ้น
อนึ่ง การใช้ยาครีมสเตียรอยด์ทั้งสองชนิดนี้ เป็นยา ที่ได้ผลดี ลดอาการคันและอักเสบของผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อหายดีแล้วก็ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ โดยไม่จำเป็น เพราะอาจจะเกิดผลเสียต่อผิวหนัง ที่อันตรายได้ (ถ้าจำเป็นต้องใช้ติดต่อกันนานๆ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้ติดต่อกันนานๆ ด้วยตนเอง)
การทำความสะอาด..ผิวแห้งและแตก
อีกปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยเรื่องผิวหนังแห้งและแตก คือ การดูแลทำความสะอาดของผิวหนัง ซึ่งคนส่วนใหญ่จะมีความเชื่อว่า "มื่อมีอาการคันที่ผิวหนัง แสดงว่าเกิดความผิดปกติของผิวหนังขึ้น และคิดว่า เกิดความไม่สะอาด เกิดการติดเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อรา" เมื่อมีความเชื่อเช่นนี้ คนส่วนใหญ่จะแก้ปัญหานี้ ๒ แบบคือเพิ่มการฟอกสบู่และใช้ยาแก้เชื้อรา
เพิ่มการฟอกสบู่...เพื่อความสะอาดของผิวจริงหรือ
เริ่มต้นด้วยการดูแลทำความสะอาดบริเวณที่คันมากยิ่งขึ้น (เพื่อทำความสะอาดและขจัดเชื้อโรคนั้นออก ไป) ด้วยการฟอกสบู่มากขึ้น หลายครั้งยิ่งขึ้น ในบางคนอาจเปลี่ยนไปใช้สบู่ที่แรงขึ้น เช่น สบู่ยา (สบู่ที่มีวิธีส่วนผสมของตัวยา) เป็นต้น บางคนอาจนำแอลกอฮอล์มาเช็ดเพื่อทำความสะอาดมากยิ่งขึ้น
"แปลกแต่จริง... ยิ่งทำความสะอาดด้วยการฟอกสบู่ สบู่ยา แอลกอฮอล์มากยิ่งขึ้นเท่าใด.... ผลปรากฏว่าผิวหนังก็จะยิ่งแห้ง แตก คัน และอักเสบมากยิ่งขึ้นเท่านั้น" ดังนั้น การดูแลตนเองด้วยการฟอกสบู่ สบู่ยา หรือแอลกอฮอล์ เพื่อทำความสะอาดหรือกำจัดเชื้อโรคร้ายออกไป กลับทำให้ผิวแห้ง แตก คัน และอักเสบแย่ลงไป หรือรุนแรงกว่าเดิม ยิ่งทำความสะอาดด้วยวิธีนี้ ยิ่งแห้ง ยิ่งคัน ยิ่งแตก และยิ่งอักเสบ ดังนั้น จึงเสนอให้เลิก การดูแลทำความสะอาดผิวหนังของตนเองด้วยวิธีนี้ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมโรคผิวหนังให้แย่ลงไปอีก
เมื่อเข้าใจผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการฟอกล้างเช่นนี้ จึงขอให้หยุดการฟอกล้างที่รุนแรง และขอให้ดูแลผิวตามปกติ หรืออาจลดการชะล้างฟอกสบู่ลงบ้างในช่วงที่อากาศแห้ง หรือเลือกใช้สบู่เด็กที่อ่อนกว่า หรือสบู่ที่มีส่วนผสมของครีมในเนื้อของสบู่ หรือหลังอาบน้ำเสร็จก็หาครีมหรือโลชั่นบำรุงผิวช่วยอีกด้านหนึ่งก็ดี
อาการคันของผิวหนัง เกิดจากเชื้อรา...จริงหรือ
อีกความเชื่อหนึ่งคือ "อาการคันที่ผิวหนัง น่าจะเกิดจากเชื้อโรค และเชื้อที่เป็นต้นเหตุ คือ เชื้อรา ซึ่งเป็น " ความเชื่อที่ผิด ไม่ถูกต้องเสมอไป ทั้งนี้เพราะอาการคันที่ผิวหนังมีสาเหตุทั้งเกิดจากเชื้อราและเกิดจากสาเหตุ อื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อรา
กรณีที่ผิวแห้ง แตก คัน และอักเสบจากอาการแห้ง นี้ ไม่ได้มีสาเหตุจากเชื้อราแน่นอน ถ้าผู้ป่วยไปใช้ยาแก้เชื้อราก็อาจจะไม่ได้ผล หรืออาจจะได้ผลเพียงเล็กน้อยจากตัวครีมของยาแก้เชื้อรา (ไม่ใช่ได้ผลจากตัวยาแก้เชื้อรา) ถ้าเป็นผิวแห้ง แตก คัน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้เชื้อรา เพราะไม่ใช่สาเหตุและไม่ได้ผลคุ้มค่าการ รักษา
สำหรับอาการคันที่ผิวหนังกรณีอื่นๆ อาจเกิดจากเชื้อราหรือไม่ใช่เชื้อราก็ได้ กรณีนี้จะต้องไปปรึกษาแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ หรือเภสัชกร เพื่อให้ได้ใช้ยาที่ถูกต้อง คุ้มค่า บรรเทา รักษาอาการให้ตรงโรค หายไว ทันใจ
หยุด...การเกา...เมื่อเกิดอาการคันที่ผิวหนัง
"เกา" เมื่อมีอาการคัน เป็นสัญชาตญาณของทุกคนที่มักจะเกาเพื่อกำจัดสิ่งผิดปกติที่ผิวหนังออกไปให้ ได้ แต่โรคผิวหนังมันฝังลึกในชั้นผิวหนัง การเกามากๆ บ่อยๆ แรงๆ กลับทำให้เกิดการระคายเคือง เกิดการอักเสบ และอาจเกิดเป็นแผลที่ผิวหนังได้ เป็นการซ้ำเติม ความรุนแรงของโรคให้แย่ลง ลุกลามมากขึ้น
ยิ่งคันก็ยิ่งเกา ยิ่งเกาก็ยิ่งคัน วนเวียนเป็นวัฏจักร ยิ่งลุกลาม รุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงควรหยุดวงจรอุบาทว์นี้ ด้วยการตั้งสติ ชะลอการเกา ด้วยการลูบเบาๆ หรือหยุดละเลิกการเกาได้ยิ่งดี เพื่อลดการซ้ำเติมความรุนแรง บรรเทาอาการให้ลดน้อยลง การรักษาจะได้ผลดีขึ้น
- อ่าน 55,525 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้