• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ต่อมลูกหมากโต

 นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
ต่อมลูกหมากโต

ต่อมลูกหมาก (prostate gland) เป็นต่อมของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ในผู้ชาย อยู่ตรงด้านหลังของคอกระเพาะปัสสาวะในอุ้งเชิงกรานหลังกระดูกหัวหน่าว  ต่อมมี ๕ กลีบ หนักประมาณ ๒๐ กรัมมีหน้าที่สร้างน้ำเมือก (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ของน้ำกาม) เพื่อให้ตัวอสุจิแหวกว่ายและกินเป็นอาหาร

ผู้ชายเมื่อมีอายุมากกว่า ๔๐ ปีขึ้นไป  ต่อมลูกหมากจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเป็นก้อนโต แล้วจะโตขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ  เมื่อโตมากจะเกิดแรงกดต่อท่อปัสสาวะทำให้มีอาการปัสสาวะลำบาก ซึ่งมักจะเริ่มแสดงอาการเมื่อมีอายุมากกว่า ๕๕ ปีขึ้นไป และจะพบอาการผิดปกติได้มากขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น  บางคนอาจมีต่อมลูกหมากโตโดยไม่มีอาการแสดงก็ได้

ชื่อภาษาไทย  ต่อมลูกหมากโต
ชื่อภาษาอังกฤษ  Benign prostatic hyperplasia (BPH )

สาเหตุ

ยังไม่ทราบแน่ชัด  เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศชายที่มีชื่อว่าไดไฮโดรเทสโทสเทอโรน (dihydrotestosterone) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมลูกหมากโต

การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการแสดงและการ ใช้นิ้วมือตรวจทางทวารหนัก (โดยการใส่ถุงมือและมีสารหล่อลื่น) คลำได้ก้อนต่อมลูกหมากโตกว่าปกติ
การวินิจฉัยที่แน่ชัด  จำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษ เพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพรังสีทางเดินปัสสาวะ การตรวจอัลตราซาวนด์  การใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ  การนำปัสสาวะไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ดูว่ามีการติดเชื้อหรือเลือดออกหรือไม่) การตรวจเลือด (ดูว่ามีภาวะไตวายหรือไม่)  การตรวจสารพีเอสเอ (PSA ซึ่งย่อมาจากคำว่า  prostate specific antigen) ในเลือด ดูว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่) เป็นต้น    

การดูแลตนเอง
หากมีอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ต้องใช้แรงเบ่งนานๆ ปัสสาวะไม่พุ่ง กลางคืนต้องลุกขึ้นมาถ่ายปัสสาวะ บ่อย หรือปัสสาวะเป็นเลือด ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยสาเหตุให้แน่ชัด  เมื่อพบว่าเป็นต่อมลูกหมากโตก็ควรกินยารักษา หรือทำการผ่าตัดแก้ไขตามคำแนะนำของแพทย์  

การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาต่อมลูกหมากโตตามความรุนแรงของโรค ดังนี้
๑. ในรายที่เป็นระยะแรกเริ่ม ซึ่งมีอาการอยู่เพียงเล็กน้อย ก็จะไม่ให้การรักษาใดๆ แต่จะติดตามอาการดูเป็นระยะ
๒. ในรายที่มีอาการปัสสาวะลำบากมากขึ้น มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต หรือเป็นมากแล้วแต่อยู่ระหว่างรอรับการผ่าตัด หรือมีข้อห้ามในการผ่าตัด แพทย์จะให้การ รักษาด้วยยา เช่น  พราโซซิน (prazosin) เทราโซซิน (tera-zosin) ดอกซาโซซิน (doxazosin) ไฟนาสเตอไรด์ (fina-steride) เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้การถ่ายปัสสาวะได้คล่องขึ้น
๓. ในรายที่ใช้ยารักษาไม่ได้ผล หรือมีอาการปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเป็นเลือดบ่อย เป็นโรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะบ่อย มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือผนังกระเพาะปัสสาวะหย่อนยานหรือเป็นถุงโป่งพอง  แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมีอยู่หลายวิธี  ใน ปัจจุบันนิยมผ่าตัดโดยการใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะ (transurethral resection of the prostatic หรือ TURP) แต่ถ้าต่อมลูกหมากมีขนาดโตมาก ก็อาจต้องทำการผ่าตัด  โดยการเปิดเข้าทางหน้าท้อง
ผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจเลือกรักษาด้วยวิธีอื่นที่ง่ายและมีความเสี่ยงน้อยกว่าการผ่าตัด เช่น

  • การขยายท่อปัสสาวะโดยการใส่ท่อคาไว้ (prostatic urethral stent) ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดไม่ได้  หรือปฏิเสธการผ่าตัด
  • การจี้ต่อมลูกหมากด้วยแสงเลเซอร์หรือไฟฟ้า
  • การใช้คลื่นไมโครเวฟ คลื่นอัลตราซาวนด์ หรือคลื่นวิทยุ ทำให้เกิดความร้อนบริเวณต่อมลูกหมากจนเนื้อเยื่อตาย ต่อมลูกหมากก็จะฝ่อเล็กลง ทำให้ปัสสาวะ ได้คล่องขึ้น

หากรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ไม่ได้ผล ก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อน
หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น

  • ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ เป็นต้น ถ้าปล่อยให้เป็น เรื้อรัง ก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้
  • ทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะล้าจากการที่ ต้องใช้แรงเบ่งถ่ายปัสสาวะบ่อยๆ อาจทำให้ผนังกระเพาะ ปัสสาวะหย่อนยานหรือเป็นถุงโป่งพอง
  • ทำให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

ในรายที่มีการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะอาจทำให้ท่อไตและไตบวม
การดำเนินโรค
หากไม่ได้รับการรักษา อาการจะค่อยๆ เป็นรุนแรง มากขึ้นทุกขณะ จนในที่สุดอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ต่างๆ ดังกล่าว
หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรก ก็มักจะหายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังได้รับการผ่าตัด      

ความชุก
โรคนี้พบมากในผู้สูงอายุ พบว่าผู้ชายอายุ ๕๕-๗๔ ปี จะมีอาการแสดงของโรคนี้ประมาณร้อยละ ๒๐ 

 

 

ข้อมูลสื่อ

345-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 345
มกราคม 2551
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ