• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รูมาตอยด์

รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ  กลุ่มวิชาเภสัชโภชนศาสตร์ โครงการบัณฑิตศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รูมาตอยด์...ทำอย่างไร คลายโรค

โรครูมาตอยด์คืออะไร?
โรครูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ลักษณะเด่นคือ มีการเจริญของเยื่อบุข้ออย่างมาก เกิดการลุกลามและทำลายกระดูกและข้อได้ในที่สุด  ระยะแรกผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลีย ปวดตามข้อ มีอาการฝืดขัดข้อเป็นเวลานาน (ตอนเช้า) เมื่อมีอาการชัดเจนข้อจะมีการบวม ร้อน และปวด ส่วนที่พบบ่อยคือข้อของนิ้วมือ ข้อมือ ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า

อาการของข้ออักเสบจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป บางรายอาจมีอาการรุนแรงแบบเฉียบพลันได้ โรครูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุด แต่จะมีกลุ่มโรคข้ออักเสบเรื้อรังอื่นๆ อีกมากที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรครูมาตอยด์ ผู้ป่วยจึงควรได้รับการตรวจจากแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและการดูแลรักษาที่ถูกต้องต่อไป
พบว่าโรคนี้เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อบางชนิด และมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมได้  โรครูมาตอยด์เกิดได้กับประชากรทุกกลุ่มอายุ แต่ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยวัยกลางคน และเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 
 
 การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรครูมาตอยด์
อาการของโรคต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์  ผู้ป่วยจึงต้องไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและรับยาอย่างสม่ำเสมอ  ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่ใช้ในการควบคุมและรักษาโรครูมาตอยด์ให้ได้ผลดี ยาเหล่านี้ได้แก่ยาแอสไพรินและยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ผู้ป่วยแต่ละรายจะตอบสนองต่อยาเหล่านี้แตกต่างกันออกไป
ยาเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียงทางด้านระบบทางเดินอาหารและระบบไตได้ ในรายที่เป็นรุนแรง มีอาการมากและข้อถูกทำลายมาก แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่ายาระดับที่ ๒ ซึ่งได้แก่ ยาต้านมาลาเรีย ยาทองคำ ยาเมโทเทรกเซต ยาซัลฟาซาลาซีน เป็นต้น ยาเหล่านี้ไม่มีฤทธิ์ในการระงับการเจ็บปวด แต่จะช่วยระงับการลุกลามของโรคได้

การพักผ่อนและการบริหารร่างกาย มีส่วนสำคัญมากในการรักษาผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ การพักผ่อนจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น ไม่มีอาการอ่อนเพลีย แต่การพักจะต้องสมดุลกับการบริหารร่างกายเพื่อไม่ให้ข้อติดขัด  การป้องกันไม่ให้ข้อถูกทำลายมากขึ้น ผู้ป่วยควรเรียนรู้ และหลีกเลี่ยงอิริยาบถที่อาจส่งเสริมให้ข้อถูกทำลายเร็วขึ้น เช่น การนั่งขัดสมาธิในกรณีที่ข้อเข่าอักเสบ         

กินอยู่อย่างไรเมื่อมีโรครูมาตอยด์ (เสริมจากการกินยาที่ได้รับจากแพทย์)
เลือกกินอาหารให้ได้สารอาหารครบถ้วน บทความจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกิ้น ประเทศสหรัฐอเมริกากล่าวว่า ผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์บางคนเป็นโรคขาดอาหาร  เนื่องจากไซโตไคน์บางตัวที่ร่างกายผลิตเมื่อมีการอักเสบเรื้อรังก่อให้เกิดอัตราเผาผลาญที่สูงขึ้น เกิดอาการน้ำหนักลดในผู้ป่วย

นอกจากนี้ พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะขาดกรดโฟลิก วิตามินซี ดี บี๖ บี๑๒ วิตามินอี แคลเซียม แมกนีเซียม สังกะสี และเซลีเนียม ผู้ป่วยที่อยู่บ้านคนเดียวอาจไม่ไปตลาดบ่อยๆ ประกอบอาหารน้อยลงเนื่องจากข้อติดขัด  จึงอาจจะกินอาหารน้อยลงและขาดธาตุอาหารได้ ดังนั้นจะต้องดูแลผู้ป่วยกรณีนี้เป็นประการแรก กินแคลเซียมและวิตามินดีเพิ่มเติม รับแดดอ่อน ยามเช้าสัปดาห์ละ ๓ วัน เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนในวันหน้า  เลิกกินอาหารที่ก่อให้เกิดอาการ ผู้ป่วยบางคนการกินอาหารบางชนิด เช่น นม ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี เนื้อสัตว์ หรือเนื้อสัตว์ปรุงสำเร็จเช่นไส้กรอก พืชตระกูลมะเขือ (มะเขือเทศ มันฝรั่ง และมะเขือทุกชนิด) ทำให้อาการของโรคกำเริบ ให้ลองหยุดอาหารแต่ละชนิดดังกล่าว ๒ สัปดาห์ สังเกตอาการ และกลับมากินอาหารต้องสงสัยนั้นใหม่ ถ้าอาการโรคข้อรูมาตอยด์กำเริบก็ให้หยุดอาหารนั้นๆ ไปเลย
กินเนื้อปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า-๓ นักวิจัยมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกิ้นแนะนำอาหารดังกล่าวต่อ  ผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์ แต่ไม่แนะนำการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีน้ำมันโอเมก้า-3 ดังกล่าว เพราะปริมาณกรดไขมันที่มากเกินจะมีผลต่อการแข็งตัวของเลือดในผู้ป่วยได้

ดื่มน้ำต้มกระชายหรือกระชายดิบ รากกระชาย ๕ แง่ง (มีเหง้าด้วยก็ได้) ทุบพอแตกใส่ในกาน้ำ เติมน้ำครึ่ง ลิตร ตั้งไฟจนน้ำเดือดยกลง ดื่มน้ำต้มกระชายแทนน้ำดื่ม จนหมดกา เติมน้ำใส่กาอีกครึ่งลิตรต้มจนเดือดเช่นเดิม เมื่อน้ำต้มจืดไม่มีรสให้เปลี่ยนรากกระชาย ใช้วันละ ๒ ชุดก็พอ แต่งรสได้ด้วยหญ้าหวานหรือน้ำผึ้งเล็กน้อย หรือกินกระชายดิบขนาดเท่า ๒ ข้อนิ้วก้อย วันละ ๓ เวลาก่อนอาหารโดยการเคี้ยวกลืน จะไม่เห็นผลในวันแรกอย่าเพิ่งหยุดกินเสีย
กระชายมีสารต้านอักเสบ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราหลายชนิด มีสารต้านอนุมูลอิสระมาก ช่วยการไหลเวียนเลือดที่ดี เป็นยาอายุวัฒนะในตำรายาไทย หลายขนานอีกด้วย

กินขมิ้นชัน ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำกินสารเคอร์คูมิน ๔๐๐ มก. วันละ ๓ ครั้ง แต่ผลิตภัณฑ์ขมิ้นชันที่ผลิตในประเทศไทยไม่ระบุปริมารสารออกฤทธิ์ จึงไม่ทราบปริมาณการกิน หรือกินขิงสดวันละ ๑๐ กรัมทุกวันแทนได้
รับการนวดแผนไทย สัปดาห์ละ ๑ ครั้ง
ออกกำลังกายด้วยไทเก้กหรือโยคะ สัปดาห์ละ ๓-๔ ครั้ง
รายงานจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐ-อเมริกาพบว่า การรำไทเก้กเป็นวิธีออกกำลังกายแบบยืดหยุ่นและเพิ่มสมรรถภาพการเคลื่อนไหวที่ดีมาก ได้ประโยชน์ด้านการผ่อนคลายอารมณ์ด้วย 
ผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์สูงอายุรายงานว่าอาการปวดข้อลดลงหลังการออกกำลังกายด้วยการรำไทเก้ก ทั้งนี้สารเอนดอร์ฟินที่หลั่งหลังการออกกำลังกายก็ช่วยลดอาการปวดได้เช่นกัน

โยคะเป็นการออกกำลังกายที่เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และไขข้อ ท่าโยคะต่างๆ ทำให้ข้อต่อแข็งแรงขึ้นและสามารถถูกใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ลดอาการข้อติด ช่วยควบคุมระดับกรดยูริกในร่างกาย  ถ้าฝึกโยคะเป็นประจำจะทำให้ควบคุมน้ำหนักได้ดี ซึ่งจะช่วยลดภาระของข้อเข่าในผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์ด้วย
รายงานทางการแพทย์จากประเทศสหราชอาณาจักรกล่าวว่า ผู้ป่วยที่ฝึกโยคะเป็นประจำมีการเคลื่อนไหว ดีขึ้น กำมือได้แน่นขึ้นและมีกำลังการกำมากขึ้น อาการปวดข้อน้อยลง ผลทางห้องปฏิบัติการดีขึ้นด้วย เห็นผลได้ภายใน ๓ เดือน

 แนะนำโยคะอาสนะเบื้องต้น ค่อยๆ หัดไปวันละท่า นั่งดูโทรทัศน์ก็ฝึกสุขอาสนะ ยืนส่องกระจกก็ฝึกท่าภูเขา ท่าของคุณจะไม่สวยเหมือนนางแบบในโทรทัศน์ ทำเท่าที่ได้และไม่เจ็บ ถ้าเจ็บให้หยุด วันหน้าทำใหม่    ผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์ไม่เอาท่าสวยเอาความคล่องตัวของข้อดีขึ้น พอรู้สึกว่าร่างกายดีขึ้นก็ฝึกท่าจำนวนมากขึ้นในครั้งเดียวกัน เมื่อทำมากกว่า ๕ ท่าในครั้งเดียวให้จบด้วยชวาสนะทุกครั้ง ผู้สูงอายุจะฝึกให้มีลูกหลานคอยดูอยู่ด้วย

นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๓ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการศึกษาและเสนอวิธีการการแก้ไขปัญหาสุขภาพ ชุมชนตามความต้องการของประชากรในพื้นที่ จากการออกเรียนรู้ชุมชน ณ บ้านห้วยโรง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๐ อาการปวด เมื่อยเป็น ๑ ใน ๔ ปัญหาสุขภาพหลักของประชากรที่มีอาชีพทำนาทำสวน และผู้สูงอายุในหมู่บ้านดังกล่าว 

ชาวบ้าน ๔๐ คนขอเลือกการฝึกโยคะเป็นการออกกำลังกายเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ ชาวบ้านเชื่อว่าสามารถฝึกโยคะได้ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ ภิกษุและคนชรา   ไม่ว่าจะมีสมรรถนะร่างกายอย่างไร และเชื่อว่าการฝึกโยคะดีกว่าการไม่ทำอะไรให้ตัวเองเลย สามารถฝึกได้เองที่บ้าน ตามเวลาที่ตนเองจัดสรรได้ และไม่ต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพง คณะนักศึกษาจึงใช้ความรู้ที่เรียนมาเลือกกล้ามเนื้อสำคัญเพื่อการออกกำลังกายเบื้องต้น และใช้กล้ามเนื้อสำคัญเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้เลือกท่าโยคะเรียบง่ายคล้ายที่นำเสนอข้างต้น สร้างโปรแกรมฝึกโยคะยาว  ๑๕ นาทีให้กับชาวบ้าน จัดการสาธิต อบรมหมู่ แจก

 แผ่นพับแสดงท่าให้ไปฝึกเองที่บ้าน เยี่ยมบ้านเพื่อให้กำลังใจ และนัดประชุมชาวบ้านอีกครั้งเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของท่าโยคะและติดตามผลในเวลา ๔ วันต่อมาก่อนเดินทางกลับมหาวิทยาลัย ชาวบ้านที่มารับการอบรมมีอายุตั้งแต่ ๙- ๗๒ ปี ผู้สูงอายุตั้งใจฝึกมากกว่าเด็กที่อยู่ไม่นิ่งตลอดเวลา

วันติดตามผลมีคนเข้าประชุมมากกว่าวันแรก เพราะชาวบ้านไปฝึกโยคะเองที่บ้านและพบความแตก-ต่างด้านคุณภาพชีวิตซึ่งเห็นได้ในการฝึก ๑๕ นาทีเพียง ๔ วัน จึงอุ้มลูกจูงหลานมารับการฝึกเพิ่มเติม  ผู้สูงอายุและกลุ่มทำนารายงานว่า หลังฝึกโยคะเพียงวันละ ๑๕ นาทีพบว่าอาการปวดเมื่อยและข้อเข่าขัดลดน้อยลง นอนหลับได้สนิท และผู้สูงอายุกินอาหารได้มากขึ้น จึงมาอบรมซ้ำเพื่อได้ประโยชน์สูงสุด

ท่านเจ้าอาวาสวัดห้วยโรงก็สามารถฝึกท่าได้ในกุฏิ ส่วนตัวเช่นกัน เห็นว่าเป็นสิ่งดีมีประโยชน์สมควรฝึก    ต่อเนื่องในกลุ่มชาวบ้าน
ฝึกโยคะดูนะคะ ชวนลูกหลานฝึกไปพร้อมกัน  ผู้ป่วยอาจพบว่าตนยืดหยุ่นมากกว่าเด็กติดเกมที่ไม่เคยนั่งพับเพียบก็ได้ 

 

 


 

ข้อมูลสื่อ

346-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 346
กุมภาพันธ์ 2551
บทความพิเศษ
รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ