• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เกานต์

นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
เกาต์

เกาต์ เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้ร่างกายมีการสะสมของกรดยูริกมากเกิน เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยที่แน่ชัด และติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ซึ่งจะช่วยให้ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นคนปกติทั่วไป
ชื่อภาษาไทย  เกาต์
ชื่อภาษาอังกฤษ Gout

สาเหตุ
เกิดจากร่างกายมีกรดยูริก (uric acid)* สะสมมาก เกินไป ส่วนใหญ่เนื่องมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรม จึงมักพบว่ามีพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เป็นโรคนี้ร่วมด้วย
ส่วนน้อยอาจมีสาเหตุจากร่างกายมีการสลายตัวของเซลล์มากเกินไป เช่น โรคทาลัสซีเมีย (โรคพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติและแตกสลายง่าย) มะเร็งเม็ดเลือดขาว การใช้ยาเคมีบำบัด หรือฉายรังสีในผู้ป่วยมะเร็ง บางรายอาจเกิดจากไตขับกรดยูริกได้น้อยลง (เช่น ภาวะไตวาย) หรือเกิดจากผลข้างเคียงของยา เช่น ยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอาไซด์ เป็นต้น

อาการ
มีอาการปวดข้อรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันทันที     ถ้าเป็นการปวดครั้งแรกมักจะเป็นเพียงข้อเดียว ข้อที่พบมาก ได้แก่ นิ้วหัวแม่เท้า (ส่วนข้อเท้า ข้อเข่า ก็อาจพบในผู้ป่วยบางราย) ข้อจะบวมและเจ็บมากจนเดิน    ไม่ไหว ผิวหนังในบริเวณนั้นจะตึง ร้อนและแดง และจะพบลักษณะจำเพาะคือ ขณะที่อาการเริ่มทุเลา ผิวหนังในบริเวณที่ปวดนั้นจะลอกและคัน

ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการปวดตอนกลางคืน และมักจะเป็นหลังดื่มเหล้า เบียร์ หรือไวน์ (ทำให้ไตขับกรดยูริกได้น้อยลง) หรือหลังกินเลี้ยง หรือกินอาหารมากผิดปกติ หรือเดินสะดุด บางครั้งอาจมีอาการขณะมีภาวะเครียดทางจิตใจ เป็นโรคติดเชื้อ หรือได้รับการผ่าตัดด้วยสาเหตุอื่น บางครั้งอาจมีไข้ หนาวสั่น ใจสั่น (ชีพจรเต้นเร็ว) อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร

ในการปวดข้อครั้งแรก มักจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วัน (แม้จะไม่ได้รับการรักษาก็จะค่อยๆ หายไปได้เอง) ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ในระยะแรกๆ อาจกำเริบทุก ๑-๒ ปี โดยเป็นที่ข้อเดิม แต่ต่อมาจะเป็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ เช่น ทุก ๔-๖ เดือน แล้วเป็นทุก ๒-๓ เดือน จนกระทั่งทุกเดือน หรือเดือนละหลายครั้ง และระยะการปวดจะนานวันขึ้นเรื่อยๆ เช่น กลายเป็น ๗-๑๔ วัน จนกระทั่งหลายสัปดาห์หรือปวดตลอดเวลา ส่วนข้อที่ปวดก็จะเพิ่มจากข้อเดียวเป็น ๒-๓ ข้อ (เช่น ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อเท้า นิ้วมือ นิ้วเท้า) จนกระทั่งเป็นเกือบทุกข้อ

ในระยะหลัง เมื่อข้ออักเสบหลายข้อ ผู้ป่วยมักสังเกตว่ามีปุ่มก้อนขึ้นที่บริเวณที่เคยอักเสบบ่อยๆ เช่น ข้อนิ้วเท้า ข้อนิ้วมือ ข้อศอก ข้อเข่า รวมทั้งที่หู เรียกว่าตุ่มโทฟัส (tophus/tophi) ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของสารยูริก ปุ่มก้อนนี้จะโตขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งแตกออกมีสารขาวๆ คล้ายชอล์กหรือยาสีฟันไหลออกมา กลายเป็นแผลเรื้อรัง หายช้า ในที่สุดข้อต่างๆ จะค่อยๆ พิการและใช้งานไม่ได้

การแยกโรค
อาการข้ออักเสบ มีอาการปวด บวม แดง ร้อน เพียง ๑-๒ ข้อ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

  • เกาต์เทียม (pseudo gout) มีอาการคล้ายเกาต์ มากจนบางครั้งแยกกันไม่ออก เกิดจากมีผลึกแคลเซียม ไพโรฟอสเฟต (calcium pyrophosphate) พอกที่ข้อ
  • ไข้รูมาติก (rheumatic fever) พบในเด็กอายุ ๕-๑๕ ปี เป็นส่วนใหญ่ มีอาการอักเสบของข้อใหญ่ๆ เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อศอก เพียง ๑-๒ ข้อ ผู้ป่วยอาจมีประวัติเจ็บไข้ เจ็บคอ (ทอนซิลอักเสบ) ก่อนจะมีอาการปวดข้อ ๑-๔ สัปดาห์
  • โรคติดเชื้อที่ข้อ (pyogenic arthritis) เกิดจากการบาดเจ็บหรือเกิดจากเชื้อแพร่กระจายมาจากส่วนอื่น ของร่างกาย หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อ เช่น ฝี คออักเสบ ปอดอักเสบ ไตอักเสบ หนองใน เป็นต้น

    อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด ก็ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องทันกาล

การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการแสดง ซึ่งโรคเกาต์จะมีลักษณะโดดเด่น คือ มีการอักเสบรุนแรงของข้อหัวแม่เท้าเพียง ๑ ข้อ เกิดขึ้นฉับพลันหลังดื่มเบียร์ หรือไวน์ กินเลี้ยง หรือกินอาหารที่มีกรดยูริกสูง

การวินิจฉัยที่แน่ชัด จำเป็นต้องทำการเจาะเลือด ตรวจพบระดับกรดยูริกในเลือดสูง (ค่าปกติ ๓-๗ มิลลิ-กรัม ต่อเลือด ๑๐๐ มิลลิลิตร) ถ้าผลการตรวจไม่ชัดเจน อาจต้องทำการเจาะดูดน้ำจากข้อที่อักเสบไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ พบลักษณะจำเพาะของผลึกยูเรต (สารที่แปลงมาจากกรดยูริก) นอกจากนี้ อาจต้องทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ ตรวจคลื่นหัวใจ ถ้าสงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเกาต์ หรือมีสาเหตุจากโรคอื่น

การดูแลตนเอง
หากมีอาการปวด บวม แดง ร้อนที่ข้อ ไม่ว่าจะมีลักษณะใดๆ ก็ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัด ไม่ควรซื้อยาแก้ข้ออักเสบกินเอง ซึ่งอาจช่วยระงับอาการอักเสบได้ชั่วคราว แต่ไม่ได้แก้ไขต้นตอของโรค ทำให้เกิดผลแทรกซ้อนตามมาได้ เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคเกาต์ ควรกินยารักษาและติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง อย่าหยุดการรักษาเอง แม้จะมีอาการเป็นปกติแล้วก็ตาม เนื่องเพราะโรคนี้ยังแฝงอยู่ในร่างกายแบบภัยเงียบ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาในภายหลังได้ ถ้าขาดการให้ยาควบคุมโรค

นอกจากนี้ ควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ ๓ ลิตร ทุกวัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วในไต
  • ห้ามดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ ซึ่งอาจทำให้โรคเกาต์กำเริบได้
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ สัตว์ปีกทุกชนิด กะปิ น้ำสกัดจากเนื้อ ไข่แมงดา พืชผักหน่ออ่อน (เช่น ถั่วงอก ยอดกระถิน ยอดแค สะเดา ชะอม หน่อไม้ แอสพารากัส ยอดผัก เป็นต้น) ผู้ป่วยต้องคอยสังเกตว่าอาหารอะไรที่ทำให้โรคกำเริบ ก็ควรหลีกเลี่ยงเสีย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจทำให้โรคกำเริบ เช่น แอสไพริน ยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอาไซด์
  • ถ้าอ้วน ควรลดน้ำหนักลงทีละน้อย อย่าลดฮวบฮาบ อาจทำให้มีการสลายตัวของเซลล์อย่างรวดเร็ว ทำให้มีกรดยูริกสูง โรคเกาต์กำเริบได้
  • ถ้าพบมีตุ่มโทฟัสตามผิวหนัง ห้ามบีบแกะ หรือใช้เข็มเจาะให้แตก เพราะอาจทำให้กลายเป็นแผลเรื้อรังได้

การรักษา
แพทย์จะให้ยารักษาโรคเกาต์ ๒ กลุ่ม ได้แก่
๑. ยาแก้ข้ออักเสบ ในรายที่เป็นข้ออักเสบเฉียบพลัน นิยมให้ยากลุ่มต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ไดโคลฟีแนก (diclofenac) เป็นต้น ซึ่งจะให้กินช่วงระยะสั้นๆ และหยุดยาเมื่ออาการทุเลาเป็นปกติแล้ว ยากลุ่มนี้ไม่ควรกินติดต่อกันนานๆ อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะ ลำไส้ แพ้ยา หรือไตวายได้
ในรายที่เป็นเรื้อรัง หรือมีข้อห้ามใช้ยาดังกล่าวข้างต้น แพทย์จะให้ลดการอักเสบของข้ออีกชนิดหนึ่ง ได้แก่ คอลชิซีน (colchicine) ซึ่งถ้ากินในขนาดสูง อาจทำให้มีอาการท้องเดินได้ สำหรับผู้ที่กลายเป็นโรคเกาต์ชนิดเรื้อรัง แพทย์จะให้ผู้ป่วยกินคอลชิซีน วันละ ๑ เม็ด ทุกวันนานเป็นแรมปี หรือตลอดไป
๒. ยาควบคุมยูริก เพื่อลดกรดยูริกในเลือดให้สู่ระดับปกติ ก็จะช่วยป้องกันการกำเริบของโรคนี้ และมีผลป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวได้ แพทย์นิยมให้ผู้ป่วยกินยาอัลโลพูรินอล (allopurinol)     ซึ่งมีฤทธิ์ลดการสร้างกรดยูริกในร่างกาย วันละ ๑-๒ เม็ดทุกวันอย่างต่อเนื่องยาวนานหรือตลอดชีวิต ผู้ป่วยบางคนอาจแพ้ยานี้ได้ ถ้าแพ้ยา แพทย์อาจให้ยาขับกรดยูริก ในเลือด ได้แก่ โพรเบเนซิด (probenecid) แทน

ในการรักษาโรคเกาต์ ซึ่งถือเป็นโรคเรื้อรังชนิด   หนึ่ง รวมทั้งอาจมีโรคเบาหวาน หรือความดันเลือดสูง ร่วมด้วย จำเป็นต้องติดตามรักษากับแพทย์อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ทำการตรวจดูระดับกรดยูริกในเลือดทุก     ๓-๖ เดือน ให้แน่ใจว่าควบคุมอยู่ในระดับปกติได้ดีตลอดเวลา

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักเข้าใจผิดว่าหายจากโรคแล้ว เมื่อไม่มีอาการปวดข้อ ก็มักจะหยุดกินยา และจะมาพบแพทย์เป็นครั้งคราว เฉพาะเวลามีอาการข้ออักเสบ พฤติกรรมเช่นนี้ มักทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นโรคเกาต์ชนิดเรื้อรัง และเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาในที่สุด

ภาวะแทรกซ้อน
มักเกิดกับผู้ป่วยที่ขาดการดูแลรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ได้แก่ ข้อพิการ การเกิดนิ่วในไต (ซึ่งอาจทำให้เกิดไตอักเสบ และ     ไตวายเรื้อรังได้) การเกิดตุ่มโทฟัสใต้ผิวหนัง (เช่น บริเวณข้อต่างๆ) ซึ่งถ้าแตกมักจะทำให้กลายเป็นแผลเรื้อรัง แลดูน่ารังเกียจ

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยบางคนอาจมีโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง ภาวะไขมันในเลือด    สูงร่วมด้วย ซึ่งถ้าขาดการรักษาควบคุม ก็อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือสมองตีบ หรือไตวายเรื้อรังได้

การดำเนินโรค
โรคนี้ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรก   และติดตามการรักษาอย่างจริงจังต่อเนื่อง ก็มักจะมีชีวิตยืนยาวเช่นคนปกติ แต่ถ้าปล่อยปละละเลย ขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็มักจะมีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวตามมาได้

การป้องกัน
ผู้ที่มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว เช่น มีพ่อ แม่  พี่ น้อง เป็นโรคนี้ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กระดับยูริกในเลือดเป็นระยะ ถ้าพบว่ามีกรดยูริกในเลือดสูง หรือมีอาการของโรคเกาต์ (ข้ออักเสบ) กำเริบระยะแรก จะได้หาทางดูแลรักษาจนสามารถควบคุมโรคได้ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน และมีชีวิตยืนยาวได้

ความชุก
พบได้ประมาณ ๒-๔ คนในประชากร ๑,๐๐๐ คน พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ ๙-๑๐ เท่า ส่วนมากจะพบในผู้ชายอายุมากกว่า ๓๐ ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงพบได้น้อย ถ้าพบมักจะเป็นหลังวัยหมดประจำเดือน 

* กรดยูริก เป็นสารชนิดหนึ่งที่เป็นผลมาจากการเผาผลาญสารเพียวรีน  (purine ซึ่งมีมากในเครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ถั่วต่างๆ พืชผักหน่ออ่อนหรือยอดอ่อน) และการสลายตัวของเซลล์ในร่างกาย จึงเป็นสิ่งที่พบได้เป็นปกติในเลือดของคนเรา และจะถูกขับออกทางไต แต่ถ้าหากว่าร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากเกินไป หรือไตขับกรดยูริกได้น้อยลง ก็จะทำให้มีกรดยูริกคั่งอยู่ในร่างกายมากผิดปกติ ซึ่งจะตกผลึกสะสมอยู่ตามข้อ ผิวหนัง ไตและอวัยวะอื่นๆ ทำให้เกิดอาการไม่สบายต่างๆ

 

 

 

 


 

ข้อมูลสื่อ

346-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 346
กุมภาพันธ์ 2551
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ