• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาเจริญอาหาร

 ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด  มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
ยาเจริญอาหาร

คำถาม    "ลูกเบื่ออาหาร ควรใช้ยาเจริญอาหารไหม?  ชนิดใดจึงปลอดภัย?"

"ลูก...ดุจ..แก้วตา ดวงใจ"
คำกล่าวคำนี้คงไม่เกินความจริงสำหรับพ่อแม่ทุกคนที่รักและห่วงใยลูกหลานของตนเอง อะไรก็ตามที่ดีมีประโยชน์กับลูกหลานของตนเองเป็นต้องสรรหามาให้ได้อย่างเต็มความสามารถและอย่างดีที่สุด เพื่อให้ลูกน้อยได้มีพัฒนาการตามวัยเจริญเติบใหญ่ เป็นมิ่งเป็นขวัญให้แก่ครอบครัว

หนึ่งในจำนวนนั้นคือเรื่อง "เจริญอาหาร" หรือ การกินอาหารของลูกหลานก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้ปกครองให้ความสนใจ เพราะสารอาหารที่ลูกได้รับจะส่งผลต่อการเจริญเติบโต ความสมบูรณ์ ความแข็งแรง และพัฒนาการ ของอวัยวะส่วนต่างๆ ของลูกหลานในอนาคต

ก่อนที่จะตอบคำถามข้างต้นให้กระจ่างชัด เข้าใจง่าย และน่าสนใจ ขอนำพาดหัวข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ รายวันฉบับหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเจริญอาหารของลูกน้อยมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

หนังสือพิมพ์รายวัน คมชัดลึก ฉบับวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๑ รายงานข่าวว่า "อย.จี้แก้สูตรยาเจริญอาหาร แยกยาแก้แพ้-สเตียรอยด์ออกจากกัน" เป็นข่าวสืบเนื่องจากที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้รายงานเมื่อประมาณกลางเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ว่า มีผู้ป่วยเด็ก ๒ ราย หญิงหนึ่งชายหนึ่ง เดิมอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ มีอาการผิดปกติ ดังนี้

"เด็กชายอายุ ๔ ปี มีอวัยวะเพศชายขนาดยาว ๑๐ เซนติเมตร มีส่วนสูงเท่ากับเด็กอายุ  ๘  ปี และมีน้ำหนักเท่ากับเด็กอายุ ๙ ปี"
"เด็กหญิงมีอายุ ๒ ปี มีอวัยวะเพศหญิงขนาดใหญ่ มีขนที่หัวหน่าว ขนรักแร้ มีส่วนสูงเท่ากับเด็กอายุ ๔ ปี และมีน้ำหนักเท่ากับเด็กอายุ ๘ ปี"

คณะแพทย์ได้แถลงข่าวว่าเคยมีรายงานผู้ป่วยเด็กผิดปกติเหมือนกับเด็กทั้งสองคนนี้แล้วในอดีตหลายครั้ง พบทั้งที่โรงพยาบาลรามาธิบดีและโรง-พยาบาลศิริราช เด็กกลุ่มนี้มักมีการเจริญเติบโตเกินกว่าวัยของตนเอง เด็กในวัย ๒-๔ ขวบแต่มีพัฒนาการเหมือนในวัยรุ่น ทั้งนี้เพราะ "ได้รับยาฮอร์โมนเพศชายติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ" (ฮอร์โมนเพศชายในทางการแพทย์จัดเป็นสารประเภทสเตียรอยด์ชนิดหนึ่ง)
แพทย์ได้กล่าวเสริมว่า
"ในช่วงแรกๆ ที่เด็กได้กินยาชนิดนี้จะทำให้รู้สึกเจริญอาหาร หิวเก่ง หิวบ่อย พร้อมทั้งยาจะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างกระดูกและเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ ตลอดจนพัฒนาการอื่นๆ คล้ายกับวัยรุ่น เด็กจะเจริญเติบโตได้ในเวลาอันรวดเร็วดั่งที่พบอาการผิดปกติในเด็กทั้งสองคน แต่การที่เด็กได้รับฮอร์โมนเพศชายก่อนวัยอันควร จะทำให้หยุดการยืดยาวเจริญเติบโตของกระดูก ทำให้กระดูกขยายตัวตามความกว้าง แต่ไม่ขยายตัวตามความยาว ทำให้เด็กแคระแกร็นเมื่อโตเต็มที่เป็นผู้ใหญ่"

ในภาวะปกติจะยังไม่พบฮอร์โมนเพศชายนี้ในเด็ก แต่ร่างกายจะเริ่มสร้างฮอร์โมนเพศชายเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ส่งผลให้เกิดการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงร่างกายไปเป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่เต็มตัว ด้วยการสร้างกล้ามเนื้อ อวัยวะเพศ กล่องเสียง เสียงแตกห้าว มีขนตามที่ลับ หนวด เครา เป็นต้น

แพทย์ได้พยากรณ์ไว้ว่า
"เด็กชายคนแรกที่ตอนนี้อายุ ๔ ขวบ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวจะมีความสูงเพียง ๑๔๗ เซนติเมตรเท่านั้น จากที่ความสูงเฉลี่ย ๑๗๒ เซนติเมตร หรือเด็กคนนี้จะเตี้ยลงจากปกติ ๑๕  เซนติเมตร (ครึ่งฟุตหรือครึ่งหนึ่งของไม้บรรทัด)"
นอกจากนี้ เด็กกลุ่มนี้มักมีอารมณ์เหมือนวัยรุ่น (เป็นผลจากฮอร์โมนเพศชายที่ได้กินเข้าไป) โดยจะมีอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียวได้ง่าย ก้าวร้าว และอารมณ์รุนแรง
ผลเสียที่เกิดขึ้นกับเด็กทั้งสองเกิดจากการที่เด็กได้รับฮอร์โมนเพศชายก่อนวัยอันควร ทำให้เป็นผู้ใหญ่ตั้งแต่เด็ก ทำให้แคระแกร็น ไม่สูงเหมือนเด็กทั่วไป ทั้งนี้เพราะผู้ปกครองไปหาซื้อยาเจริญอาหารที่มีส่วนประกอบ ของฮอร์โมนเพศชายมาให้ลูกหลานของตนกิน ซึ่งในระยะเริ่มต้นจะแสดงผลให้เหมือนว่าได้ผลดี แต่จะทำให้ เกิดผลเสียแก่เด็กในระยะยาว ซึ่งผลเสียนี้ไม่สามารถแก้ไขได้เลย
    
แล้ว..ทำไมผู้ปกครองจึงหาซื้อยาชนิดนี้มาให้ลูกหลานตัวเองกิน?
ยาชนิดนี้จะทำเป็น "น้ำเชื่อม" บรรจุในขวดขนาด และลักษณะเดียวกันกับยาสำหรับเด็กทั่วไป คือ ขนาด ๖๐ มิลลิลิตร พร้อมทั้งที่ฉลากด้านหน้าจะมีตัวหนังสือขนาดที่เห็นเด่นชัดระบุสรรพคุณว่า "ยาเจริญอาหาร" จากรูปลักษณะหลายๆ อย่างเหล่านี้ประกอบกัน อาจทำให้ผู้ปกครองรับรู้หรือเข้าใจว่าเป็น "ยาเจริญอาหาร" เหมาะสำหรับบำรุงร่างกายให้กับลูกน้อย

สิ่งที่น่าสังเกต เมื่ออ่านฉลากในภาษาอังกฤษจะแปลได้ความว่า มีตัวยาที่มีฮอร์โมนเพศชายเป็นองค์ประกอบ แต่ในภาคภาษาไทยกลับไม่มีการระบุเหมือนในภาษาอังกฤษ และที่ด้านข้างของกล่องมีข้อความแสดงข้อบ่งใช้ไว้เป็นตัวอักษรภาษาไทยขนาดเล็กอยู่ด้านบนของกล่องว่า "ไม่ควรใช้สำหรับเด็ก" ในขณะที่ด้านล่างระบุว่า "ห้ามใช้ในเด็กติดต่อกันนานกว่า ๓ เดือน อาจเกิดอันตรายได้" ซึ่งเป็นข้อความตัวอักษรขนาดเล็กและอยู่ด้านข้าง จึงอาจไม่ได้รับความสนใจจากผู้ปกครอง และแสดงเป็นนัยว่าประชาชนบางส่วนอาจไม่ได้อ่านฉลากยาด้านข้างก่อนการใช้ยา เพราะถ้าได้อ่านข้อความทั้งสองที่ระบุว่า "ห้ามใช้ในเด็ก เพราะอาจเกิดอันตรายได้" ก็คงไม่ยอมใช้กับลูกหลานของตนเองเป็นแน่แท้

กลับมาที่ยาชนิดนี้ซึ่งเป็นยาน้ำเชื่อมจะประกอบด้วยตัวยา ๒ ชนิด คือ ไซโพรเฮปทาดีน (cyproheptadine) และมีแทนไดโนน (methandienone) ซึ่งมีข้อบ่งใช้สำหรับช่วยเจริญอาหารให้กับผู้ใหญ่เท่านั้น และในปัจจุบันนี้ยาชนิดนี้ยังถูกจัดเข้าเป็นกลุ่มยาควบคุมพิเศษ ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ก่อให้เกิดอันตรายได้สูง หรือมีผลข้างเคียงรุนแรงกว่ายาทั่วไป

ตัวยาชนิดที่หนึ่งคือ ไซโพรเฮปทาดีน ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาแก้แพ้ แต่ส่งผลกระตุ้นการเจริญอาหารของร่างกาย พร้อมกับฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนได้ด้วย เมื่อได้รับยานี้จึงรู้สึกง่วงนอนได้ง่าย เมื่อตื่นขึ้นมาจะรู้สึกอยากอาหาร กินอาหารได้มากขึ้น ยาชนิดนี้ ปัจจุบันใช้เฉพาะในผู้ใหญ่ และไม่ควรใช้ติดต่อกันในเด็ก เพราะถ้าใช้ติดต่อกันนานก็จะส่งผลต่อระบบประสาทได้

ส่วนตัวยาที่สองคือ มีแทนไดโนน เป็นฮอร์โมนเพศชาย ที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติที่เกิดกับเด็กทั้งสอง เกิดการพัฒนาการก่อนวัยอันควร เช่น ด้วยการสร้างกล้ามเนื้อ อวัยวะเพศ กล่องเสียง เสียงแตกห้าว มีขนตามที่ลับ หนวด เครา เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเด็กได้กินยานี้ไปในระยะแรกจะช่วยเจริญอาหาร กินข้าวได้มากขึ้น ร่างกายกำยำ ล่ำขึ้น และโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จะมาพร้อมกับอาการผิดปกติที่ไม่ควรพบกับในเด็ก เช่น มีพัฒนาการของอวัยวะเพศ มีขนขึ้นตามที่ลับ ฯลฯ และที่สำคัญในระยะยาวจะเกิดผลเสียหลายอย่างกับเด็ก ที่เห็นอย่างชัดเจนคือเด็กจะแคระแกร็นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา

มาถึงตอนนี้คงได้เข้าใจ เห็นถึงโทษของการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม กรณีนี้คือการนำยาผู้ใหญ่มาให้กับเด็ก   ทำให้เกิดผลเสียในระยะยาว และถาวรกับเด็กแก้ไขไม่ได้ ดังปรากฏข่าวในสื่อมวลชนที่ว่า "อย.จี้แก้สูตร   ยาเจริญอาหาร แยกยาแก้แพ้-สเตียรอยด์ออกจาก กัน" และหามาตรการไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะนี้อีกในอนาคต
สำหรับผู้ปกครอง ถ้าประสบปัญหาลูกเบื่ออาหาร กินข้าวไม่ได้ ก็ไม่ควรไปซื้อยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศชายมาให้บุตรหลาน เพราะจะเกิดอันตรายในระยะยาวทำให้เด็กแคระแกร็น และเกิดผลเสียอื่นๆ มากมาย

ดังนั้น ก่อนใช้ยาจึงควรอ่านรายละเอียดของยาให้ครบถ้วน ถ้าไม่เข้าใจหรือมีข้อสงสัยควรปรึกษาหารือแพทย์หรือเภสัชกรที่ประจำอยู่ที่ร้านยา เพื่อให้เกิด การใช้ยาพอเพียงž ควรใช้ยาเมื่อจำเป็นเท่านั้น ไม่มากหรือน้อยเกินไป และใช้ด้วยความเข้าใจ ถูกต้อง ถูกวิธี จะได้เกิดประโยชน์กับสุขภาพร่างกายอย่างคุ้มค่า
      
ถ้าลูกเบื่ออาหาร ไม่ยอมกินข้าว ควรทำอย่างไร?
เรื่อง "ลูกเบื่ออาหาร" มักเกิดขึ้นได้กับเด็กเกือบทุกคน แต่มักจะเป็นชั่วระยะเวลาสั้นๆ ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่เด็กเริ่มเดิน ก็จะสนใจสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว อยากเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากกว่าเรื่องมื้ออาหาร เหมือนกับจะห่วงเล่นมากกว่าการกิน และมักจะเป็นช่วงสั้นๆ แล้วก็กลับมาเป็นปกติดังเดิม

แต่ในบางรายเด็กอาจเบื่ออาหาร กินอาหารได้น้อย หรือเลือกกินอาหารบางชนิด จนส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก ซึ่งผู้ปกครองจะสามารถสังเกตความผิดปกติว่าเด็กกำลังขาดอาหารได้ ด้วยการสังเกตจากขนาด น้ำหนักตัว และการพัฒนาการของเด็กที่เป็นไปตามวัย ดังนี้

  • เด็กอายุ ๓ เดือน ควรมองสบตา ยิ้มตอบ และชูคอได้
  • เด็กอายุ ๖ เดือน ควรมองตาได้ หันตามเสียงเรียก สนใจคนมาเล่นด้วย และพลิกคว่ำได้
  • เด็กอายุ ๑ ขวบ ควรเกาะเดินได้ หยิบสิ่งของเข้าปาก และพูดเป็นคำๆ ได้
  • เด็กอายุ ๒ ขวบ เดินได้คล่องขึ้น และพูดหลายคำ


ถ้าเด็กหรือลูกหลานของเรามีการพัฒนาการทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ตามนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสริมอาหารหรือบำรุงด้วยยาหรือวิตามิน

แต่ถ้าเด็กมีพัฒนาการไม่เป็นไปตามนี้ มีพัฒนา- การช้ากว่าปกติ หรือขนาดของร่างกายและน้ำหนักตัวน้อยหรือต่ำกว่าปกติ ก็จะได้มีการบำรุงเสริมเพิ่มปริมาณ สารอาหารให้กับร่างกายมากขึ้น
    
อาหารครบทั้ง ๕ หมู่ เป็นแหล่งของสารอาหารที่ดีที่สุด
สิ่งที่มีประโยชน์ช่วยเสริมสุขภาพและเพิ่มพูนปริมาณสารอาหารทดแทนสิ่งที่ขาดตกบกพร่องไปของร่างกายได้ดีที่สุดคือ อาหารทั้ง ๕ หมู่ ซึ่งได้จากการรับประทาน เช่น เนื้อสัตว์ ปลา นมไข่ ข้าว ขนมปัง เส้นก๋วยเตี๋ยว ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ ฯลฯ ถ้าได้อาหาร ครบทั้ง ๕ ตามธรรมชาติ และสลับสับเปลี่ยนประเภทอาหารให้หลากหลาย ไม่ซ้ำซาก ไม่มากหรือน้อยเกินไป ก็จะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการร่างกายของลูกน้อย
    
การดูแลลูกน้อย เมื่อ..เบื่ออาหาร
ด้วยความรักและความเข้าใจในการเลี้ยงดูลูกน้อย ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ลูกรักพ้นภาวะ "เบื่ออาหาร" กลับมากินอาหารได้ครบทั้ง ๕ หมู่ และในปริมาณที่เหมาะสม ดั่งคำโบราณที่ว่า "ไม้อ่อนดัดง่าย" ฉันใด ในการดูแลลูกน้อยก็ควรเริ่มต้นด้วยความรัก ความเข้าใจ และใจเย็นๆ ค่อยๆทำความเข้าใจกับความ รู้สึกของเด็ก และมีเคล็ดไม่ลับง่ายๆ ดังนี้

  • ควรสร้างบรรยากาศการกินอาหารให้สบายๆ เป็นกันเอง น่ากินร่วมกัน ถ้ามีความสนุกสนานร่วมด้วยจะยิ่งดี 
  •  ควรจัดชนิดของอาหารให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก
  • ควรเปิดโอกาสให้ลูกน้อยมีส่วนร่วมในการคิดรายการอาหารโปรดที่ลูกชอบ การจ่ายตลาด การเตรียม อาหาร และการปรุงอาหาร ฯลฯ
  • ควรให้ลูกน้อยได้ทดลองชิมอาหารใหม่ๆ และน่าสนใจ
  • ก่อนเวลามื้ออาหารสัก ๑ ชั่วโมง ไม่ควรให้เด็กกินขนม
  • ควรให้ลูกน้อยได้ช่วยตัวเองในการกินอาหารให้มากที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการตำหนิ การบังคับ การสร้างเงื่อนไข หรือแสดงความโกรธ และทัศนคติในเชิงลบกับการกินอาหารให้กับเด็ก
  •  ถ้าลูกไม่ชอบกินผัก ก็อาจกินผลไม้แทนได้ และให้คุณค่าของอาหารทดแทนกันได้ฯลฯ


ประเด็นสำคัญคือ ไม้อ่อน ต้องค่อยๆ ดัด ค่อยๆ เสริม ค่อยๆ ปั้น เพื่อสร้างสิ่งที่ดีๆ ให้คงอยู่กับลูกรักของเรา ใจเย็นๆ ด้วยความเข้าใจ หมั่นสังเกต อดทน ด้วยความมุ่งมั่น ก็เชื่อว่า ลูกสุดที่รักของเราจะกินอาหารได้ตามปกติในไม่ช้าเกินรอ แต่ถ้าได้ทดลองหมดทุกวิถีทางหรือใช้ทุกรูปแบบแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น ก็อาจต้องหาตัวช่วยด้วยการใช้ยาเจริญอาหารได้

ยาเจริญอาหารสำหรับเด็ก
ถ้าเป็นเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า ๒ ขวบ) อาจแนะนำให้เลือกใช้ ยาวิตามินและเกลือแร่ น้ำมันตับปลา ฯลฯ ช่วยบำรุงร่างกาย และช่วยเจริญอาหารได้
ในเด็กโตอาจเริ่มต้นด้วยวิตามิน เกลือแร่ หรือน้ำมันตับปลา ถ้าได้ผลดีก็พอแค่นี้ แต่ถ้ายังไม่ได้ผลดีอาจเพิ่มด้วยยากระตุ้นให้เจริญอาหาร เช่น ไซโพรเฮปทาดีน แต่ควรใช้เป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่น ๑-๒ สัปดาห์ ไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน เพราะอาจส่งผลไปกดประสาทได้

จากประสบการณ์ของผู้เขียนให้ความสำคัญกับเรื่องความรัก ความเข้าใจ ความเป็นห่วงของผู้ปกครองที่มีต่อลูกรักเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ อธิบายให้ลูกน้อยเข้าใจ พูดกันดีๆ และจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาลูกน้อยให้เจริญเติบโตเหมาะสมตามวัย ส่วนเรื่องอาหาร รูปแบบของอาหารและยา เป็นเหมือนอุปกรณ์ประกอบ หรือสื่อแสดงความรักความห่วงใยของพ่อแม่ ซึ่งก็ช่วยได้บ้าง

ถึงตอนนี้ขอสรุปว่า ข่าวคราวเรื่องเด็ก ๒ คน ที่มีอาการผิดปกติ เกิดจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม มีการนำยาของผู้ใหญ่มาให้เด็กกิน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งผู้ปกครอง ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ในส่วนของผู้ปกครองที่ใกล้ชิดกับเด็กอาจมีเข้าใจผิด รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่มีความรู้เพียงพอ หรือไม่ได้อ่านฉลากอย่างครบถ้วนก่อนใช้

ดังนั้นการเลือกใช้ยาจึงควรปรึกษาหารือกับแพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนการใช้ยา ทำการศึกษาอ่านให้เข้าใจดีถึงสรรพคุณ ความจำเป็น ขนาด และวิธีใช้ที่ถูกต้อง ไม่มากหรือน้อยเกินไป เพื่อประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความคุ้มค่าของการใช้ยา 


 

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

347-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 347
มีนาคม 2551
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด