• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กลุ่มอาการลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า

คนบางคนอาจมีอาการปวดท้องร่วมกับท้องเดิน หรือท้องผูกเป็นๆ หายๆ เรื้อรังเป็นประจำ โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรง มักเกิดอาการเวลามีความเครียด หรือหลังกินอาหารบางชนิด ถือเป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง เพียงแต่สร้างความน่ารำคาญ และต้องคอยวิ่งหาห้องน้ำแบบเร่งด่วน

=>ชื่อภาษาไทย    
กลุ่มอาการลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า, โรคไอบีเอส

=>ชื่อภาษาอังกฤษ
   
Irritable bowel syndrome, IBS

=>สาเหตุ        

สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่พบว่าลำไส้ใหญ่มีการทำงานผิดปกติ โดยที่ตรวจไม่พบความผิดปกติทางโครงสร้างกายภาพใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งไม่พบว่าลำไส้มีอาการอักเสบแต่อย่างใด

ความผิดปกติของการทำงานของลำไส้เป็นไปใน ๒ ลักษณะ ลักษณะหนึ่งคือ ลำไส้มีการบีบตัวหรือขับเคลื่อนเร็วกว่าปกติ ทำให้ลำไส้ไม่ทันได้ดูดซึมน้ำจากอาหารที่ผ่านเข้ามา จึงเกิดอาการถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวบ่อยครั้ง อีกลักษณะหนึ่งคือ ลำไส้มีการบีบตัวหรือขับเคลื่อนช้ากว่าปกติ ทำให้อาหารตกค้างอยู่ในลำไส้นาน มีการดูดซึมน้ำจนหมด จึงเกิดอาการท้องผูกหรือถ่ายเป็นก้อนแข็ง

ความผิดปกติดังกล่าวมักเกิดขึ้นขณะมีความเครียด หรือเกิดจากการกินอาหารบางชนิด

นอกจากนี้ ในช่วงเป็นประจำเดือน ก็อาจมีอาการกำเริบได้บ่อย สันนิษฐานว่าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายในช่วงดังกล่าว

   
=>อาการ        

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องแบบบิดเกร็งเป็นพักๆ ตรงบริเวณท้องน้อย (ใต้สะดือ) แบบปวดท้องถ่าย และทุเลาปวดเมื่อมีการถ่ายอุจจาระ ผู้ป่วยมักมีอาการท้องเดินหรือท้องผูกร่วมด้วย

สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีการบีบตัวของลำไส้เร็วกว่าปกติ ก็จะมีอาการถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลววันละหลายครั้ง มักจะถ่ายช่วงหลังตื่นนอนตอนเช้า หรือขณะกินอาหาร หรือหลังกินอาหารทันที อาการอาจเป็นต่อเนื่องทุกวัน หรือเป็นๆ หายๆ เป็นบางวัน มีข้อน่าสังเกตว่าเมื่อเข้านอนตอนกลางคืน จะไม่มีอาการลุกขึ้นมาถ่าย จนกระทั่งรุ่งเช้า สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีการบีบตัวของลำไส้ช้ากว่าปกติ ก็จะมีอาการท้องผูกหรือถ่ายเป็นก้อนแข็ง บางคนอาจถ่ายสัปดาห์ละ ๓ ครั้ง

บางคนอาจมีอาการท้องเดินสลับท้องผูก หรือถ่ายเป็นมูกร่วมด้วย (พบว่าลำไส้ใหญ่ของผู้ป่วยบางคนจะมีการหลั่งเมือกออกมามากกว่าปกติ)

นอกจากนี้ บางคนอาจมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อมีลมในท้องร่วมด้วย

ผู้ป่วยมักเริ่มอาการครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ ๒๐ ปี และจะเป็นเรื้อรังเรื่อยๆ นานหลายปี หรือตลอดชีวิต โดยที่ผู้ป่วยมีสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี ไม่มีอาการถ่ายเป็นเลือด เป็นไข้ หรือน้ำหนักลด

สิ่งที่ทำให้อาการของโรคกำเริบ เช่น

♦- การกินอาหารปริมาณมาก

♦- การกินอาหารมันๆ นม เนย ไอศกรีม ช็อกโกแลต ชา กาแฟ เครื่องดื่มกาเฟอีน แอลกอฮอล์ น้ำโซดาน้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลฟรักโทสสูง ( เช่น น้ำแอปเปิ้ล น้ำองุ่น)

♦- อารมณ์เครียด
 

การแยกโรค    

๑. โรคติดเชื้อ เช่น เชื้อบิด เชื้อพยาธิไกอาร์เดีย จะมีอาการถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือด หรือถ่ายเป็นน้ำเรื้อรัง หรืออาจมีไข้ น้ำหนักลดร่วมด้วย
๒. มะเร็งลำไส้ใหญ่ จะมีอาการท้องผูกสลับท้องเดินเรื้อรัง ถ่ายเป็นเลือดสด น้ำหนักลด มักพบในคนอายุมากกว่า ๔๐ ปี
๓. โรคของต่อมไทรอยด์ เช่น คอพอกเป็นพิษ จะมีอาการถ่ายเหลวบ่อย ร่วมกับอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น น้ำหนักลด ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ จะมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักขึ้น ท้องผูก
๔. ภาวะเยื่อบุมดลูกงอกผิดที่ (endometriosis) จะมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรงเวลามีประจำเดือน
๕. ภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยนม (แล็กเทส) จะมีอาการท้องเดินเฉพาะเวลาดื่มนม หรือผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นองค์ประกอบ

การวินิจฉัย    

แพทย์มักจะวินิจฉัยจากอาการบอกเล่าของผู้ป่วยเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีอาการปวดท้องร่วมกับท้องเดินหรือท้องผูกเรื้อรังนานมากกว่า ๓ เดือน ในระยะเวลา ๑ ปีที่ผ่านมา (อาจเป็นแบบต่อเนื่องหรือแบบเป็นๆ หายๆ ก็ได้) โดยที่ผู้ป่วยมีสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี

ในรายที่ไม่แน่ใจหรือสงสัยจะเกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจอุจจาระ (ดูว่าเป็นพยาธิ หรือมีเลือดออกหรือไม่) เอกซเรย์ลำไส้ใหญ่โดยการสวนแป้งแบเรียม (bariumenema) ใช้กล้องส่องตรวจทวารหนักหรือลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

การดูแลตนเอง    

๑. ควรสังเกตดูว่ามีอาการกำเริบจากสาเหตุใด
๒. ถ้าเกิดจากความเครียด ควรออกกำลังกาย ฝึกโยคะ หรือหาทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ
๓. ถ้าเกิดจากอาหาร (เช่น นม กาแฟ ของมัน) ก็ควรหาทางหลีกเลี่ยง
๔. หลีกเลี่ยงการกินอาหารปริมาณมาก
๕. กินผักและผลไม้ให้มากๆ
ควรไปพบแพทย์ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
๑. มีไข้
๒. น้ำหนักลด
๓. มีอาการถ่ายเป็นเลือด หรือต้องลุกขึ้นถ่ายตอนกลางคืน หรือถ่ายเป็นมูกมีกลิ่นเหม็น
๔. ปวดท้องรุนแรง หรือกดเจ็บบริเวณท้อง
๕. มีความวิตกกังวล

การรักษา   

เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นกลุ่มอาการลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า ก็จะแนะนำการปฏิบัติตัวต่างๆ

ในรายที่เป็นมาก อาจให้ยาบรรเทาตามอาการ ได้แก่ ยาแก้ปวดท้อง (เช่น ไฮออสซีน) ยาแก้ท้องเดิน (เช่น โลเพอราไมด์) ยาระบาย (เช่น มิลค์ออฟแมกนีเซีย) โดยให้กินเป็นครั้งคราวเมื่อมีอาการ

นอกจากนี้ อาจให้ยาคลายเครียด หรือยาแก้ซึมเศร้า ถ้ามีภาวะเครียด หรือซึมเศร้า

ภาวะแทรกซ้อน   

โรคนี้แม้จะเป็นเรื้อรัง แต่มักไม่มีภาวะแทรกซ้อน หรืออันตรายต่อสุขภาพ นอกจากสร้างความรำคาญ และมีความลำบากในการหาห้องน้ำเวลามีอาการท้องเดิน

บางคนที่ถ่ายบ่อย ก็อาจทำให้โรคริดสีดวงทวารที่เป็นอยู่กำเริบ (ถ่ายเป็นเลือด) ได้

การดำเนินโรค   

มักเป็นๆ หายๆ เรื้อรังนานหลายปี หรือตลอดชีวิต โดยที่สุขภาพแข็งแรงดี และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการเล็กน้อย ไม่ต้องหาหมอหรือกินยารักษา เพียงแต่ปฏิบัติตัวต่างๆ ก็จะมีคุณภาพชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป

การป้องกัน

๑. หมั่นออกกำลังกาย
๒. หาทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ
๓. กินผักและผลไม้ให้มากๆ
๔. หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้โรคกำเริบ

ความชุก   

เป็นโรคที่พบได้บ่อย (ในสหรัฐอเมริกา พบโรคนี้ประมาณร้อยละ ๑๕-๒๐ ของคนทั่วไป) พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ๒ เท่า มักเริ่มเป็นเมื่ออายุประมาณ ๒๐ ปี

ข้อมูลสื่อ

314-022
นิตยสารหมอชาวบ้าน 314
มิถุนายน 2548
นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ