กินผักใบเขียวลดโอกาสเป็นเบาหวาน
(Fruit and vegetable intake and incidence of type 2 diabetes mellitus: systematic review and meta-analysis Carter P.BMJ 2010; 341 : c4229.)
เราทราบกันดีว่า การกินผัก ผลไม้มาก (ประมาณ ๕ ฝ่ามือต่อวัน) ช่วยลดโอกาสเป็นมะเร็ง และโรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อ ๓-๔ ปีก่อน มีการรวบรวมการศึกษาว่าการกินผักผลไม้ช่วยลดโอกาสเป็นเบาหวานหรือไม่ ผลปรากฏว่า การกินผัก ผลไม้มากกว่า ๓ ส่วนต่อวันไม่ช่วยลดโอกาสเป็นเบาหวาน การศึกษาเพิ่มเติมหลังจากนั้น จะช่วยให้คำตอบได้หรือไม่ว่า กินผัก ผลไม้ ช่วยลดโอกาสเป็นเบาหวานหรือไม่
การรวบรวมการศึกษาไปข้างหน้า (Prospective cohort studies) คุณภาพชั้นดี ๖ การศึกษา พบว่า การกินผักผลไม้ ไม่ช่วยลดการเกิดโรคเบาหวาน แต่ถ้าวิเคราะห์เฉพาะ ๔ การศึกษาที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการกินผักใบเขียวในประชากร ๑ แสน ๘ หมื่นกว่าคน ติดตามตั้งแต่ ๔.๖ ถึง ๒๓ ปี พบว่า การกินผักใบเขียวช่วยลดโอกาสเป็นเบาหวานได้ร้อยละ ๑๔
ทำไมผักใบเขียวจึงต่างจากผัก ผลไม้อื่น ในการป้องกันโรคเบาหวาน เชื่อว่าเป็นเพราะผักใบเขียวมีสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะบีตาแคโรทีนมากกว่า มีสารแมกนีเซียมมากกว่า
ดังนั้น ใครที่อ้วนลงพุง น้ำตาลในเลือดสูง (หลังงดอาหาร เครื่องดื่ม ๘ ชั่วโมง เกินกว่า ๑๐๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) แต่ยังไม่เป็นเบาหวาน (ไม่เกิน ๑๒๖ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ก็ควรจะกินผักใบเขียวให้มาก ออกกำลังกาย (เช่น เดินเร็ว ๑๕๐ นาทีต่อสัปดาห์) ลดน้ำหนักลงร้อยละ ๗ ในเวลา ๖ เดือน จะช่วยลดโอกาสเป็นเบาหวานได้มากกว่าร้อยละ ๕๐
♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦
กินแคลเซียมเม็ดเพิ่มโอกาสกล้ามเนื้อหัวใจตาย จริงหรือไม่
(Effect of calcium supplements on risk of myocardial infarction and cardiovascular events: meta-analysis. Bolland MJ. BMJ 2010;341:c3691)
สมัยนี้ คนไทยกินแคลเซียมเม็ดเสริมกระดูกกันเป็นว่าเล่น เพราะกลัวว่ากระดูกบาง จะล้มกระดูกหัก กินกันแบบนี้มีประโยชน์จริงหรือ และอาจมีโทษไหมถ้ากินเป็นระยะเวลานานๆ
จากการรวบรวมการศึกษาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๙ ถึงมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ในประชากรอายุ ๔๐ ปี มากกว่า ๑๐๐ คนต่อการศึกษา ติดตามเป็นเวลานานกว่า ๑ ปี เทียบระหว่างการกินแคลเซียมเม็ดมากกว่า ๕๐๐ กรัมต่อวัน กับยาหลอก พบว่าในประชากร ๘,๐๐๐ กว่าราย ติดตามโดยเฉลี่ย ๓.๖ ปีจาก ๕ การศึกษา การกินแคลเซียมเม็ดเพิ่มโอกาสกล้ามเนื้อหัวใจตายร้อยละ ๓๑ นอกจากนี้ ยังเพิ่มโอกาสอัมพฤกษ์ อัมพาตร้อยละ ๒๐ แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
ผู้วิจัยสรุปว่า การกินแคลเซียมเสริม (เม็ด) ที่ไม่ได้กินร่วมกับวิตามินดี เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย การแนะนำให้กินแคลเซียมเสริมในการป้องกันกระดูกพรุนคงต้องมาพิจารณากันใหม่
ทำไมกินแคลเซียมเม็ดจึงเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเพิ่มขึ้น คำตอบน่าจะเป็นเพราะการเพิ่มระดับแคลเซียมในเลือดหลังจากกิน จะเพิ่มโอกาสหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน (ซึ่งจะไม่เกิดจากการกินแคลเซียมจากอาหาร) นอกจากนี้ ยังทำให้หลอดแดงหัวใจมีแคลเซียมไปเกาะมากขึ้น หลอดเลือดแดงแข็ง เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดงง่ายขึ้น
ใครที่กินแคลเซียมเม็ดเสริมกระดูกป้องกันกระดูกบาง หกล้มกระดูกหักอยู่ เปลี่ยนมากินกะปิ ปลาตัวเล็ก กุ้งแห้ง แบบบรรพบุรุษเรากินมาแต่โบราณดีกว่า
คนโบราณไม่เคยได้ยินว่า ล้มกระดูกสะโพกหักมากมายเหมือนคนสมัยนี้เลย
♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦
กินแคลเซียมเม็ดและวิตามินดี ลดโอกาสกระดูกหักได้ จริงหรือ?
(Reducing fracture risk with calcium and vitamin D. Lips P.Clinical Endocrinol 2010;73:277-85)
ปัจจุบัน คนไทยกินแคลเซียมเม็ดเสริมกระดูกกันเป็นว่าเล่น เพราะกลัวกระดูกบาง จะล้มกระดูกหัก กินแบบนี้นานๆ มีประโยชน์จริงหรือ?
จากการรวบรวมการศึกษา ๗ การศึกษาไปข้างหน้าในผู้หญิงและ ๕ การศึกษาในผู้ชาย รวมทั้งการศึกษาทางคลินิก ๕ การศึกษาใน พ.ศ.๒๕๕๑) พบว่า การกินแคลเซียมเม็ดไม่ช่วยลดโอกาสกระดูกสะโพกหักทั้งชายและหญิง แต่การศึกษา ๔ การศึกษา เฉพาะสะโพกหัก ในประชากร ๖,๕๐๐ กว่าคน พบว่าการกินแคลเซียมเม็ดเพิ่มโอกาสสะโพกหัก ร้อยละ ๖๔
ในปีนี้เอง มีการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมว่า การกินแคลเซียมและวิตามินดีเม็ดช่วยลดโอกาสกระดูกหักได้หรือไม่ ผลปรากฏว่าสรุปไม่ได้ชัดเจน เนื่องจากการศึกษามีความต่างกันในระดับวิตามินดี การกินแคลเซียมขนาดที่กิน และความสม่ำเสมอในการกินแคลเซียม วิตามินดี
ผู้วิจัยจึงให้คำแนะนำว่า การให้ผู้สูงอายุทุกคนกิน แคลเซียม วิตามินดี เพื่อป้องกันกระดูกหัก ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุน ถ้าจะให้ ก็ควรเลือกให้ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงที่จะมีแคลเซียมและวิตามินดีขาด เช่น อายุมากกว่า ๗๐ ปี ขาดสารอาหารเพราะอยู่ในสถานสงเคราะห์ฯ ไม่ได้ดื่มนมหรือสารอาหารแคลเซียม วิตามินดีเป็นประจำเป็นต้น
ใครที่กินแคลเซียม บวก/ลบ วิตามินดีเม็ดเสริมกระดูกป้องกันกระดูกบาง ล้มกระดูกหักอยู่ โดยที่ไม่ได้ขาดแคลเซียมและวิตามินดี โดยเฉพาะหญิงวัยหมดประจำเดือน เพราะนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์ตามที่ต้องการแล้ว ยังอาจเพิ่มโอกาสนิ่วในไตร้อยละ ๑๗ เปลี่ยนมากินกะปิ ปลาตัวเล็ก กุ้งแห้ง แบบบรรพบุรุษเรากินมาแต่โบราณ เดินถือของแบกตะกร้าจ่ายตลาด รับแสงแดดวิตามินดีเช้า เย็น ทุกวัน จะดีกว่าไหมครับ
♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦
กินวิตามินอี ป้องกันอัมพาตได้หรือไม่
(Effects of vitamin E on stroke subtypes: meta-analysis of randomised controlled trials. Schurks M. BMJ 2010;341:c5702)
อัมพาตเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทย (Porapakkham Y. Pop Health Metr 2010;8:14.) คือ ร้อยละ ๑๑ ของการตายเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ ตัน แตก อัมพฤกษ์ อัมพาต และการเป็นอัมพาตของคนไทยเกิดจากหลอดเลือดแดงในสมองแตก มากกว่าตีบตัน การป้องกันโดยการลดปัจจัยเสี่ยง (เบาหวาน ความดัน ไขมัน บุหรี่ อ้วนพีมีพุง) และการกินยาบางชนิดป้องกัน ช่วยลดโอกาสการเกิดอัมพาตได้ แต่การกินวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินอี (เป็นเม็ด) จะช่วยลดโอกาสเป็นอัมพาตหรือไม่
จากการรวบรวมการศึกษา คุณภาพชั้นดีเยี่ยม (Randomized, placebo controlled ติดตามนานกว่า ๑ ปี) ๙ การศึกษาติดตาม ๑.๔ ถึง ๑๐.๑ ปี ในประชากร ๑๑๘,๐๐๐ คน พบว่า การกินวิตามินอีเม็ด ไม่มีผลในการเพิ่มหรือลดโอกาสเป็นอัมพาต เมื่อเทียบกับยาหลอก แต่ถ้าดูเฉพาะอัมพาตที่เกิดจากหลอดเลือดสมองแตก เลือดออกในสมอง พบว่า การกินวิตามินอีเม็ด เพิ่มโอกาสเกิดหลอดเลือดสมองแตก ร้อยละ ๒๒ แต่ลดโอกาสเกิดหลอดเลือดสมองตีบตัน ร้อยละ ๑๐
ผู้วิจัยสรุปว่า ไม่แนะนำให้กินวิตามินอีป้องกันอัมพาต เพราะผลในการป้องกันหลอดเลือดสมองตีบตันน้อย เมื่อเทียบกับผลเสียที่มากกว่า เพราะเพิ่มโอกาสหลอดเลือดสมองแตก เลือดออกในสมอง ซึ่งผลเสียที่ตามมามากกว่า (หลอดเลือดสมองตีบตันสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดช่วยได้ใน ๔ ชั่วโมงแรก แต่เลือดออกในสมองไม่มีการรักษาทางยาที่ได้ผล อาจต้องผ่าตัดสมอง)
สำหรับคนไทย ซึ่งมีโอกาสเลือดออกในสมองมากกว่าหลอดเลือดสมองตีบตัน การกินวิตามินอีเม็ด อาจเพิ่มโอกาสเป็นอัมพาต สาเหตุการตายอันดับ ๑ ของคนไทย
ใครที่กินวิตามินอี (เป็นเม็ด) อยู่ หยุดกินวิตามินเม็ดกัน หันมากินวิตามินอีจากผักใบเขียว ผลไม้สดดีกว่า
ทุกๆ ๑ ฝ่ามือที่กินผลไม้เพิ่มขึ้น ลดโอกาสอัมพาตร้อยละ ๑๑
ทุกๆ ๑ ฝ่ามือที่กินผักเพิ่มขึ้น ลดโอกาสเป็นอัมพาตร้อยละ ๓
(Fruit and vegetable consumption and risk of stroke: A meta-analysis of cohort studies. Dauchet L. Neurology 2005;65:1193-7)
- อ่าน 2,801 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้