รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ กลุ่มวิชาเภสัชโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฟักทองลดน้ำตาลในเลือด
ฟักทองมีคุณค่าทางอาหารสูงแต่ให้พลังงานต่ำ จึงเหมาะแก่ผู้ที่ต้องควบคุมอาหารชื่อวิทยาศาสตร์ Cucurbita moschata Duchesne
ชื่อสามัญ Winter squash, Buttercup squash หรือ Pumpkin
วงศ์ Cucurbitaceae
ในภาษาอังกฤษจัดเป็นกลุ่มสควอชไม่ใช่ฟักทองแบบฟักทองฮัลโลวีน หรือ Cucurbita pepo แต่จัดเป็นพี่น้องสกุลเดียวกัน
ใบฟักทอง
ประเทศไทยและประเทศในทวีปแอฟริกามีการกินใบอ่อนของฟักทองและฟักทองฮัลโลวีน
ใบฟักทองฮัลโลวีนมีธาตุสังกะสี (๐.๘ มก.) เหล็ก (๑๐.๑ มก.) แคลเซียม (๐.๐๗ มก.) กรัมต่อ ๑๐๐ กรัม นอกจากนี้ ยอดฟักทองให้วิตามินเอสูงมาก ถ้าผัดกับน้ำมันจะดูดซึมได้ดีโดยร่างกายมนุษย์ (เพราะวิตามินเอละลายในน้ำมัน)
ผลฟักทอง
มีลักษณะทรงแบนสีเขียวเข้ม หนัก ๑-๒ กิโลกรัม เนื้อในสีเหลืองส้ม
ประเทศสหรัฐอเมริกาประกอบอาหารจากผลสุกฟักทองนี้หลายชนิด โดยอบ ย่าง และบดใส่ซุปเหมือนกับฟักทองฮัลโลวีน
ประเทศบราซิลและแอฟริกานิยมปรุงเป็นซุป
ประเทศญี่ปุ่นนำมาชุบแป้งทอดเป็นเทมปุระ
ประเทศไทยนำมาประกอบอาหารโดยผัดใส่ไข่ ทำแกงเผ็ดฟักทองน้ำข้นมีรสดี ฝานบางอบแห้งทำข้าวเกรียบ หรือบรรจุด้วยสังขยานึ่งเป็นขนมหวาน สามารถนำเนื้อไปทำขนมพายได้เหมือนฟักทองฮัลโลวีน
เนื่องจากฟักทองมีคุณค่าทางอาหารสูงแต่ให้พลังงานต่ำจึงเหมาะแก่ผู้ที่ต้องควบคุมอาหาร
น้ำจากเนื้อฟักทองลดน้ำตาลในเลือด
งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนพบว่า น้ำตาลโพลีแซ็กคาไรด์ที่ตรึงกับโปรตีนในเนื้อฟักทองมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด น้ำตาลดังกล่าวละลายได้ในน้ำคั้นผลฟักทอง เมื่อทดสอบกับหนูที่เป็นเบาหวานจากสารอัลล็อกซาน พบว่า น้ำตาล-โปรตีนดังกล่าวเพิ่มระดับอินซูลินในซีรั่ม ลดระดับน้ำตาลในเลือด และเพิ่มการทนกลูโคส (glucose tolerance) สารสกัดน้ำตาลดังกล่าวในปริมาณ ๑,๐๐๐ มก./กก. น้ำหนัก ให้ผลดีกว่าการให้ปริมาณต่ำๆ และดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาเบาหวาน จึงสามารถนำผลการศึกษาไปใช้กับผู้ป่วยเบาหวานได้
เมล็ดฟักทอง
คั่วและกินเป็นอาหารขบเคี้ยวได้ มีธาตุเหล็ก สังกะสี โพแทสเซียม แมกนีเซียม และกรดไขมันจำเป็น
เมล็ดฟักทอง ๑ กรัมมีกรดอะมิโนทริปโทเฟน มากเท่ากับที่มีในนมสดหนึ่งแก้ว
เมล็ดฟักทองมีน้ำมันที่อุดมไปด้วยสารแกมม่า โทโคฟีรอล (รูปหนึ่งของวิตามินอี) สารนี้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุมูลอิสสระที่มีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบ จึงสามารถชะลอความแก่ได้เป็นอย่างดี
เมล็ดฟักทอง ๑ กรัมมีกรดอะมิโนทริปโทเฟน มากเท่ากับที่มีในนมสดหนึ่งแก้วน้ำตาลโพลีแซ็กคาไรด์ ที่ตรึงกับโปรตีนในเนื้อฟักทอง (มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด)
น้ำมันเมล็ดฟักทอง
ใช้ปรุงอาหารได้ ใช้ในประเทศแถบยุโรปตะวันออก และตอนกลาง น้ำมันเมล็ดฟักทอง (ร้อยละ ๔๒.๒ ตามน้ำหนัก) มีวิตามินอี กรดไขมันไม่อิ่มตัว มีการใช้น้ำมันเมล็ดฟักทองในการป้องกันต่อมลูกหมากโต ลดความดันเลือด ลดอาการคอเลสเตอรอลสูง โรคปวดข้อเข่า ช่วยสมรรถภาพกระเพาะปัสสาวะ ลดปริมาณน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน และใช้ในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร เต้านม ปอด และลำไส้ใหญ่
ปริมาณน้ำมันมีร้อยละ ๑๑-๑๓ ปริมาณกรดไขมัน ไม่อิ่มตัวมีร้อยละ ๗๓-๘๑ ที่พบมากคือกรดไลโนเลอิก โอเลอิก ปาล์มมิติก และสเตอริก พบอัลฟ่า- แกมม่า- และ
เดลต้าโทโคฟีรอลในปริมาณ ๒๗.๑-๗๕.๑, ๗๔.๙-๔๙๒.๘ และ ๓๕.๓-๑,๑๐๙.๗ มิลลิกรัมต่อกรัม น้ำมันตามลำดับซึ่งเป็นปริมาณที่สูง ปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัวและวิตามินอีทำให้เมล็ดฟักทองเป็นอาหารที่เสริมคุณค่าโภชนาการอาหารประจำวันได้ดีมากชนิดหนึ่ง
เมล็ดฟักทองบรรเทาต่อมลูกหมากโต
น้ำมันเมล็ดฟักทองเป็นส่วนประกอบของยาพื้น-บ้านที่ใช้ดูแลสุขภาพต่อมลูกหมาก มีงานวิจัยสนับสนุน ประสิทธิภาพการใช้เมล็ดฟักทองรักษาอาการต่อม ลูกหมากโต (benign prostatic hyperplacia) ชายวัย ๕๕ ปี ขึ้นไปอาจมีต่อมลูกหมากโตและแข็ง กดท่อปัสสาวะได้ และกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะไม่แข็งแรงพอจะบีบต้านแรงกดของต่อมลูกหมาก จึงทำให้เกิดมีอาการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ โรคนี้อาจพบได้ประมาณร้อยละ ๑๐ ของผู้ชายสูงอายุ
งานวิจัยสารสกัดเมล็ดฟักทองกับการทำงานของแอนโดรเจน รีเซปเตอร์ซึ่งมีผลควบคุมการเจริญของต่อมลูกหมาก จากใช้สารสกัดเมล็ดฟักทองกับชุดตรวจวัดแอนโดรเจน รีเซปเตอร์ รีพอร์ตเตอร์ยีน พบว่าสารสกัดจากเมล็ดฟักทองมีผลต้านฤทธิ์แอนโดรจีนิก (antiandrogenic effect) จริง การบริโภคเมล็ดฟักทองจึงอาจมีผลดีต่อผู้ที่มีอาการต่อมลูกหมากโตได้
ฟักทองกับความงามผิวพรรณ
เอนไซม์จากเนื้อฟักทองบด (รวมเมล็ด) มีความสามารถในการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ มีสารต้านออกซิเดชั่น วิตามิน และแร่ธาตุ จำเป็นที่ผิวต้องการ เมล็ดฟักทองมีวิตามินอี กรดไขมันไม่อิ่มตัว และสเตอรอล จึงช่วยในการรักษาความชุ่มชื้น และซ่อมแซมผิว
พืชสามัญเช่นฟักทองนี้มีดีอยู่ในตัวพอดู ลองชวนคุณพ่อบ้านบริโภคเมล็ดฟักทองขณะดูโทรทัศน์ เพื่อสุขภาพที่ดีในวันหน้าไหมคะ
- อ่าน 55,378 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้