• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รุกฆาต! เบาหวาน

รุกฆาต! เบาหวาน

ผลการสำรวจพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยมีจำนวนกว่า ๓ ล้านคน ตัวเลขที่น่าตกใจนี้มีสาเหตุจากการพัฒนาประเทศตามกระแสทุนนิยม 

ทำให้ประเทศไทยอาจมีค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาผู้ป่วยเบาหวานสูงถึงปีละ ๓.๕-๘.๔ หมื่นล้านบาท แต่หากรวมค่ารักษาโรคแทรกซ้อน ค่าใช้จ่ายเดินทางไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล และค่าเสียโอกาสอื่นๆ ประเทศไทยอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับรักษาโรคเบาหวานสูงถึงแสนล้านบาทต่อปี

นายแพทย์กิตตินันท์  อนรรฆมณี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "เบาหวานจะรุก หรือ จะรุกเบาหวาน" จัดโดย สวรส. ว่า "เบาหวานเป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากเบาหวานเป็นโรคที่ไม่เกิดขึ้นเดี่ยวๆ เพียงโรคเดียว แต่จะมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น จอประสาทตาเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคไต รวมถึงแผลบริเวณเท้า ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่เสียชีวิตในทันที แต่จะมีคุณภาพชีวิตที่ลดลง อีกทั้งโรคเบาหวานยังทำให้เกิดความสูญเสียทางด้านสังคมอย่างใหญ่หลวง เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงจากการรักษา และทางอ้อมจากการต้องหยุดงาน หรืออาจมีข้อจำกัดด้านความสามารถที่อาจมีความพิการภายหลังการเป็นโรคเบาหวานได้ รวมทั้งผู้ป่วยอาจเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งเหล่านี้จะสร้างภาระมากมายให้กับครอบครัว"

สำหรับการแพร่ระบาดของโรคเบาหวานในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเกิดจากความเสี่ยงทางพันธุกรรม คือ มีญาติสายตรงเป็นเบาหวาน แต่ส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งมาจากวิถีชีวิต 

ปัจจุบันทั่วโลกมีการพัฒนาประเทศตามกระแสทุนนิยม เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีการนำวัฒนธรรมการกินอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีใยอาหารน้อยลง แต่มีน้ำตาลมากขึ้น เช่น น้ำอัดลม ไอศกรีม ขนมขบเคี้ยวชนิดต่างๆ ประกอบกับวิถีชีวิตด้านการทำงานที่ต้องนั่งอยู่กับที่มากขึ้น ทำ ให้การออกกำลังกายน้อยลง ร่างกายจึงมีน้ำตาลและไขมันสะสมอยู่จำนวนมาก ซึ่งปัจจัยเรื่องวิถีชีวิตนี้นับเป็น สาเหตุที่สำคัญของเบาหวานในปัจจุบัน

เบาหวานเกิดจากการเสียสมดุลของการควบคุม ระดับน้ำตาลในร่างกาย โดยสามารถแบ่งการเกิดได้เป็น ๒ ประเภท คือ
โรคเบาหวานประเภทที่ ๑ เป็นเบาหวานชนิดที่พบในเด็ก หรือคนที่มีอายุน้อยกว่า ๔๐ ปี โดยเกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนที่ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากพันธุกรรม การรักษาจำเป็นต้องฉีดอินซูลิน

โรคเบาหวานประเภทที่ ๒ มักพบในผู้ใหญ่ที่มี อายุมากกว่า ๔๐ ปีขึ้นไป โดยเบาหวานชนิดนี้เกิดจากการที่อินซูลินไม่ทำงานหรือทำงานน้อย ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม แต่อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการมีน้ำตาลมากเกินไปในร่างกาย อันเนื่องมาจากการบริโภคเกิน และการขาดการออกกำลังกาย
โรคเบาหวานไม่ใช่โรคที่เกิดเฉพาะกับคนรวยเท่านั้น หากแต่ทุกคนในสังคมมีโอกาสที่จะเป็นได้เหมือนกัน

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเตือนตัวเองและคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนที่เกิดมาพร้อมกับชีวิตในเมืองที่เคร่งเครียด ควรหันกลับมาดำเนินชีวิตอย่างสมดุล กินอยู่ให้เป็น กินข้าวซ้อมมือ ผัก ผลไม้ ที่ไม่มีความหวานมากเกินไป และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน อุบัติภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทย 
 

ข้อมูลสื่อ

337-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 337
พฤษภาคม 2550