• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การใช้ยาในผู้สูงอายุ

หลักทั่วไปในการใช้ยาในผู้สูงวัย
ภก.ทรงศักดิ์ วิมลกิตติพงศ์ กองควบคุมยา

ด้วยกฎแห่งธรรมชาติ สรรพสิ่งย่อมเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา มนุษย์เราก็เช่นกันยามที่เราแก่ตัวลง...ร่างกายก็เริ่มเสื่อมถอย  หูไม่ค่อยได้ยิน  สายตาฝ้าฟาง  เดินเหินไม่คล่อง  หนำซ้ำความจำยังเลอะเลือนอีกด้วย ว่าไปแล้ว "คนแก่" หรือที่เรียกอย่างสุภาพว่า "ผู้สูงวัย" นั้นไม่มีอะไรดีเลย แต่ความจริงแล้วท่านเหล่านั้นคือผู้ซึ่งผ่านร้อนหนาวมาก่อน ทรงไว้ซึ่งประสบการณ์อันมีค่าควรแก่การเรียนรู้ของลูกหลาน ครั้งหนึ่งท่านดูแลเรา แต่ตอนนี้เราก็ควรดูแลท่านเป็นการตอบแทนด้วยสิ่งดีๆ ที่เรียกว่า "ความกตัญญูรู้คุณ"

หัวใจสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยา คือการดูแลเอาใจใส่จากลูกหลาน หรือผู้ใกล้ชิด เนื่องด้วยผู้สูงอายุมีสภาวะต่างๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้น และเนื่องด้วยประสิทธิภาพ การเผาผลาญ ย่อย ดูดซึม ตลอดถึงการขับถ่ายที่เปลี่ยนไป ตับและไตมีการทำงานที่ด้อยประสิทธิภาพลง จึงอาจเกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาได้ง่าย มีข้อสังเกตที่เข้าข่ายอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาได้สูง จึงควรต้องให้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ดังนี้

  •  ได้รับยามากกว่า 4 ชนิด
  •  รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมากกว่า 14 วัน
  •  มีภาวะซึ่งจำเป็นที่ต้องใช้ยาในการบรรเทา/รักษา มากกว่า 4 อย่าง
  •  มีประวัติการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  •  มีภาวะมึนงง หรือหลงลืม
  •  ได้รับยาเพิ่มขึ้นจากเดิม 2-4 ชนิด ขณะที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

 

การใช้ยาในผู้สูงวัยจึงต้องเป็นไปในลักษณะที่เริ่มจากขนาดยาที่ต่ำและค่อยๆ ปรับขนาดยาอย่างช้าๆ เพื่อหาขนาดที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย (Start low and go slow) โดยคำนึงถึงบริบทของคุณภาพชีวิตร่วมด้วยเสมอ

ความเข้าใจในยาที่รับประทานก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากยาบางประเภทเป็นยาที่ผลิตโดยกรรมวิธีที่พิเศษ เช่น  ยาออกฤทธิ์เนิ่นชนิดต่างๆ ซึ่งห้ามเคี้ยว หัก หรือบด เนื่องจากทำให้ยาปลดปล่อยสารสำคัญผิดพลาดไป นอกจากนี้ยาบางอย่างต้องรับประทานหลังอาหารทันที เช่น ยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAID ยาบางชนิดมีเวลาที่จำเพาะในการรับประทาน เช่น ยาขับปัสสาวะไม่ควรรับประทานหลังเวลาเที่ยง เนื่องจากจะทำให้ปัสสาวะบ่อยจนรบกวนการนอนในช่วงกลางคืน เป็นต้น

ผู้ที่ดูแลผู้ป่วย หรือลูกหลาน ควรที่จะมีความเข้าใจในโรคที่ผู้สูงวัยเป็นอยู่ด้วย โดยพึงระลึกเสมอว่า ยาที่ใช้นั้นเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยพยุงภาวะของโรคที่เป็นอยู่ การดูแลให้ได้รับประทานยาตรงเวลาด้วยวิธีการรับประทานที่ถูกต้อง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลี่ยงการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงสิ่งบั่นทอนสุขภาพ การออกกำลังกายอยู่เสมอ และการทำจิตใจ  ให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เป็นประจำ ย่อมทำให้โรคภัยที่เป็นอยู่นั้นบรรเทาลง  ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ใช้ยาในผู้สูงวัย เป็นสิ่งที่ผู้ดูแลต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องด้วยสภาวะร่างกายที่เปลี่ยนไปจากวัยหนุ่มสาว ดังนั้นการใช้ยาจึงควรที่จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ หรือเภสัชกร โดยใช้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ควบคู่กับการรักษาด้วยยา และหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
 

ข้อมูลสื่อ

337-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 337
พฤษภาคม 2550