การใช้ยา พอเพียง
ภก.วิรัตน์ ทองรอด
ยารักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก
คำถาม เป็นริดสีดวงทวารหนัก ควรใช้ยาอะไร?
โรคริดสีดวงทวารหนัก มาจากคำสองคำประสมกัน คือคำว่า "ริดสีดวง" + "ทวารหนัก" คำว่า "ริดสีดวง" จะหมายถึง สิ่งผิดปกติที่เป็นติ่ง หรือเนื้อยื่นออกมาจากร่างกาย นิยมใช้เรียกโรคริดสีดวง ที่เกิดขึ้นที่ทวารหนักเสียเป็นส่วนใหญ่ จนบางครั้งจะเรียกสั้นๆ ว่า ริดสีดวง ก็เข้าใจว่าเป็นโรคริดสีดวงของทวารหนัก
ในอดีตมีอีกโรคหนึ่งที่ใช้คำว่าริดสีดวงเหมือนกัน แต่ไม่ใช่โรคริดสีดวงทวารหนัก ก็คือโรคริดสีดวงของจมูก ซึ่งหมายถึง เนื้องอกผิดปกติในโพรงจมูก มักพบในผู้ป่วย โรคภูมิแพ้ชนิดเรื้อรัง ซึ่งปัจจุบันไม่นิยมเรียกว่าริดสีดวงจมูกแล้ว แต่จะเรียกเนื้องอกในโพรงจมูกแทน
โรคริดสีดวงทวารหนัก จึงหมายถึง โรคที่เกิดความ ผิดปกติเป็นติ่งเนื้อของทวารหนักเกิดการยื่นออกมา ซึ่งพบได้บ่อยและเป็นปัญหาสำหรับประชาชนทั่วไป
ที่สหรัฐอเมริกามีการศึกษาและประมาณว่า เกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรชาวอเมริกันเคยเป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก และคาดว่าประเทศไทยก็พบโรคนี้ได้บ่อยเช่นกัน
โรคริดสีดวงทวารหนักเกิดได้อย่างไร
ติ่งเนื้อผิดปกตินี้ เกิดจากหลอดเลือดดำที่ผนัง ของลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและทวารหนัก มีการบวมและอักเสบขึ้น มักมีอาการคัน ปวด และอาจมีเลือดออกจากทวารหนักร่วมด้วย การที่ผนังหลอดเลือดดำมีการอักเสบบวม ทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อหรือติ่งเนื้อนุ่มๆ ยื่นออกมาที่บริเวณทวารหนัก บางรายอาจมีของเหลวลื่นๆ เหนียวๆ ไหลออกจากทวารหนัก
สาเหตุของริดสีดวงทวารหนัก
ส่วนใหญ่เกิดจากการเบ่งถ่ายอุจจาระบ่อยๆ นานๆ ซึ่งเป็นผลของท้องผูก การตั้งครรภ์ พฤติกรรมการดำรงชีวิต และลักษณะของการถ่ายอุจจาระ เช่น ชอบอ่านหนังสือในห้องสุขา การถ่ายอุจจาระบนส้วมชักโครก การยกของหนักๆ การนั่งหรือยืนท่าใดท่าหนึ่งติดต่อกันนานๆ การกลั้นอุจจาระ เป็นต้น
การเบ่งอุจจาระบ่อยๆ นานๆ จะส่งผลเพิ่มระดับแรงดันในช่องท้อง ทำให้การไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักไม่สะดวก เกิดการยืด
ย่น คด งอ พอง และโตขึ้นเป็นติ่งเนื้อ เหมือนกับการเป่าเติมลมเข้าไปในลูกโป่ง เมื่อลูกโป่งโตขึ้น ก็จะมีความหนาของผนังลดน้อยลง เมื่อใดก็ตามที่มีของแข็งๆ มาเสียดสี เช่น อุจจาระแข็งๆ หรือเพิ่มระดับแรงดันขึ้นอีก ก็จะทำให้เกิดการปริแตกหรือฉีกขาดของหลอดเลือดดำ ทำให้เกิดเลือดออกมาเป็นเลือดสดๆ ได้
นอกจากการเบ่งถ่ายอุจจาระนานๆ ซึ่งเป็นสาเหตุ หลักแล้ว ยังพบว่าระดับความดันเลือดในตับที่สูง (ซึ่งเกิดได้จากความอ้วน หรือโรคตับ) อายุที่มากขึ้น อาการท้องเสียเรื้อรัง หรือการร่วมเพศทางทวารหนัก ล้วนเป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดริดสีดวงทวารหนักได้เช่นกัน
ชนิดของริดสีดวงทวารหนัก
แบ่งได้เป็น ๒ ชนิดใหญ่คือ ริดสีดวงทวารหนักภายใน และริดสีดวงทวารหนักภายนอก
ริดสีดวงทวารหนักภายใน เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด เกิดติ่งเนื้อบวมขึ้นอยู่ภายในทวารหนัก ไม่สามารถ สัมผัสได้ โดยมากมักไม่มีอาการเจ็บปวด แต่สังเกตได้จากอาการเลือดสดๆ ไหลออกพร้อมๆ กับอุจจาระ
ริดสีดวงทวารหนักภายนอก เป็นชนิดที่มีติ่งเนื้อ นุ่มๆ ยื่นออกมาจากทวารหนัก มักมีอาการเจ็บปวด และอาจมีเลือดออกได้เมื่อมีการเบ่งอุจจาระ
ความรุนแรงของริดสีดวงทวารหนัก
ความรุนแรงของโรคริดสีดวงทวารหนักแบ่งได้เป็น ๔ ระยะคือ
๑. ระยะที่ยังไม่มีติ่งเนื้อหรือก้อนยื่นออกมานอกทวารหนัก
๒. ระยะที่เริ่มมีติ่งเนื้อหรือก้อนยื่นออกมาขณะเบ่ง ถ่ายอุจจาระ และจะหดกลับเข้าไปได้เอง โดยไม่ต้องใช้มือช่วยดันเข้าไป
๓. ระยะที่มีติ่งเนื้อหรือก้อนยื่นออกมาขณะเบ่งอุจจาระ แต่ไม่หดกลับเข้าไปได้เอง จะต้องใช้มือช่วยดันเข้าไป จึงจะกลับเข้าไปในทวารหนัก
๔. ระยะนี้มีติ่งเนื้อหรือก้อนยื่นออกมาแล้ว ไม่สามารถใช้มือดันติ่งเนื้อนี้เข้าไปในทวารหนักได้เลย
การรักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก
เนื่องจากโรคริดสีดวงทวารหนักส่วนใหญ่มักไม่มีอันตรายถึงชีวิต และถ้ามีการดูแลรักษาปฏิบัติตนเองได้ดี อาการเลือดออกและการเจ็บปวดก็จะทุเลาลง หรือหายได้เองภายใน ๑-๒ สัปดาห์
กรณีที่ระดับความรุนแรงของโรคอยู่ในระยะที่ ๑ ไม่ว่าจะเลือดออกหรือไม่ จะเน้นการใช้ยาและการดูแลปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญ และถ้าโรคลุกลามเข้าสู่ระยะที่ ๒ หรือเริ่มเข้าสู่ระยะที่ ๓ (แต่ยังมีขนาดเล็กอยู่) แนะนำให้การดูแลรักษาปฏิบัติตนเองควบคู่กับการใช้ยา แต่ถ้าความรุนแรงของโรคเข้าสู่ระยะที่ ๓ (ร่วมกับมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่) หรือเป็นระยะที่ ๔ หรือรายที่เป็นรุนแรง เช่น มีเลือดไหลอยู่ตลอดเวลา ก็ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
ยารักษาโรคริดสีดวงทวาร
ขณะที่มีอาการเลือดออกและ/หรือเจ็บปวด ควรแนะนำการปฏิบัติตัวควบคู่กับการใช้ยาเหน็บทางทวารหนัก ซึ่งเป็นยาใช้ภายนอก มีทั้งชนิดแท่งและชนิดขี้ผึ้ง มักจะประกอบด้วย ยาชา (บรรเทาอาการปวด) ยาลดการอักเสบ ยาหดตัวของหลอดเลือด และยาปฏิชีวนะ ซึ่ง ผู้ผลิตมักผลิตยาของตนเองทั้ง ๒ ชนิดคือ ทั้งชนิดแท่งและชนิดขี้ผึ้ง ซึ่งมีส่วนประกอบของตัวยาและความเข้มข้นเท่ากัน
การใช้ยาชนิดแท่ง (suppository) ควรแช่ในตู้เย็น น้ำแข็ง หรือน้ำเย็น เพื่อให้ยาแข็งตัว ก่อนนำออกมาใช้ (เพราะที่อุณหภูมิห้อง ยานี้จะเป็นของเหลว แต่ถ้าแช่เย็น ยานี้จะแข็ง เมื่อเหน็บเข้าไปในร่างกายแล้ว อุณหภูมิของร่างกายที่ร้อนกว่า จะช่วยละลายยาให้กระจายไปทั่วบริเวณ) เมื่อแข็งตัวดีแล้ว ก็นำแท่งยาสอดเข้าทางรูทวารหนักให้สุด วันละ ๑-๒ ครั้ง หลังการถ่ายอุจจาระ และอีกเวลาหนึ่ง อาจเป็นเวลาเช้า หรือก่อนนอนก็ได้ แล้วแต่สะดวก ให้ห่างกันประมาณ ๑๒ ชั่วโมง
กรณีที่เป็นขี้ผึ้ง ผู้ผลิตมักแนบหลอดต่อกับปากของหลอดยา เพื่อใช้สวนเข้าในช่องทวารหนัก แล้วบีบยาขี้ผึ้งเข้าไป ซึ่งมีความถี่และระยะเวลาการให้ยาเช่นเดียวกับยาแท่งคือ วันละ ๑-๒ ครั้ง ให้ห่างกันประมาณ ๑๒ ชั่วโมง
นอกจากนี้ อาจมียาหดตัวของหลอดเลือด ยาฝาดสมาน ยาช่วยเพิ่มความแข็งแรงของหลอดเลือดดำ ยาระบาย มาใช้ในการบรรเทาอาการของริดสีดวงทวาร
สรุป
โรคริดสีดวงทวารมีหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการเบ่งอุจจาระนานๆ ซึ่งมักเกิดจากท้องผูก มีหลาย ระดับความรุนแรง การดูแลปฏิบัติตนเองที่ดีในการดำเนินชีวิต อาหาร และการถ่ายอุจจาระมีผลต่อโรคนี้ ถ้าลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ ก็จะช่วยป้องกันการเกิดโรค หรือถ้าเป็นแล้ว ก็จะช่วยลดความรุนแรงและบรรเทาอาการได้อย่างดี ทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นใหม่ได้โดยง่าย
การใช้ยาส่วนใหญ่เป็นการบรรเทาอาการเท่านั้น ซึ่งควรใช้ให้ถูกวิธี ถ้าดูแลรักษาตนเองมาสัก ๑-๒ สัปดาห์ แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือกลับรุนแรงมากขึ้น ก็ควรไปขอคำปรึกษากับแพทย์ หรือเภสัชกรที่ประจำอยู่ที่ร้านยา ซึ่งพร้อมให้ความกระจ่าง และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ต่อสุขภาพ
การปฏิบัติดูแลตนเอง
อาการและความรุนแรงของโรคจะทุเลา บรรเทาได้อย่างมาก ด้วยการดูแลปฏิบัติตนเองที่ดีดังนี้
๑. ควรนั่งแช่น้ำอุ่น ๑๐-๑๕ นาที วันละ ๓ ครั้ง เพื่อช่วยลดอาการปวด การอักเสบ และช่วยทำความสะอาดบริเวณที่เป็นโรค
๒. ควรหลีกเลี่ยงอาการท้องผูก เพราะท้องผูกเป็นสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งของริดสีดวงทวารหนัก ทั้งเป็นสาเหตุของการเบ่ง และทำให้อุจจาระแข็ง ซึ่งมีวิธีแก้ไขอาการท้องผูกดังนี้
- กินอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ และเมล็ดธัญพืช เพื่อช่วยให้อุจจาระนุ่มขึ้น
- ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ ๘ แก้ว หรือ ๒ ลิตร อย่างสม่ำเสมอ
- ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกาเฟอีน เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ กาแฟ ชา น้ำโคล่า เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ อุจจาระแข็ง และถ่ายลำบากขึ้น
- ควรหลีกเลี่ยงกลั้นอุจจาระ
- ไม่ควรนั่งหรือเบ่งอุจจาระโดยไม่รู้สึกปวดจะถ่าย
๓. ควรหลีกเลี่ยงการขัดถูบริเวณทวารหนักอย่างรุนแรง เพราะจะยิ่งระคายเคืองริดสีดวงทวารหนัก
๔. ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะจะช่วยเพิ่ม กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ ทำให้ถ่ายอุจจาระได้ง่าย
นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรสำรวจและสังเกตตนเองว่า ตนเองมีพฤติกรรมที่เสี่ยงในการส่งเสริมทำให้ท้องผูก หรือปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคริดสีดวงทวารหนัก เช่น ชอบอ่านหนังสือในห้องสุขา การถ่ายอุจจาระบนส้วมชักโครก การยกของหนักๆ การนั่งหรือยืนท่าใดท่าหนึ่งติดต่อกันนานๆ การกลั้นอุจจาระ เป็นต้น ซึ่งถ้าพบและแก้ไขสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นอย่างมาก
- อ่าน 218,226 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้