• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดกล้ามเนื้อ

คนกับงาน
 ผศ.ดร.วรรธนะ ชลายนเดชะ  คณะกายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวประยุกต์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ปวดกล้ามเนื้อป้องกันได้ด้วยการยืดเหยียด

อาการปวดเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อมักพบได้บ่อยทั้งในคนทำงานนั่งโต๊ะและผู้ใช้แรงงาน ถ้าไม่ได้จัดการกับอาการปวดเมื่อยและล้ากล้ามเนื้ออย่างเหมาะสม อาการอาจมากขึ้นจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังของกล้ามเนื้อ (myofascial pain) การยืดกล้ามเนื้อเป็นวิธีหนึ่ง ที่ช่วยป้องกันและรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อได้

อาการปวดเมื่อยล้ากล้ามเนื้อ
เกิดได้จาก
๑. กล้ามเนื้อต้องเกร็งค้างอยู่นานๆ (isometric work) กล้ามเนื้อเกร็งค้างนานๆ ที่พบบ่อย เช่น การเกร็ง กล้ามเนื้อบ่าตลอดเวลาในการสะพายกระเป๋าเพื่อไม่ให้หลุดจากบ่า แม้ว่าจะไม่ได้ใช้แรงกล้ามเนื้อมากนักแต่เป็นการเกร็งค้าง มีการบีบกดของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อนั้น ทำให้การนำออกซิเจนมาช่วยเผาผลาญสารอาหารทำได้ไม่เต็มที่ ร่างกายต้องใช้กระบวนการที่ไม่ใช้ออกซิเจน นำมาซึ่งการคั่งของกรดแล็กติก ซึ่งถ้าไม่ได้ระบายออกด้วยการไหลเวียนของเลือด จะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยล้าได้  กล้ามเนื้อที่มีอาการปวดล้าได้ง่ายได้แก่ กล้ามเนื้อ บริเวณบ่า คอด้านหลัง และหลังส่วนล่าง
                 
๒. มีภาวะหดสั้นของกล้ามเนื้อ พบที่กล้ามบริเวณหน้าอก กล้ามเนื้อคอด้านหน้า กล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้องอสะโพก การใช้มือทำงานทางด้านหน้าของการทำงานโดยทั่วไปจะทำให้กล้ามเนื้อหน้าอกอยู่ในภาวะที่หดสั้นตลอดเวลาจนความยาวของกล้ามเนื้อลดลง เมื่อจะต้องใช้งานกล้ามเนื้อนั้นขณะที่ยืดยาวออกจะบาดเจ็บได้ การนั่งนานจะทำให้เกิดการหดสั้นของกล้ามเนื้อหน้าท้อง และกล้ามเนื้องอสะโพกที่อยู่ทางด้านหน้าของลำตัวได้
                  
๓. การออกแรงอย่างหนักของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการคั่งของกรดแล็กติก ทำให้กล้ามเนื้อล้าและปวด อาการปวดจะกระตุ้นกล้ามเนื้อให้เกร็งแข็งโดยอัตโนมัติ (muscle spasm) ถ้าไม่ได้ผ่อนคลายอาการ ตึงตัวของกล้ามเนื้อ มักจะทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ เรื้อรังได้ พบได้ในกล้ามเนื้อทุกมัดที่ต้องออกแรงอย่างหนัก

ป้องกันอาการปวดกล้ามเนื้อได้อย่างไร
ไม่อยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่น ก้มคอหรือหลัง มากเกินไป ไม่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ เช่น นั่งนานเกิน ๒ ชั่วโมง ปรับกิจกรรมที่ทำให้กล้ามเนื้อต้องเกร็งค้างตลอดเวลา เช่น จากการสะพายกระเป๋าที่หนักเกินไป ให้ลดน้ำหนักลงหรือสะพายสลับข้าง หรือใช้มือถือบ้างเพื่อเปลี่ยนกลุ่มกล้ามเนื้อที่ใช้ในการทำงาน
หลังจากปรับสภาพงานหรือเปลี่ยนวิธีการทำงานแล้ว การออกกำลังด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่ใช้งานจะช่วยลดการตึงตัว เพิ่มการไหลเวียนของเลือดและความยืดหยุ่น โอกาสที่ความปวดเมื่อยล้าและบาด-เจ็บจากการทำงานจะลดลง

วิธีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อด้วยตนเอง
การยืดกล้ามเนื้อทำได้ดังนี้ 
 ๑. ยืดจุดเกาะต้นและปลายของกล้ามเนื้อออกจากกัน 
 ๒. ค่อยๆ ยืดกล้ามเนื้อออกช้าๆ จนรู้สึกตึงประมาณ ๗ ใน ๑๐ ให้ใช้ความรู้สึกเป็นตัววัดความตึงในกล้ามเนื้อ ไม่รู้สึกตึงเลยเป็นเลขศูนย์ (๐) ขณะที่ตึงมากสุดจนทนไม่ได้เป็นเลขสิบ (๑๐) 
 ๓. ค้างไว้อย่างน้อย ๑๐ วินาที
การยืดกล้ามเนื้อแบบนี้จะลดการทำงานของรีเฟล็กซ์ การหดกลับของกล้ามเนื้อ (stretch reflex) และทำให้เกิดการคืบ (creep) ในกล้ามเนื้อ ผลทั้งสองอย่างจะทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้อย่างสมบูรณ์    
                 
หลายคนคงเคยเห็นนักกีฬายืดกล้ามเนื้อแบบ   ซ้ำๆ และเร็วๆ สลับไปมา (ballistic stretching)  การยืดแบบนี้จะกระตุ้นรีเฟล็กซ์การหดกลับของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อจะหดตัวขณะยืดเสมือนเป็นการต้านแรงกัน  ทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาดได้ การยืดกล้ามเนื้อแบบนี้จะได้ผลและปลอดภัยในผู้ที่มีความชำนาญ (เช่น นักกีฬา) เท่านั้น 
 

ข้อมูลสื่อ

337-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 337
พฤษภาคม 2550
คนกับงาน
ผศ.ดร.วรรธนะ ชลายนเดชะ