• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระเจียว

 
เดชา ศิริภัทร 
มูลนิธิข้าวขวัญ

                                                                 
กระเจียว  อัญมณีจากพงไพรที่เริ่มเปล่งประกาย
                   
ปีพ.ศ. ๒๕๕๐ อาจเป็นปีที่    ชาวไทยส่วนใหญ่เริ่มยอมรับ   ว่า ปรากฏการณ์โลกร้อน (Global warming) เป็น   สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ โดยเฉพาะกับประเทศไทย เพราะอากาศเริ่มร้อนขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เมื่อถึงเดือนมีนาคม อุณหภูมิบางแห่งก็ทะลุ ๔๐ องศาเซลเซียสแล้ว เดือนเมษายน ซึ่งปกติเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในประเทศไทย คงจะทำสถิติร้อนที่สุดในรอบหลายสิบปี หากไม่มีฝนหลงฤดูมาลดอุณหภูมิลงไปบ้าง
                   
อากาศที่ร้อนจัดทำให้ไม้ดอกหลายชนิดเหี่ยวเฉา   แต่ไม้ดอกพื้นเมืองส่วนใหญ่ กลับออกดอกงดงาม      เป็นพิเศษ เช่น คูน หรือราชพฤกษ์ เป็นต้น จากนี้ไป   ในอนาคตที่แนวโน้มอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงคาดว่า พันธุ์ไม้ดอกพื้นเมืองของไทย จะเพิ่มความสำคัญขึ้นทุกที ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังขยายออกไปต่างแดนด้วย ตัวอย่างที่จะยกมาในที่นี้  คือ กระเจียว

กระเจียว : ไม้ดอกพื้นบ้านดั้งเดิมจากพงไพร
กระเจียวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma aeruginosa Roxb. อยู่ในวงศ์ Zingiberaceae  เช่นเดียวกับ ขิง ข่า ขมิ้น ฯลฯ เป็นพืชล้มลุกที่มีลำต้นใต้ดิน (เรียกว่าหัว)
ใบ  จะงอกออกจากลำต้นใต้ดินในฤดูฝน โผล่    พ้นผิวดินขึ้นมา ประกอบด้วยก้านใบ (กาบใบ) ห่อรวมกันแน่นกลายเป็นลำต้นเทียม แล้วแยกออกจากกันเป็นก้านใบ และแผ่นใบ คล้ายกระชาย หรือขมิ้น สูงตั้งแต่ประมาณ ๒๐-๓๐ เซนติเมตร ขึ้นไปถึงราว ๑๐๐ เซนติเมตร
ดอก  ดอกกระเจียวจะโผล่ออกตรงกลางลำต้นเทียมเป็นดอกแบบช่อ  ก้านช่อดอกยาวตรง มีดอกจริงอยู่รอบๆ ก้านดอก เป็นชั้นๆ ด้านนอกมีใบประดับดอกเป็นกลีบหนา และมีสีสวยงาม เช่น  สีส้ม สีแดง สีขาว สีชมพู สีเขียว เป็นต้น ดอกกระเจียวจะออกดอกใน     ช่วงฤดูฝน มีอายุบานอยู่บนต้นประมาณ ๒ สัปดาห์ ก็จะเหี่ยวร่วงโรยไป แต่บางสายพันธุ์ก็อาจบานได้นานถึง ๑ เดือน
             
ถิ่นกำเนิดของกระเจียว อยู่ในป่าทุกภาคของ   ประเทศไทย เช่น ภาคเหนือ อีสาน กลาง และใต้ โดยพบขึ้นอยู่หลากหลายในภาคเหนือ และภาคอีสาน มากกว่าภาคอื่น นอกจากนี้ยังพบในเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น พม่า ลาว เขมร มาเลเซีย เวียดนาม ด้วย คนไทยรู้จักกระเจียวมานานแล้ว ดังปรากฏในหนังสืออักขราภิธาน-ศรับท์ พ.ศ. ๒๔๑๖ ว่า "กระเจียว : ผักอย่างหนึ่ง ต้นใบเช่นขมิ้นขึ้นอยู่กลางทุ่ง กลางป่าข้างเหนือ ดอกมันกินได้"
            
กระเจียว มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ว่านมหาเมฆ ดอกดิน กระชายดง (เลย) อาว (เชียงใหม่)

ประโยชน์
เดิมคนไทยใช้หน่ออ่อน และดอกอ่อนของกระเจียว เป็นอาหาร (ผัก) กินกับน้ำพริกหรือใช้แกง และใช้หน่ออ่อนเป็นยาสมานแผล ดอกอ่อนใช้ขับลม เป็นต้น 
ปัจจุบันกระเจียวกลายเป็นไม้ดอกที่มีชื่อเสียง ทั้งในพื้นที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ทุ่งดอกกระเจียว  จังหวัดชัยภูมิ และการปลูกเป็นการค้า เป็นไม้ดอกกระถาง ทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ เป็นไม้ดอกที่ส่งออกติดอันดับต้นๆ ของไทยอย่างหนึ่ง และมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นทุกปี เพราะส่งออกในรูปหัวซึ่งสะดวก และประหยัดกว่าการส่งออกเป็นต้นหรือดอก
            
ปัจจุบันมีผู้เก็บรวบรวมพันธุ์กระเจียวจากธรรมชาติ มาคัดเลือก และปรับปรุงโดยการผสมพันธุ์อย่างจริงจังหลายราย ทั้งส่วนราชการและเอกชน ประสบความสำเร็จดียิ่ง ดังเช่นที่ได้รับรางวัลในการประกวดไม้ดอกนานาชาติในงานพืชสวนโลก (ราชพฤกษ์) ที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อต้นปีนี้ ทำให้ชาวโลกได้รู้จัก และยอมรับความงามของกระเจียวมากขึ้น อนาคตของกระเจียวจึงสดใสดุจอัญมณีที่ถูกเจียระไนแล้วเริ่มเปล่งประกายเข้าตาชาวโลก 

ข้อมูลสื่อ

337-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 337
พฤษภาคม 2550
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร