• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก

คำๆ นี้ ยังได้ยินอยู่บ่อยๆ จนเป็นที่คุ้นหูของคนทั่วไป  ถือว่าเป็นโรคติดต่อที่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทยและอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก การส่งเสริมให้คนออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงเป็นการการสร้างสุขภาพที่ดีมาก แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะต้องเฝ้าระวังตนเอง และคนในครอบครัวไม่ให้ได้รับเชื้อโรคชนิดต่างๆ เข้าสู่ร่างกายอันจะนำไปสู่การเกิดโรคได้ด้วย
            
โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ ซึ่งมีอยู่ 4 ชนิด โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค หลังจากถูกยุงลายตัวที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่กัด 5-8 วัน จึงเริ่มมีอาการไข้สูงอย่างกะทันหันเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ที่ต้องระวังมากๆ ช่วงไข้สูงคืออาการชัก ต้องเช็ดตัวเป็นระยะๆ พร้อมกินยาลดไข้ตามแพทย์สั่ง มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว  หน้าแดง เป็นไข้ได้ตั้งแต่ 2 ถึง 7 วัน

             
ในระยะแรกๆ ของอาการไข้ยังวินิจฉัยไม่ได้ชัดว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไม่  ต้องสังเกตอาการร่วม เช่น อาจพบจุดเลือดเล็กๆ ตามตัวใต้ผิวหนัง หรือตามข้อพับแขนขา  อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร มักจะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูกซึ่งต่างจากโรคหัดหรือไข้หวัด กดเจ็บชายโครงด้านขวาบริเวณตับซึ่งคลำพบได้ประมาณวันที่ 3-4 นับจากเริ่มป่วย ตับจะนุ่มและกดเจ็บ อาการเหล่านี้ จะหายไปหาก    ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เองจนเป็นปกติ แต่หากยัง   ไม่หายประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงที่เรียกว่าช็อกในช่วงไข้ลด มีสัญญาณอันตราย คือ ผู้ป่วยมีอาการซึม อ่อนเพลียมาก กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วแต่เบา ปวดท้องกะทันหัน กระหายน้ำหรือปัสสาวะน้อยลง อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระสีดำ อาจเสียชีวิตได้ภายใน 12-24 ชั่วโมง ต้องรีบพาผู้ป่วยกลับไปหาแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็วที่สุด 
              
ไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่เป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นกับเด็กวัยเรียน และป้องกันได้โดยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย  ซึ่งเกี่ยวข้องกับน้ำกินน้ำใช้ในภาชนะบริเวณบ้าน รวมทั้งภาชนะที่ไม่ใช้ตั้งระเกะระกะ ขยะแก้วพลาสติกที่ทิ้งไว้ ล้วนเป็นแหล่งน้ำที่ใส นิ่ง ยุงลายชอบ    วางไข่ การป้องกันก็ต้องมองไปที่ต้นเหตุดังกล่าว

ทำง่ายๆ จำง่ายๆ คือ มาตรการ 4 ป. คือ

ปิด ฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิดไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ 
เปลี่ยน น้ำในถังเก็บทุก 7 วันตัดวงจรการเกิดยุงลาย
ปล่อย   ปลากินลูกน้ำก่อนจะกลายเป็นตัวยุง และเป็นประจำ ทำ คว่ำ เท ทำความสะอาดรอบบ้านไม่ให้เป็นที่เกาะพักและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ภาชนะที่ไม่ใช้    ก็ให้เทน้ำทิ้งและคว่ำให้เป็นระเบียบ
และสุดท้ายเพื่อความไม่ประมาทต้องระวังไม่ให้ถูกยุงลายกัดด้วยการนอนในมุ้ง หรือติดมุ้งลวดสำหรับห้องนอน
               
หากความรักครอบครัวแสดงออกด้วยพฤติกรรมการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่ทำเป็นประจำ ก็จะนำพาครอบครัวให้เข้มแข็ง ห่างไกลจากภัยร้ายไข้เลือดออก ความหวังที่อยากจะเห็นลูกหลานได้เติบใหญ่ได้ดีก็ไม่ต้องหยุดลงเพราะอาจจากไปด้วยไข้เลือดออกอย่างแน่นอน อย่าลืมสุภาษิต "กันไว้ดีกว่าแก้ ถ้าแย่อาจแก้ไม่ทัน"

ข้อมูลสื่อ

338-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 338
มิถุนายน 2550
เรื่องน่ารู้