• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หมอนรองกระดูกเคลื่อน

 นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ

หมอนรองกระดูกเคลื่อน

โรคนี้พบได้บ่อยในคนหนุ่มสาว และวัยกลางคนที่ทำงานหนัก พบได้น้อยในคนอายุมากกว่า ๖๐ ปีขึ้นไป
หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน* เป็นโรคที่พบ ได้บ่อยในวัยหนุ่มสาวและวัยกลางคน ทำให้มีอาการปวดหลังและปวดขาเรื้อรัง ซึ่งสร้างความรำคาญ ความทุกข์ทรมาน และความวิตกกังวลให้ผู้ป่วยและญาติ แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีอันตรายร้ายแรง สามารถให้การดูแลรักษาให้อาการทุเลาและกลับมีคุณภาพชีวิตเป็นปกติได้ ส่วนน้อยที่เป็นรุนแรง ถึงขั้นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด


                 

ชื่อภาษาไทย     หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน, หมอนรองกระดูกเคลื่อน
ชื่อภาษาอังกฤษ   Herniated disk, Herniated intervertebral disk
สาเหตุ
เกิดจากหมอนรองกระดูกที่เสื่อมตามอายุ  มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อเส้นใยชั้นเปลือกนอก ปล่อยให้เนื้อเยื่อกระดูกอ่อนตรงกลางซึ่งมีลักษณะ คล้ายวุ้นแตก (rupture) หรือเลื่อน (herniation) ออกมากดทับรากประสาทและเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆ รากประสาท ทำให้เกิดอาการของโรคนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่มีประวัติการบาดเจ็บชัดเจน อาจเกิดจากแรงกระทบเพียงเล็กน้อยจากการทำกิจวัตรประจำวันหรือจากอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม ส่วนน้อยเกิดหลังจากได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน เล่นกีฬา อุบัติเหตุ ยกหรือเข็นของหนัก
                
ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือสูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากขึ้น เนื่องจากมีออกซิเจนในเลือดไปเลี้ยงหมอนรองกระดูกน้อยลง จึงเสื่อมได้ง่ายขึ้น ส่วนผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือทำอาชีพที่ต้องเข็นหรือยกของหนักก็เสี่ยงต่อการเกิดแรงกระทบต่อหมอนรองกระดูกทำให้เกิดโรคนี้ได้มากขึ้น
อาการ
ขึ้นกับตำแหน่งของหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนและเส้นประสาทที่ถูกกด ส่วนใหญ่พบที่หมอนรองกระดูกบริเวณเอว (พบบ่อยในกลุ่มอายุ ๓๕-๔๕ ปี) ส่วนน้อยพบที่บริเวณคอ (พบบ่อยในกลุ่มอายุ ๔๐-๕๐ ปี) อาจมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันรุนแรง หรือค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อยก็ได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีประวัติเกิดอาการหลังได้รับบาดเจ็บหรือยกของหนัก แต่ส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่ามีเหตุกำเริบจากอะไร
                
รายที่หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อน จะมีอาการปวดตรงกระเบนเหน็บ ซึ่งจะปวดร้าว เสียวๆ แปลบๆ และชาจากบริเวณแก้มก้นลงมาถึงน่องหรือปลายเท้า อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเวลามีการเคลื่อนไหว เวลาก้ม นั่ง ไอ จาม หัวเราะ หรือเบ่งถ่าย ในรายที่เป็นมากเท้าจะไม่ค่อยมีแรงและชา อาจถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ไม่ได้ หรือกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่อยู่ มักพบเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น นอกจากในรายที่เป็นมากอาจมีอาการทั้ง ๒ ข้าง
               
รายที่หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเคลื่อน จะมีอาการปวดบริเวณต้นคอ ปวดร้าว เสียวๆ แปลบๆ และชาลงมาที่ไหล่ แขน และปลายมือ มักมีอาการเวลาแหงนคอไปด้านหลัง หรือหันศีรษะไปข้างที่เป็น ถ้าเป็นมาก แขนและมืออาจมีอาการอ่อนแรง

การแยกโรค
อาการปวดรากประสาท (ปวดร้าว เสียวๆ แปลบๆ และชาลงแขนหรือขา) เนื่องจากรากประสาท ถูกกดทับ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น  "โพรงกระดูกสันหลังแคบ" (spinal stenosis) มีอาการปวดหลังและปวดร้าวและชาลงขาข้างหนึ่ง แบบเดียวกับหมอนรองกระดูกเคลื่อน แต่มักพบในคนอายุมากกว่า ๖๐ ปี (อาจเริ่มเป็นตั้งแต่อายุ ๔๐ ปี โดยในช่วงแรกๆ อาจไม่มีอาการแสดงก็ได้) เกิดจากกระดูก   สันหลังเสื่อมตามอายุ และมีการหนาตัวของเอ็นรอบๆ โพรงกระดูกสันหลัง (spinal canal) ทำให้มีการตีบแคบของโพรงดังกล่าว ซึ่งจะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย ใช้เวลานานเป็นแรมปีหรือหลายปี จนในที่สุดเกิดการกดทับรากประสาทที่แยกออกมาจากไขสันหลังผ่านโพรงดังกล่าว ผู้ป่วยมักมีอาการปวดน่องเวลาเดินไปสักครู่ และทุเลาเมื่อหยุดพักร่วมด้วย อาการปวดหลังมักจะทุเลาเวลาก้มหรือนั่ง            

  "เนื้องอกไขสันหลัง" และมะเร็งที่แพร่กระจายไปที่ไขสันหลัง (เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง) ก็จะทำให้มีอาการปวดคอหรือปวดหลัง และปวดร้าวและชาลงแขนหรือ    ขา แต่จะมีอาการแขนหรือขาอ่อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ภายในเวลาไม่นาน นอกจากนี้ อาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ไข้เรื้อรัง น้ำหนักลดร่วมด้วย
 อื่นๆ เช่น  วัณโรคกระดูกสันหลัง อุบัติเหตุทำให้กระดูกสันหลังได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น
 การวินิจฉัย
 เบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ และการ ตรวจร่างกาย ที่สำคัญได้แก่ การทดสอบเหยียดขาตรงตั้งฉาก โดยให้ผู้ป่วยนอนหงาย แล้วจับเท้าข้างที่สงสัยค่อยๆ ยกขึ้น โดยให้หัวเข่าเหยียดตรง จะพบว่าผู้ป่วยไม่สามารถยกเท้าเหยียดตรงตั้งฉาก (ทำมุม ๙๐ องศา) กับพื้นได้เช่นคนปกติ หรือได้น้อยกว่าเท้าอีกข้างที่ปกติ เช่นได้เพียง ๗๐ องศา หรือ ๔๕ องศา เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเสียวตามหลังเท้าจนไม่สามารถฝืนทนเหยียดเท้าให้ตั้งฉากกับพื้น
                    
แพทย์มักจะทำการยืนยันการวินิจฉัยโดยการเอกซเรย์กระดูกหลัง ถ่ายภาพกระดูกหลังด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือถ่ายภาพรังสีไขสันหลังโดยการฉีดสารทึบรังสี (myelography)
การดูแลตนเอง
ผู้ที่มีอาการปวดคอหรือปวดหลังเรื้อรัง หรือพบว่ามีอาการเสียวๆ แปลบๆ ปวดร้าวหรือชาลงแขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือ ๒ ข้าง หรือมีอาการบาดเจ็บที่คอหรือหลัง ควรไปปรึกษาแพทย์
                   

ถ้าพบว่าเป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อน ก็ควรได้รับการดูแลรักษาอย่างจริงจัง และปฏิบัติตัวดังนี้

  • หลีกเลี่ยงอิริยาบถและกิจกรรมที่ทำให้อาการปวดกำเริบ ปรับท่าทางในการทำงานและการขับรถให้เหมาะสม
  • หมั่นบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องให้    แข็งแรงด้วยท่าบริหารที่แพทย์แนะนำ
  • ลดน้ำหนักตัว
  • ขณะที่มีอาการปวดให้นอนหงายบนที่นอนแข็ง กินยาบรรเทาปวดและใช้น้ำอุ่นจัดๆ ประคบ
  • การรักษา

 

 ระยะแรกแพทย์จะให้การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัดก่อน ได้แก่ การให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์เป็นหลัก ซึ่งนอกจากช่วยบรรเทาปวดแล้ว ยังลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ รอบๆ รากประสาท ทำให้อาการทุเลาได้ ในรายที่มีการตึงตัวหรือเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหลัง ให้ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยากล่อมประสาท เช่น ไดอะซีแพมร่วมด้วย
                  
ในรายที่มีอาการเกิดขึ้นฉับพลันและปวดรุนแรง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพักในท่านอนหงายบนที่นอนแข็งตลอดเวลา (ลุกเฉพาะกินอาหารและเข้าห้องน้ำ) ๑-๒ วัน จะช่วยให้อาการทุเลาได้เร็ว ไม่ควรนอนติดต่อนานหลายวัน อาจทำให้กล้ามเนื้อหลังอ่อนแอ
                  
ในบางรายแพทย์อาจให้การรักษาทางกายภาพ- บำบัด (เช่น ประคบด้วยความเย็นและความร้อน ใช้     น้ำหนักถ่วงดึง) กระตุ้นปลายประสาทด้วยไฟฟ้า (TENS) การฝังเข็ม เป็นต้น
                  
ในบางรายแพทย์อาจให้ผู้ป่วยใส่ "เสื้อเหล็ก" หรือ "ปลอกคอ"
                 
ในรายที่มีอาการปวดมากและไม่สามารถบรรเทาด้วยยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์และยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล แพทย์อาจพิจารณาให้ยาแก้ปวดที่แรงขึ้น เช่น โคเดอีน (codeine) กาบาเพนทิน (gabapentin) เป็นต้น บางรายอาจให้เพร็ดนิโซโลน หรือฉีดสตีรยอด์เข้าบริเวณเนื้อเยื่อรอบๆ รากประสาทที่อักเสบเพื่อลดการอักเสบ
                
ในรายที่ให้การรักษาด้วยยาและกายภาพบำบัด ๓-๖ เดือนแล้วไม่ได้ผล ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ หรือมีภาวะแทรกซ้อน (เช่น กล้ามเนื้อลีบ หรืออ่อนแรง มีอาการชามาก ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้) ก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อปลดเปลื้องการกดรากประสาท และอาจเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลังให้     แข็งแรงในรายที่มีการเลื่อนของกระดูกสันหลัง (spondylolisthesis) การผ่าตัดมีหลายวิธีรวมทั้งวิธีใช้กล้องส่อง (laparoscopic surgery)
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าปล่อยให้รากประสาทถูกกดรุนแรงอาจทำให้ขาชา เป็นแผลติดเชื้อง่าย กล้ามเนื้อ ขาลีบ ขาอ่อนแรง เดินลำบาก ถ่ายอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ หรือกลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้
การดำเนินโรค
ผลการรักษา ส่วนใหญ่มักจะหายปวดและกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ สำหรับหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนที่ไม่รุนแรง อาการมักจะดีขึ้นภายใน ๔-๖ สัปดาห์ เนื่องจากหมอนรองกระดูกที่ไหลเลื่อนออกมาข้างนอก มักจะยุบตัวลงจนลดแรงกดต่อรากประสาทไปได้เอง
                
โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด มีประมาณร้อยละ ๑๐-๒๐ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะได้ผลดี แต่มีประมาณร้อยละ ๑๐ ที่อาจมีอาการปวดเรื้อรังต่อไป ในรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อนอยู่นานก่อนผ่าตัด อาการก็อาจไม่ดีขึ้นหลังผ่าตัด
การป้องกัน
๑. หมั่นออกกำลังกาย (เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องให้แข็งแรง
๒. ระวังรักษาอิริยาบถ (ท่านอน ท่านั่ง ท่ายืน ท่ายกของ) ให้ถูกต้อง
๓. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก เข็นของหนัก การนอนที่นอนที่นุ่มเกินไป
๔. ควบคุมน้ำหนักอย่าให้เกิน
๕. ไม่สูบบุหรี่ อาจทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมเร็ว
ความชุก
โรคนี้พบได้บ่อยในคนหนุ่มสาว และวัยกลางคนที่ทำงานหนัก เช่น แบกหาม ยกของ เข็นของหนัก และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่หลังจากการเล่นกีฬา หรืออุบัติเหตุ พบได้น้อยในคนอายุมากกว่า ๖๐ ปีขึ้นไป 

 

 

 

 

      


      

 

 

ข้อมูลสื่อ

338-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 338
มิถุนายน 2550
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ