ภก.วิรัตน์ ทองรอด
ผลข้างเคียงยาแผนโบราณ ผสมสตีรอยด์
คำถาม : ยาชุด ยาหม้อ ยาสมุนไพร และยาลูกกลอน ที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด จะมีอันตรายต่อร่างกายหรือไม่
ตลาดยาเสรี หรือไร้ระเบียบ ตามท้องตลาดทั่วประเทศไทยจะพบเห็นการจำหน่ายยาหลายชนิด เช่น ยาชุด ยาหม้อ ยาสมุนไพร และยาลูกกลอน จำนวนมากตามตลาดนัด ร้านชำ ห้างสรรพสินค้า วัด หรือท่าเรือ ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และเสี่ยงเกิดอันตรายกับร่างกาย
ยาชุด "อันตราย"
ยาชุด หมายถึง ยาแผนปัจจุบันหลากหลายชนิด ประมาณ ๓-๖ ชนิด บรรจุอยู่ในซองเดียวกัน ใช้กิน ครั้งเดียว เพื่อรักษาบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ของร่างกาย เช่น ยาแก้ปวดเมื่อย เคล็ด ขัด ยอก ปวดข้อ ปวดกระดูก แก้หอบหืด ภูมิแพ้ ผื่นคัน เป็นต้น ส่วนใหญ่จะมีจำหน่ายอยู่ตามร้านขายของชำ ร้านขายยาชานเมือง และชนบท เนื่องจากยาชุดบรรจุซอง ซองละ ๑ ชุด มีตัวยา ๓-๖ ชนิด ส่วนใหญ่ประกอบด้วยตัวยาที่เห็นผลเร็ว แต่มีอันตรายรุนแรงมาก เช่น เพร็ดนิโซโลน (prednisolone เม็ดเล็กสีชมพู) เด็กซ่าเมทาโซน (dexamethasone เม็ดเล็กสีส้มแสด) ไดไพโรน (dipyrone) ไดอะซีแพม (diazepam) เป็นต้น โดยเฉพาะยา ๒ ชนิดแรก ได้แก่ เพร็ดนิโซโลน และ เด็กซ่าเมทาโซน เป็นยาสตีรอยด์ (steroids) ที่บรรเทาอาการหลายอย่างได้ผลดี แต่อันตรายถึงชีวิต ผู้ผลิตที่ขาดคุณธรรมและมักง่ายนิยมนำยาสตีรอยด์นี้ผสมยาชุด ยาหม้อ ยาสมุนไพร และยาลูกกลอน เพื่อให้เห็นผลเร็ว โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดตามมา ถ้ามีการใช้ติดต่อ กันนานๆ
ยาหม้อ ยาสมุนไพร และยาลูกกลอน
ส่วนยาลูกกลอน ยาหม้อ และยาสมุนไพร จัดเป็น ประเภทยาสมุนไพร ได้จากธรรมชาติ และภูมิปัญญาไทย ในท้องตลาดบ้านเราจะพบเห็นวางจำหน่ายอยู่ตามแผงลอย วัด ห้างสรรพสินค้า หรือร้านขายของชำ มีสรรพคุณต่างๆ ตามแต่องค์ประกอบของตัวยานั้นๆ ที่ใช้ผสมลงไป
ถ้าผู้ผลิตทำการผลิตตามหลักเกณฑ์ของการผลิต ที่ดี โดยใช้วัตถุดิบที่มีการเก็บเกี่ยวที่ดี ก็จะได้ผลิตภัณฑ์ สมุนไพรที่ดี มีคุณภาพ แต่มีผู้ผลิตที่คดโกง นำยาสตีรอยด์ ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันที่มีอันตรายมากไปผสมในขั้นตอน การผลิต เพื่อให้ผลดีด้านบรรเทาอาการ รักษาโรคเฉพาะ หน้า หลอกลวงประชาชน โดยไม่คำนึงถึงผลร้ายที่อาจเกิดขึ้น เป็นการขาดจริยธรรม และจรรยาบรรณที่ดี เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค
ยาสมุนไพรอันตรายต่อร่างกายหรือไม่
จากการวิจัยของแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรง-พยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับคณาจารย์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ มีผู้ป่วยจำนวนมากที่เกิดผลข้างเคียงจากตัวยา "สตีรอยด์"
อันตรายจากตัวยาสตีรอยด์ที่ผสมยาชุด ยาสมุนไพร
เมื่อนำตัวอย่างยาที่ผู้ป่วยเหล่านี้ใช้อยู่เป็นประจำ มาวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ก็พบว่า ยาเหล่านี้มีส่วนผสมของตัวยาสตีรอยด์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเจ้าตัวได้ ใช้รักษาโรคด้วยยานี้มาเป็นระยะเวลานานๆ โดยไม่รู้ตัว คิดว่าเป็นสมุนไพรแล้วจะปลอดภัย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด
ตัวยาสตีรอยด์ "คุณอนันต์ แต่อันตรายถึง ชีวิต"
ตัวยาสตีรอยด์เป็นยาแผนปัจจุบัน ตามกฎหมาย จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ร้านขายยาจะจ่ายได้เฉพาะกรณี มีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น จำหน่ายโดยตนเองไม่ได้ ผิดกฎหมาย
เหตุผลเพราะยาสตีรอยด์ลดการอักเสบได้ผลดี รวมถึงลดอาการปวด บวม แดง ร้อน อาการภูมิแพ้ และกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย จึงใช้ได้ผลกับผู้ป่วยที่มีอาการ ปวดเมื่อย เคล็ด ขัด ยอก ปวดข้อ ปวดกระดูก หอบหืด ภูมิแพ้ ผื่นคัน เป็นต้น แต่การใช้ยาที่มีส่วนผสมของตัวยาสตีรอยด์ติดต่อ กันนานๆ (โดยทั่วไป คือมากกว่า ๑-๒ สัปดาห์) จะเริ่มปรากฏผลเสียของยา เช่น ร่างกายอ้วนขึ้น เสื้อผ้าคับ น้ำหนักเพิ่ม หน้ากลม แก้มย้อยเหมือนวงพระจันทร์ มีโหนกไขมันที่ท้ายทอยเหมือนวัวเหมือนควาย ซึ่งเป็นอาการที่สังเกตได้ภายนอก
นอกจากนี้ ยาสตีรอยด์ทำให้การทำงานของไตลดลง ขับน้ำออกจากร่างกายน้อยลง ร่างกายมีปริมาณ น้ำมากขึ้น ทำให้ตัวบวม ความดันเลือดสูงขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เหมือนเป็นโรคเบาหวาน และเมื่อใช้ไปนานๆ อาจทำให้เป็นโรคจิต เสียสติ หมดสติ โคม่า และเสียชีวิตได้
แหล่งที่พบตัวยาสตีรอยด์ผสมอยู่
ผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลกลุ่มนี้ให้ข้อมูลว่า ได้ยาเหล่านี้ (ที่มีสารสตีรอยด์ผสมอยู่) จากร้านขายยาแผนปัจจุบัน ร้านขายยาแผนโบราณ ร้านขายของชำ และเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งที่จำหน่ายยาอันตราย
สังเกตได้อย่างไรว่ามีตัวยาสตีรอยด์ผสมอยู่หรือไม่
การสังเกต อาจทำได้ ๒ ส่วนดังนี้
๑. การเลือกซื้อ
ถ้าต้องการใช้ยาลูกกลอนหรือยาสมุนไพร ควรเป็น ยาที่ผลิตจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ผ่านการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งสังเกตได้จากกล่อง ฉลาก และเอกสารกำกับยา
๒. อาการผิดปกติจากการใช้ยา
เมื่อเริ่มและระหว่างใช้ยา ควรสังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย เช่น เกิดผื่นคัน ซึ่งอาจเกิดจากการแพ้ยา หรือเกิดอาการเสื้อผ้าคับ น้ำหนักเพิ่ม หน้ากลม แก้มย้อย มีโหนกไขมันที่ท้ายทอย ซึ่งอาจเป็นผลข้างเคียงของยาสตีรอยด์ ก็ควรนำตัวอย่างยามาปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกรทันที ไม่ควรหยุดยาเอง เพราะอาจเกิดอันตรายได้
สมุนไพรปลอดภัยจริงหรือ?
ด้วยความเชื่อ ความรู้สึก และความเป็นไทย คนส่วนใหญ่คิดว่าสมุนไพรเป็นสิ่งที่ได้จากธรรมชาติ น่าจะปลอดภัย แต่ความเป็นจริงแล้ว "สมุนไพรจัดเป็นยาชนิดหนึ่ง" ที่มี "คุณอนันต์และโทษมหันต์" เช่นกัน ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ
ขี้เหล็กแห้งบรรจุแคปซูล-ตัวอย่างสมุนไพรที่มีพิษต่อตับ
ตัวอย่างสมุนไพร เช่น ขี้เหล็ก ที่ชาวไทยนำมาทำแกงขี้เหล็กกินกันนั้น เป็นอาหารจานเด็ดของหลายคน เมื่อนำมาศึกษาก็พบฤทธิ์ช่วยคลายกังวลได้ จึงนำมาผลิตเป็นยาสมุนไพรขี้เหล็กชนิดผงแห้งและสารสกัดมาบรรจุแคปซูล มีจำหน่ายอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง และต่อมาพบว่ายานี้เป็นสาเหตุให้เกิดพิษต่อตับได้ สุดท้ายก็เลิก จำหน่ายแคปซูลขี้เหล็ก แตกต่างจากแกงขี้เหล็กที่ผ่านกระบวนการปรุง จึงไม่มีอันตรายเหมือนผงแห้งของขี้เหล็ก และกินเป็นอาหารได้ตามปกติ
สมุนไพรจัดเป็นยาที่ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ยกเว้นสมุนไพรที่เป็นอาหารกินกันเป็นประจำ ซึ่งถือเป็นอาหารและสมุนไพรได้พร้อมกัน
ถึงตอนนี้ คงจะได้คำตอบอย่างชัดเจนแล้วว่ายาชุดมีอันตรายมาก และส่วนใหญ่จะประกอบด้วยตัวยาที่มีผลข้างเคียงร้ายแรง
- อ่าน 26,155 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้