• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทำกิฟต์ ต่างกับซิฟต์ อย่างไร

ทำกิฟต์ ต่างกับ ซิฟต์ อย่างไร
    
ถาม : ปอรรัตน์/ชลบุรี
ดิฉันแต่งงานมา ๕ ปีแล้ว แต่ยังไม่มีลูก ต้องการทราบว่าระหว่างการทำ "กิฟต์" และการทำ "ซิฟต์ "แตกต่างกันอย่างไร
      
ตอบ : นพ.สิงห์เพ็ชร สุขสมปอง
การทำกิฟต์ (GIFT : gamete intra follopain transfer) เป็นวิธีการที่เก็บเซลล์สืบพันธุ์ทั้งไข่และอสุจิมาผสมกันโดยการดูดเอาไข่ที่ถูกกระตุ้นออก มาจากรังไข่ และใส่รวมกับตัวอสุจิที่ผ่านการคัดแยกแล้ว จากนั้นจึงใส่กลับเข้าสู่ท่อนำไข่ทันที เป็นวิธีการอาศัยให้อสุจิและไข่ปฏิสนธิกันเองตาม ธรรมชาติ ความสำเร็จในการตั้งครรภ์แต่ละครั้งประมาณร้อยละ ๓๐-๔๐ แพทย์จะใช้วิธีการนี้กรณีที่ฝ่ายชายมีเชื้ออสุจิอ่อนแอไม่มากนัก หรือฝ่ายหญิงมีท่อนำไข่ ที่ปกติอย่างน้อย ๑ ข้าง และมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และมีพังผืดมาก

การทำซิฟต์ (ZIFT : zygote Intra follopain transfer) เป็นวิธีการเก็บ เซลล์สืบพันธุ์ทั้งไข่และอสุจิมาผสมกันให้เกิดการปฏิสนธินอกร่างกายก่อน แล้วจึงนำตัวอ่อนในระยะ Zygote ใส่กลับเข้าไปในท่อนำไข่ และเดินทางต่อตามท่อนำไข่เพื่อไปฝังตัวยังโพรงมดลูก เป็นวิธีการที่แน่ใจได้ว่ามีการผสมกันระหว่างไข่กับตัวอสุจิ ส่วนจะแบ่งตัวต่อไปเป็นตัวอ่อนที่สมบูรณ์หรือไม่นั้น ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติในร่างกายส่วนระบบการเจริญพันธุ์ ความสำเร็จในการตั้งครรภ์ แต่ละครั้งประมาณร้อยละ ๒๐-๓๐   แพทย์จะใช้วิธีการนี้กรณีที่ฝ่ายชายมีเชื้ออสุจิน้อยกว่าปกติ หรือฝ่ายหญิงที่ท่อนำไข่ไม่ตัน แต่ทำงานไม่ปกติ มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และมีพังผืดมาก
                            
นอกจากนี้ ยังมีวิธีการอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การฉีดเชื้ออสุจิ การทำเด็กหลอดแก้ว การทำอิ๊กซี่ และการแช่แข็งตัวอ่อน ซึ่งท้ายสุดแพทย์จะวินิจฉัยว่าใช้วิธีการใดเหมาะกับรายใด 
 

ข้อมูลสื่อ

338-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 338
มิถุนายน 2550
นพ.สิงห์เพ็ชร สุขสมปอง