• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บันได ๘ ขั้น สู่การเลิกบุหรี่

บันได ๘ ขั้น สู่การเลิกบุหรี
ถาม : ชวลิต/นครพนม
วันที่ ๓๑ พฤษภาคม เป็นวันงดบุหรี่โลก ผมมี ความคิดที่จะเลิกสูบบุหรี่ จะต้องทำอย่างไรบ้าง ช่วย แนะนำเป็นแนวทางด้วย

ตอบ : นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์
               
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุหรี่ และการเลิกบุหรี่ เหตุที่ทำให้การเลิกบุหรี่เป็นเรื่องยากนั้น มีสาเหตุที่สำคัญ ๒ อย่างคือ การติดเพราะร่างกายต้องการ และการติดเพราะสูบจนเป็นนิสัยจริงๆ แล้ว การติดบุหรี่ของคนเรามักจะประกอบด้วยทั้ง ๒ องค์-ประกอบ ดังนั้น การเลิกบุหรี่ จึงจำเป็นต้องกำจัดสาเหตุทั้ง ๒ อย่างออกไปให้ได้พร้อมๆ กัน

เลิกบุหรี่ด้วยบันได ๘ ขั้น

การเลิกบุหรี่ต้องอาศัยกำลังใจ ความเข้มแข็ง และตั้งใจจริง ถ้าคุณเป็นผู้หนึ่งที่คิดจะเลิกบุหรี่วันไหนก็แล้ว แต่ ที่ถือเป็นวันดีสำหรับคุณ ลองปฏิบัติตามข้อแนะนำต่อไปนี้ เพราะจะช่วยให้คุณไม่หวนกลับไปหาบุหรี่อีกเลย
๑. ทิ้งบุหรี่ที่มีอยู่ให้หมด หาให้ทั่วว่าซุกซ่อนบุหรี่ไว้ที่ไหนบ้าง พบแล้วโยนทิ้งให้หมดไม่เหลือแม้กระทั่งมวนเดียว ไม่ว่าจะมีราคาแพงแค่ไหนก็อย่าเสียดายเป็นอันขาด
๒. ที่เขี่ยบุหรี่ก็ทิ้งไปด้วย กรณีที่เสียดายเพราะเป็นเครื่องตกแต่งราคาแพง อาจจะยกให้คนอื่นไป หรือนำไปเก็บไว้ในที่ที่คุณแน่ใจว่าจะไม่มองเห็นหรือหยิบออกมาได้โดยง่าย
๓. เปลี่ยนทรงผม จะได้ดูว่าเรากำลังจะเป็นคนใหม่
๔. ทำความสะอาดบ้านและเครื่องเรือนทั้งหมด รวมทั้งเสื้อผ้าก็นำมาซักให้สะอาด ให้กลิ่นบุหรี่หมดไป จริงอยู่คนสูบบุหรี่จะไม่ได้กลิ่นเหล่านี้หรอก เพราะความเคยชิน แต่เมื่อเลิกแล้ว คุณจะได้กลิ่นบุหรี่
๕. ดื่มน้ำสะอาดมากๆ เพราะจะ ช่วยชำระล้างนิโคตินออกจากร่างกาย และยังช่วยบรรเทาอาการอยากบุหรี่ได้ด้วย
๖. ลดปริมาณสารกาเฟอีนในชาและกาแฟ โดยก่อนการเลิกบุหรี่จะต้อง พยายามลดปริมาณสารกาเฟอีนนี้ให้ได้ประมาณครึ่งหนึ่งของที่เคยดื่มในแต่ละวัน
๗. ออกกำลังกาย เพราะนอกจาก จะทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้เราเอาใจออกห่างจากบุหรี่ได้ด้วย
๘. หาเพื่อนที่มีความต้องการจะเลิกบุหรี่ด้วยกันสักคน แล้วเลิกพร้อมกันเพื่อที่จะได้เป็นที่ปรึกษา คอยเตือนและคอยให้กำลังใจกัน หรืออาจจะเป็น การหาแรงบันดาลใจอื่น เช่น เลิกเพื่อลูก เลิกเพื่อบิดามารดา หรือคนรักก็ได้ 
 

ข้อมูลสื่อ

338-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 338
มิถุนายน 2550
นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์