• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ

ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ
มองจากทัศนะแพทย์แผนจีน (๑)
         
ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพในประเทศที่พัฒนาทั่วโลก มีมูลค่ามหาศาลจากตัวเลขปี พ.ศ.๒๕๔๖ ของนิตยสาร Young ในสหรัฐอเมริกา มีมูลค่า ๑๕,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๖ แสนล้านบาท) และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี รวมถึงตลาดในประเทศไทยด้วย เนื่องจากความตื่นตัวทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะ กลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง โรคของความเสื่อม ชรา เป็นปัญหาที่ค่อยๆ เกิดจากการสะสมความเสียสมดุลอย่างต่อเนื่อง และจะบังเกิดผลเมื่อถึงจุดหนึ่ง ซึ่งมักยากแก่การเยียวยา และมีต้นทุนการรักษาที่สูงลิ่ว
         
ความคิดในเชิงป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้เกิดทฤษฎีใหม่ๆ ขึ้นมากมาย และมีการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทั้งทางด้านรสชาติ ความทันสมัย ความสะดวกสบาย อันเหมาะสมกับสภาพของคนไทยในสังคมโลกาภิวัตน์ ที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลสุขภาพตนเองแบบธรรมชาติ การใช้จ่ายบริโภคเพื่อสุขภาพที่ดี ด้วยอาหารสุขภาพจึงเกิดขึ้นอย่างมากมาย
          
อีกด้านหนึ่งความรู้ภูมิปัญญาตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนจีน แผนไทย อายุรเวท ฯลฯ ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้น มีการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องและมีการปรับปรุงรูปแบบอาหารและสมุนไพร ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมควบคู่กันไป แต่ก็ไม่ร้อนแรงเหมือนตลาดอาหารเสริมที่มีความก้าวหน้า ทันสมัย ทั้งในแง่การศึกษาวิจัย (เงินลงทุน) และเทคโนโลยี การตลาด ทำให้ระยะ ๑๐ ปีต่อจากนี้ไป การพยายามผนวกภูมิปัญญาตะวันออก ในด้านอาหารหรืออาหารที่มีผลทางยาเข้าไปในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพตลาดสุขภาพโดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ความคิดเห็นต่อผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่มีอยู่เกลื่อนกลาดในท้องตลาด มากกว่า ๑ พันบริษัท มี ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและคัดค้าน เนื่องจากบางครั้งมีการโฆษณาสรรพคุณที่เกินความเป็นจริง ทำให้คนหลงเชื่อ หรือไม่ก็ปฏิเสธไปเลย โดยไม่พิจารณาคุณค่าที่เป็นจริงของผลิตภัณฑ์ ราคาที่เสนอขายก็สูงเกินไปจนมองว่าเป็นเรื่องทางธุรกิจมากกว่า จากประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีนและแผนปัจจุบัน ทำให้มีความต้องการถ่ายทอด และใช้หลักการวิเคราะห์ แยกแยะ แนวคิดเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเปรียบเทียบ เพื่อจุดประเด็นมุมมองจากภูมิปัญญาตะวันออกสู่โลกาภิวัตน์
            
แน่นอนว่าข้อคิดเห็นนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนตัว จุดอ่อน ข้อบกพร่อง ท่านผู้รู้สามารถให้คำชี้แนะ และวิพากษ์วิจารณ์ได้
      
ความเห็นที่แตกต่าง
มุมมองเรื่องอาหารสุขภาพมีหลายอย่าง ซึ่งมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
๑. กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย
มองว่าเป็นของฟุ่มเฟือย เกินจำเป็น เป็นการโฆษณาเกินจริง เป็นเรื่องเชิงพาณิชย์ เน้นบริโภคนิยม ทำให้เกิดการตื่นกลัว เพื่อกระตุ้นการขาย
กลุ่มนี้เชื่อว่าการกินอาหารครบหมู่ ออกกำลังกาย พักผ่อนเพียงพอ ไม่เครียด ฝึกจิตสมาธิ เป็นต้น ก็มี ความเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินตามคำโฆษณา
กลุ่มนี้มีความเชื่อจากแนวคิดแผนตะวันตกแบบดั้งเดิมอย่างเหนียวแน่น รวมถึงผู้ที่ยึดมั่นในแนวทางธรรมชาติ การพึ่งตนเอง ที่มักแสวงหาอาหารรูปแบบ ธรรมชาติตามท้องถิ่นและฤดูกาล เนื่องจากประหยัด เรียบง่าย โดยไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของกระแสบริโภคนิยม
๒. กลุ่มที่เห็นด้วย
กลุ่มนี้มองว่ามีความจำเป็น เพราะอาหารเพื่อสุขภาพสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรค รวมถึงบางครั้งสามารถนำมารักษาโรคได้ เป็น "โภชนเภสัชภัณฑ์Ž ดังตัวอย่างของนายแพทย์เรย์ ดี สแตรน (Ray D. Strand) ที่เขียนหนังสือชื่อ เมื่อคุณหมอ ไม่รู้จักสารอาหารเสริมบำบัดโรค ความตายอาจกำลังครอบงำคุณ" (What your doctor doesn't know about   nutritional medicine may be killing you) ซึ่งท่านเชื่อเรื่องภาวะอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกายจากสภาวะสังคม อาหาร อากาศ ความเครียด และสารพิษต่างๆ   ในยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้เกิดภาวะ oxidative stress ซึ่งเป็นต้นเหตุของเสียสมดุลในระบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งการเกิดโรคต่างๆ 
            
การศึกษาวิจัยสมัยใหม่ มีข้อสนับสนุนความเชื่อในทฤษฎีนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นกระแสหลักของการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ทฤษฎีความเชื่อเรื่องการลดลงของฮอร์โมนเจริญเติบโต (growth hormone) เป็นสาเหตุของความเสื่อมก็มีการศึกษาและพัฒนาเป็นอาหารเสริม  สุขภาพกลุ่มที่รักสุขภาพที่เชื่อในแนวนี้มีอยู่จำนวนมาก เพราะเป็นแบบตะวันตก มีเหตุผลและการศึกษาวิจัยน่าเชื่อถือ มักเป็นพวกไม่ชอบยาเคมี ส่วนมากเป็นชนชั้นกลางและชั้นสูงในเมือง เป็นคนที่ทำงานตามสำนักงานต่างๆ ไม่มีเวลาดูแลตนเองตามแบบฉบับดั้งเดิม แต่พร้อมจะเจียดงบประมาณเพื่อการซื้ออาหารสุขภาพ เพราะสะดวก รสชาติดี รูปแบบสวย มีความทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มนี้ และแนวโน้มของคนกลุ่มนี้จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ

 


 

ข้อมูลสื่อ

339-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 339
กรกฎาคม 2550
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล