• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พลังติดขัดอุดกั้น

พลังติดขัดอุดกั้น

พลังถือเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิต ชีวิตนอกจากจะมีส่วนของเนื้อเยื่อ โครงสร้างอวัยวะภายในต่างๆ แล้ว การเคลื่อนไหวของส่วนต่างๆ การทำงานของร่างกาย การขับเคลื่อนการไหลเวียนเลือด ล้วนต้องอาศัยพลังลมปราณในร่างกายทั้งสิ้น

"ผมรู้สึกอึดอัดแน่นท้อง เดี๋ยวหนักเดี๋ยวเบา พอเรออาการก็ดีขึ้น"
"ดิฉันรู้สึกปวดแน่นชายโครง ปวดตึงแน่นเต้านมมากๆ เวลามีประจำเดือน หมอบอกว่าเป็นเพราะฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง แต่ทำไมบางคนไม่เป็นมากเหมือนดิฉันละคะ"
"ดิฉันรู้สึกจุกแน่นหน้าอก ปวดแบบตื้อๆ ไม่มีตำแหน่งแน่นอน ใจสั่นหงุดหงิด ดิฉันเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า"

ลักษณะจุกแน่น อึดอัด เหมือนมีลมคั่งค้างที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรืออวัยวะภายใน ในความหมายแพทย์จีน คือ พลังติดขัดอุดกั้นทำให้การไหลเวียนของพลังไม่คล่อง มีการติดขัดของพลัง มักเกิดในระยะแรกของโรค

๑. ความหมายของพลังอุดกั้นหรือพลังติดขัด คืออะไร
ปกติกลไกพลัง คือ ทิศทางการเคลื่อนไหวของพลังลมปราณในธรรมชาติ จะมี ๔ ทิศทาง คือ ขึ้นบน-ลงล่าง-ลอยออกนอก-จมเข้าใน

ความผิดปกติเบื้องแรกของพลังมักเกิดจากการติดขัด หรือพลังไหลเวียนไม่คล่อง กล่าวคือ ระยะแรกของโรคอยู่ที่ความผิดปกติของพลัง (เมื่อพลังติดขัด นานๆ เข้าจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงพยาธิสภาพ ทำให้อวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ เริ่มมีความผิดปกติให้เห็น ซึ่งมักจะพบเมื่อโรคเป็นมากแล้ว)

ภาวะพลังติดขัด หรือพลังอุดกั้น มีความหมายในขอบเขตที่กว้าง อาจจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรืออวัยวะภายในอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งที่การไหลเวียนพลังไม่คล่อง มีอาการแสดงออกให้เห็นต่างๆ กัน

๒. อาการทางคลินิกของพลังอุดกั้น คืออะไร
อาการหลัก คือ แน่นอึดอัด ปวดบริเวณหน้าอก หรือชายโครง หรือส่วนท้อง และท้องน้อย
ลักษณะอาการและอาการร่วม : การปวดแน่นอึดอัด บางครั้งเป็นหนักบางครั้งเป็นเบา ตำแหน่งไม่ชัดเจน ปวดเคลื่อนที่ เมื่อเรอหรือลำไส้ ร้อง (บีบตัว) หรือผายลม อาการจะดีขึ้น บางครั้งอาการหนักเบาเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางจิตอารมณ์
การตรวจลิ้น : ไม่พบความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
ลักษณะชีพจร : ตึง

๓. สาเหตุของภาวะพลังติดขัดอุดกั้น คืออะไร

๑. ภาวะทางอารมณ์ เก็บกด อึดอัด หงุดหงิดต่อเนื่องเรื้อรัง

๒. การกินอาหารไม่ถูกต้องเหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาการย่อยและการดูดซึมของอาหาร

๓. การเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น ลมความชื้น ความเย็นกระทบ

๔. จากอุบัติเหตุภายนอก กระทบกระแทกบริเวณทรวงอก ช่องท้อง ท้องน้อย ทำให้การไหลเวียนของเส้นลมปราณที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะภายในติดขัด หรือบางครั้งกระทบกระเทือนต่ออวัยวะภายในโดยตรง

๕. การตกค้างของเสมหะของเหลว เลือด อาหารไม่ย่อย พยาธิ ก้อนนิ่ว เป็นต้น ทำให้การไหลเวียนของพลังไม่คล่อง

๖. พลังหยางของร่างกายอ่อนแอ เกิดความเย็นในร่างกาย การไหลเวียนของเลือดและพลังไม่คล่อง เชื่องช้า เกิดการติดขัดของพลังไหลเวียน

๔. กลไกการเกิดโรคคืออะไร
เมื่อพลังติดขัดไม่ไหลเวียน ไหลเวียนไม่คล่อง ไม่คล่องจึงมีการปวด ไม่คล่องจึงเกิดการแน่น ทำให้อาการสำคัญของผู้ป่วย คือ ปวดและแน่น
การปวดจึงมีลักษณะพิเศษคือ ทั้งปวดทั้งแน่น หรือปวดแบบจู่โจมเป็นพักๆ หรือปวดแบบเคลื่อนที่ ตำแหน่งไม่แน่นอน อาการดีขึ้นต่อเมื่อมีการเรอ ถอนหายใจ ลำไส้บีบตัว หรือผายลม เรียกว่า เมื่อระบายหรือทำให้คล่องก็จะไม่ปวด 
ความไม่สบายทางจิตอารมณ์ทำให้พลังไหลเวียนไม่คล่อง ทำให้อาการรุนแรงขึ้น อาการจึงผันแปรตามจิตอารมณ์
ชีพจรที่ไม่คล่องและบีบคั้น ทำให้เกิดชีพจรตึง

๕. ถ้าภาวะพลังติดขัดไม่ได้รับการแก้ไข โรคจะพัฒนาการไปอย่างไร

  • พลังกำกับการไหลเวียนของเลือด พลังติดขัด เลือดก็ไม่ไหลเวียน เกิดเลือดคั่งค้าง
  • พลังติดขัดนานๆ ทำให้กลไกพลังแปรปรวน เกิดพลังย้อนขึ้นข้างบน หรือพลังปิดกั้น (ไม่กระจายออกนอก)
  • พลังติดขัด : ของเหลวในร่างกายไม่หมุนเวียน เกิดการตกค้างกลายเป็นเสมหะตกค้าง หรือพลังและเสมหะตกค้าง

๖. ภาวะการติดขัดของพลัง แสดงออกในอวัยวะภายใน หรือระบบต่างๆ อะไรบ้าง

๑. พลังตับติดขัด - ปวดบริเวณชายโครงหรือท้องน้อย เต้านม ถอนหายใจ อาการดีขึ้น

๒. พลังกระเพาะอาหาร - ลำไส้ติดขัด  - ปวดแน่นบริเวณกระเพาะอาหาร รอบสะดือ ใต้ลิ้นปี่ ถ้าเรออาการดีขึ้น

๓. พลังปอดติดขัด -  แน่นทรวงอก ไอ หอบ

๔. พลังอุดกั้นของหลอดเลือดหัวใจ -  หัวใจและหน้าอกจุกแน่น ปวดแบบตื้อๆ ตำแหน่งไม่ชัดเจน ใจสั่นหงุดหงิด

๗. หลักการรักษา และตำรับยาที่ใช้รักษาคืออะไร
หลักการรักษา ขับเคลื่อนพลังที่ติดขัดระงับปวด
ตำรับยาที่ใช้
๑. พลังตับติดขัด ใช้พื้นฐานตำรับยา ซื่อ-หนี้-ส่าน
ตัวยาสำคัญคือ ไฉหู  ไป๋เสา จื่อเขอ กานเฉ่า 
ไฉหู - ระบายการอุดกั้นของตับ ระบายความร้อนออกภายนอก ทำให้กลไกพลังไหลคล่อง
ไป๋เสา - บำรุงเลือด บำรุงยินของตับ แก้ปวด
จื่อเขอ - ดึงพลังลงด้านล่าง ลดพลังติดขัดบริเวณทรวงอก
กานเฉ่า - ประสานยาทั้งหมดเข้าด้วยกัน

๒. พลังกระเพาะอาหารและลำไส้ติดขัด ใช้พื้นฐานตำรับยา หวู่-หมอ-หยิ่น-จื่อ
ตัวยาสำคัญคือ อู-เย้า ปิงหลาง เฉิน-เซียง มู่เซียง จื่อ-สือ
อู-เย้า - ระบายพลังอุดกั้นของตับ กระจายความเย็นในเส้นลมปราณ
ปิงหลาง - สลายพลังที่อุดกั้นลงด้านล่าง
เฉิน-เซียง - นำพลังลงล่าง แก้หอบ
มู่เซียง - ปรับระบบกระเพาะอาหาร ลำไส้ ระงับการปวด
จื่อ-สือ - ดึงพลังลงล่าง แก้อาการจุกแน่น

๓. พลังอุดกั้นหลอดเลือดหัวใจ ใช้ตำรับพื้นฐาน ไฉหู ซูกาน ซ่าน
ตัวยาสำคัญคือ ไฉหู ไป๋เสา จื่อเขอ ชวนทรวง เซียงหู  เฉินผี
ไฉหู  - ระบายพลังติดขัดในตับ ทำให้พลังไหลคล่อง
ไป๋สาว - บำรุงเลือดยินของตับ แก้ปวด
จื่อเข่อ - ทำให้พลังในหน้าอกไม่ติดขัดโล่ง
ชวนทรวง - ทำให้เลือดไหลเวียนคล่อง
เซียงหู - ระบายตับ ขับเคลื่อนพลัง ระงับปวด
เฉินผี - ปรับพลังของกระเพาะอาหาร

๔. พลังปอดติดขัด
ใช้ตำรับพื้นฐานคล้ายการติดขัดของหลอดเลือดหัวใจ ถ้ามีอาการหอบหืด ไอรวมด้วย ใช้ตำรับ ซู-จื่อ-เจี้ยง-ชี่-ทัง
ตัวยาสำคัญ คือ : จื่อซูจื่อ ปั้นเซี่ย   ตังกุย  กันเฉ่า เฉียนหู  ชวนพ่อ  เซินเจียง  โหย่วกุ้ย
จื่อซูจื่อ - ดึงพลังลงล่าง แก้หอบ ขับเสมหะ หยุดไอ
ปั้นเซี่ย - ดึงพลังลงล่าง สลายเสมหะ
ตังกุย  - บำรุงเลือด บำรุงยิน ดึงพลังมาสู่ไต ลดอาการหอบ
กันเฉ่า - ปรับประสานยาเข้าด้วยกัน
เฉียนหู - สลายเสมหะ แก้ไอ
ชวนพ่อ - เคลื่อนพลัง ลดอึดอัดแน่น
เซินเจียง - กระจายความเย็น ช่วยการหายใจ ปรับพลังของกระเพาะอาหาร
โหย่วกุ้ย - ช่วยบำรุง อุ่นไต ดึงพลังมาสู่ไต ลดอาการหอบ

๘. ภาวะพลังติดขัดเมื่อเทียบกับแผนปัจจุบัน ได้แก่โรคอะไรบ้าง มีมุมมอง แตกต่างกันอย่างไร
พลังติดขัดเป็นโรคที่กว้าง เป็นโรคที่เกิดในระยะแรกของโรคที่พลังการไหลเวียนไม่คล่อง โดยทั่วไปพบได้ในอวัยวะภายในเกือบทุกอวัยวะ เช่น ตับ กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก หัวใจ ปอด เป็นต้น ซึ่งมีอาการแสดงออกจากการจุกแน่นภายในร่างกาย ตามอวัยวะต่างๆ ซึ่งจะตรวจพบพยาธิสภาพหรือไม่ก็ได้ เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด โรคปวดแน่นชายโครง หน้าอก ปวดร้าวถึงด้านหลัง โรคเครียดลงกระเพาะอาหาร โรคประสาทเครียด หายใจไม่อิ่ม โรคท้องผูก ไม่มีแรงเบ่ง อาการอึดอัด คัดหน้าอกมากระหว่างมีประจำเดือน ภาวะหายใจไม่อิ่ม ภาวะอาหารไม่ย่อย เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงในระดับพลังผิดปกติ ระยะแรกมักจะตรวจไม่พบพยาธิสภาพใดๆ แต่เมื่อทิ้งไว้นานหรือรักษาไม่ถูกทาง พลังที่อุดกั้นติดขัดเรื้อรัง จะทำให้เกิดพยาธิสภาพในเวลาต่อมา ทางแผนปัจจุบัน ถ้าในระยะแรกไม่ตรวจพบความผิดปกติทางเนื้อเยื่อ ก็มักให้ยาแก้อาการ ยาคลายเครียด (เพราะภาวะพลังอุดกั้นมักสัมพันธ์กับจิตอารมณ์) ไปกิน และมักเน้นให้ละวางความเครียด แต่ทางแผนจีนมองว่า ภาวะพลังติดขัดมีหลายปัจจัยร่วมกัน จึงต้องรักษาภาวะร่างกายและจิตใจควบคู่กัน ระบายภาวะอุดกั้นของพลังด้วยการใช้ยาสมุนไพร การฝังเข็ม การฝึกลมปราณ ยืดคลายกล้ามเนื้อ และดูแลเรื่องอาหารให้เหมาะสมด้วย

๙. เมื่อไรจึงควรไปพบหมอจีน หรือหมอแผนปัจจุบัน
ประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วย ความผิดปกติในระดับพลังแปรปรวน เป็นความรู้สึกที่ ผู้ป่วยบอกเล่าหรือรู้สึกได้ แต่อาจตรวจไม่พบความผิดปกติเลย จึงมักถูกเหมารวมเป็นเรื่องของความเครียดเป็นเหตุ แพทย์แผนปัจจุบันจึงต้องให้ยาแก้อาการ และยาคลายเครียดเป็นหลัก

การรักษาโรคเหล่านี้ ถ้าเรื้อรังอาจต้องให้ การตรวจวินิจฉัยด้วยแผนปัจจุบันให้ชัดเจนก่อน เพราะอาจมีพยาธิสภาพเกิดขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ถ้ามีความผิดปกติไม่มาก หรือไม่ได้เปลี่ยนแปลงเป็นเนื้อร้าย มีนิ่ว หรือโรคร้ายแรง รวมถึงการตรวจไม่พบอะไร การรักษาด้วยยาจีน การฝังเข็ม การดูแลเรื่องอาหารเป็นต้น จะได้ผลค่อนข้างดี และให้ผลรวดเร็ว และมักต้องร่วมกับการแก้ไขทางจิตอารมณ์ของผู้ป่วยควบคู่ไปด้วย
 

ข้อมูลสื่อ

313-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 313
พฤษภาคม 2548
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล