• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การใช้ยากันแดด

การใช้ยากันแดด


ผู้ถาม : จารี/นครปฐม
ดิฉันอายุ ๓๑ ปี เป็นพนักงานบริษัท (อยู่ในห้องปรับอากาศ) เห็นโฆษณาครีมกันแดดสารพัดยี่ห้อ ต่างก็พยายามเน้นค่า SPF ที่มีตัวเลขสูงๆ  ทั้งนั้น
ดิฉันจึงอยากทราบหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการเลือกใช้ครีมกันแดดว่าควรจะเลือกอย่างไรถึงจะเหมาะสมกับสภาพอากาศของบ้านเรา
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยให้ความกระจ่างด้วยนะคะ

ผู้ตอบ : นพ.ชูชัย ตั้งเลิศสัมพันธ์
ทุกคนทราบดีแล้วว่าแสงแดดมีประโยชน์อะไรกับเราบ้าง แต่แสงแดดทำให้เกิดผลเสียกับเราหลายอย่าง
- ทำให้ผิวไหม้เเดด
- ทำให้เกิดฝ้าเเละกระ
- ทำให้ผิวเหี่ยวเเก่
- ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง
ทำให้เกิดหรือกระตุ้นโรคผิวหนังอักเสบและโรคทางระบบภูมิคุ้มกันบางชนิด

วิธีป้องกันแสงแดด
หลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลาที่มีแดดจัดมากๆ สำหรับประเทศไทย อาจต้องหลีกเลี่ยงตั้งแต่ ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. (เวลาทำงานราชการพอดีครับ)
- สวมใส่เสื้อผ้า หมวก แว่นกันแดด กางร่ม
- ใช้ยากันแดด
- ห้ามอาบแดดหรือรับบริการฉายแสงให้ผิวเป็นสีแทน

สารกันแดดมีกี่ชนิด
สารกันแดดสามารถแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม

  • สารกันแดดสะท้อนแสง (physical sunscreen) เป็นสารเพิ่มคุณสมบัติสะท้อนแสง ส่วนมากไม่ทำปฏิกิริยาการแพ้กับผิวหนัง เช่น titanium dioxide, zinc oxide เป็นต้น สารในกลุ่มนี้สามารถป้องกันได้ทั้ง UVA, UVB, Visible Light และ Infrared Light
  • สารกันแดดดูดแสง (chemical sunscreen) เป็นสารที่สามารถดูดซับพลังงานของแสงแดดไว้ก่อนที่แสงแดดจะผ่านลงไปที่ผิวหนัง สารในกลุ่มนี้มีหลายชนิด ซึ่งสามารถดูดซับพลังงานในช่วงที่ต่างกันและอาจทำให้เกิดการแพ้ยาได้

วิธีการเลือกใช้ยากันแดด
ในปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ สามารถกันแดดที่ดีขึ้น เช่น สารในกลุ่มสารกันแดดสะท้อนแสงที่สามารถกันแดดได้ดี และหน้าไม่ขาว หรือการใช้ยากันแดดทั้ง ๒ กลุ่ม ผสมกันเพื่อประโยชน์สูงสุดในการป้องกันแสงแดด

หลักในการเลือกและใช้ยาทากันแดด
สิ่งที่ดีที่สุดในการป้องกันแสงแดด คือ การหลีกเลี่ยงแสงแดด แต่ในบางกรณี เราจำเป็นต้องโดนแสงแดด เราจึงควรรู้จักการเลือกใช้ยากันแดด ดังนี้

๑. พิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสมกับตนเอง โดยคำนึงถึงอาชีพ ลักษณะงาน กีฬา หรือกิจกรรมต่างๆ ก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือการแพ้หรือเปล่า

๒. โดยทั่วไปยากันแดดควรมีค่าป้องกันแสงแดด (SPF) เท่ากับหรือมากกว่า ๑๕

๓. ควรป้องกันทั้ง UVA และ UVB

๔. ไม่ควรใช้ยากันแดดที่มี น้ำหอม เพราะว่าน้ำหอมสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้บ่อย

๕. ควรทาหนากว่าทาครีมทั่วไปเล็กน้อย

๖. เมื่อมีเหงื่อหรือโดนน้ำควรทายากันแดดซ้ำ หรือใช้ยากันแดดที่สามารถกันน้ำได้

ข้อมูลสื่อ

313-006-4
นิตยสารหมอชาวบ้าน 313
พฤษภาคม 2548
นพ.ชูชัย ตั้งเลิศสัมพันธ์