• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บนเส้นทางหนังสือ (๔)

บนเส้นทางหนังสือ (๔)

เรายังคุยกันเรื่องหนังสือ "ศิลปะแห่งความสุข" โดยท่านทะไล ลามะ เป็นตอนที่ ๔ แล้ว ในบทที่ ๕ นี้ จะว่าด้วยรูปแบบใหม่ของการสร้างความอบอุ่นระหว่างมนุษย์ หมอคัตเลอร์เตรียมตัวจะมาสัมภาษณ์ท่านทะไล ลามะ ก่อนหน้านั้นได้หยิบ หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งขึ้นมาดู เห็นการประกาศหาเพื่อนเยอะไปหมด เขาจึงถามท่านว่า

"ท่านเคยว้าเหว่ไหม"

"ไม่" ท่านทะไล ลามะ ตอบ ซึ่งทำให้หมอคัตเลอร์งงมาก เพราะเขาคาดหมายว่าท่านจะตอบว่า "ใครๆ ก็เคยว้าเหว่ทั้งนั้น" เขาจึงต้องเปลี่ยนคำถามไปตามประเด็น

"ท่านคิดว่าอะไรทำให้ท่านไม่เคยว้าเหว่"

"เพราะอาตมามองทุกๆ คนจากแง่มุมทางบวก มองคุณสมบัติทางบวกของเขา ด้วยท่าทีอย่างนี้จะทำให้เกิดความรู้สึกสนิทสนมเป็นการเชื่อมโยงอย่างหนึ่ง"

"นอกจากนั้น อาตมาไม่ค่อยมีความหวั่นไหว หรือหวาดกลัวว่าคนโน้นคนนี้จะรู้สึกกับอาตมาอย่างไร การไม่กลัวไม่หวั่นไหวทำให้เกิดการเปิดกว้าง นี่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ"

หมอคัตเลอร์พยายามทำความเข้าใจสิ่งที่ท่านทะไล ลามะ กล่าว และความยากที่จะทำอย่างนั้นได้ จึงถามต่อไปว่า "ทำอย่างไรคนเราจึงจะปราศจากความหวั่นไหว และความกลัวว่าคนอื่นจะไม่ชอบเรา หรือมาตัดสินว่าเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มีวิธีอะไรบ้างหรือเปล่าที่คนธรรมดาทั่วๆ ไปจะทำอย่างนั้นได้"
"อาตมาเชื่อว่าเราต้องเข้าใจประโยชน์ของความกรุณา" ท่านทะไล ลามะ กล่าวอย่างมั่นใจ "นั่นคือกุญแจ ถ้าเข้าใจว่าความกรุณามีคุณค่าอย่างยิ่ง คุณก็จะสนใจ และปลูกฝังความกรุณาให้เกิดขึ้นในหัวใจของคุณ"

"เมื่อคุณมีความกรุณาอยู่ในหัวใจของคุณ ท่าทีของคุณต่อคนอื่นก็เปลี่ยนไปโดยอัตโนมัติ มันจะลดความกลัวและก่อให้เกิดการเปิดกว้างต่อผู้อื่น ทำให้เกิดบรรยากาศที่เป็นมิตร และด้วยวิธีนี้ตัวเราเองนั่นแหละเป็นผู้ทำให้ได้รับความรักและความรู้สึกทางบวกจากผู้อื่น และด้วยท่าทีอย่างนี้แม้คนอื่นจะไม่รู้สึกเป็นมิตร หรือไม่สนองตอบทางบวก อย่างน้อยเราก็เปิดใจกว้างแก่เขา อันจะทำให้เรามีความยืดหยุ่นและปรับวิธีการได้ตามสถานการณ์ การเปิดใจกว้างทำให้สามารถคุยกันได้ดี แต่ถ้าไม่มีความกรุณาอยู่ในหัวใจ ถ้ารู้สึกปิด รำคาญ เฉยเมย แม้จะเจอเพื่อนที่ดี เราก็ยังไม่รู้สึกมีความสุข"

"คนเป็นอันมากไปหวังว่าจะให้คนอื่นเขาดีกับตัวเราก่อน แทนที่จะคิดว่า ต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน น่าจะผิดที่คิดเช่นนั้น เพราะทำให้เป็นอุปสรรคทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวจากคนอื่น ฉะนั้น ถ้าต้องการเอาชนะความรู้สึกโดดเดี่ยวและว้าเหว่ ท่าทีของคุณเองนั่นแหละสำคัญ การสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นด้วยความรู้สึกกรุณานั่นแหละดีที่สุด"

หมอคัตเลอร์ฟังท่านทะไล ลามะ ว่าท่านไม่เคยว้าเหว่ด้วยความแปลกใจ เพราะในสังคมอเมริกันเต็มไปด้วยความว้าเหว่ ไม่ใช่เฉพาะในผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านตามลำพัง หรือในสถานบริบาลเท่านั้น แม้แต่เด็กและคนหนุ่มสาวก็มีความว้าเหว่ จากการสำรวจคนอเมริกันจำนวนมากประมาณ ๑ ใน ๔  รับว่าภายใน ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมาเคยมีความรู้สึกว้าเหว่อย่างน้อย ๑ ครั้ง คนทั้งหมดยอมรับว่าเคยมีความรู้สึกว้าเหว่ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน

มีการวิจัยว่าทำไมความว้าเหว่จึงเกิดขึ้นมากในสังคม แล้วพบว่ามีสาเหตุสลับ ซับซ้อนนานาประการ เช่น เป็นคนปิดซ่อนตัวเอง สื่อสารไม่เป็น ไม่เป็นผู้ฟังที่ดี การวิจัยแนะว่าต้องพัฒนา "ทักษะทางสังคม" (การสร้างความสัมพันธ์) นั่นเป็นทรรศนะของนักวิชาการตะวันตก แต่ท่านทะไล ลามะ ท่านผ่านเลยที่เพียงแต่ "ทักษะ" หรือพฤติกรรมภายนอก ไปถึงเรื่องหัวใจเลย คือคุณค่าแห่งการมีความกรุณาในหัวใจ

หมอคัตเลอร์ว่าถึงตอนนี้เขาเชื่อแล้วว่า ท่านทะไล ลามะ ไม่เคยว้าเหว่เหมือน อย่างชาวตะวันตก เขาสังเกตว่าท่านเป็นมิตรและมีความสัมพันธ์อันอบอุ่นกับทุกคนที่ท่านพบ ไม่ได้เป็นการเกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่ท่านได้ไตร่ตรองปลูกฝังความกรุณาในหัวใจของท่านมาเป็นเวลาช้านาน นี้เป็นวิธีที่คนที่มีความว้าเหว่เปล่าเปลี่ยว เดียวดายจะเอาไปใช้ได้


การพึ่งคนอื่นกับการพึ่งตนเอง
"ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในหัวใจ แต่ต้องการความกรุณาเข้าไปกระตุ้นให้เมล็ดพันธุ์นี้ แตกตัว" ท่านทะไล ลามะ กล่าวปาฐกถา ทรงกล่าวถึง "สนามแห่งกุศล" (Field of Merit)

ในทางพระพุทธศาสนา สนามแห่งกุศลมี  ๒ อย่าง หนึ่ง คือศรัทธาและความมั่นคงในพระ-พุทธเจ้าทั้งหลาย คือผู้ตรัสรู้ และสอง คือการมีความ สัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างถูกต้อง เช่น มีความเมตตากรุณา ไม่เบียดเบียนหรือทำร้ายผู้อื่น คนทั้งหลายช่วยให้เราสะสมกุศล คนทั้งหลายเป็นสนามแห่งกุศล ถ้าเรามีความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง
ขณะที่คนทั้งหลายมีความประทับใจเมื่อท่านทะไล ลามะ ตรัสอย่างนั้น แต่หมอคัตเลอร์ว่าตัวเขาเองยังไม่ค่อยแน่ใจ เพราะเขาถูกฝึกมาให้คิดอย่างมีเหตุผลแห่งความเป็นวิทยาศาสตร์ ใครจะมาพูดเรื่องความเมตตากรุณาดูมันจะไม่ถูกกับรสนิยมของเขา ระหว่างฟังอยู่นั้นเขาจึงเคลิ้มๆ หลับไป ครึ่งหลับครึ่งตื่น แต่ตอนหนึ่งได้ยินท่านพูดว่า

"...วันก่อนอาตมาได้พูดถึงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ชีวิตมีความสุข เช่น สุขภาพ วัตถุปัจจัย เพื่อน และอื่นๆ ถ้าพิจารณาให้ดีๆ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ขึ้นกับผู้อื่น เช่น ยาก็ต้องมีคนทำ บริการสุขภาพก็ต้องมีคนทำ วัตถุปัจจัยต่างๆ อันอำนวยความ   สุข ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับคนอื่น ดูให้ลึกๆ ก็จะเห็นว่าวัตถุปัจจัยต่างๆ เกี่ยวกับความพยายามของผู้คนมากหลาย ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อนมนุษย์จะขาดเสียมิได้ ดังนั้น เราจึงควรมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ เพื่อจะมีความสุข..."

หมอคัตเลอร์ว่า ขณะที่ได้ยินท่านทะไล ลามะ ตรัสอย่างนั้น ก็รู้สึกต่อต้านขึ้นมาโดยสัญชาตญาณ เพราะคิดถึงตัวเองว่าเป็นอิสรชนพึ่งตนเองได้ มีความภูมิใจในคุณสมบัติเช่นนี้ของตัวเอง และลึกๆ แล้วก็นึกดูถูกคนที่ต้องพึ่งผู้อื่นว่าเป็นคนอ่อนแอ ตรงนี้ควรจะสังเกตความแตกต่างระหว่างพื้นฐานความคิดความเชื่อของคนตะวันตกกับสิ่งที่ท่านทะไล ลามะ กำลังกล่าวถึง คนตะวันตกนั้นถือตนเองเป็นใหญ่ มีความภูมิใจในตัวเอง อาจจะว่ามีความหยิ่งในตัวเองก็ได้ ผมเคยเห็นรูปรูปหนึ่งในพิพิธภัณฑ์สงครามที่สิงคโปร์ เป็นภาพลงนามยอมแพ้ของฝ่ายอังกฤษที่ปกครองสิงคโปร์กับนายทหารญี่ปุ่นที่กองทัพของเขาเพิ่งยึดสิงคโปร์ได้ ฝ่ายอังกฤษผู้แพ้นั่งอย่างสง่าผ่าเผย แต่ฝ่ายญี่ปุ่นผู้ชนะกิริยาที่นั่งอยู่สุภาพเรียบร้อย อาจสะท้อนพื้นฐานที่ต่างกันดังกล่าว

หมอคัตเลอร์เล่าว่าบ่ายวันนั้น เมื่อเขานั่งฟังท่านทะไล ลามะ ปาฐกถาในหัวข้อ "ชีวิตของเราอันเนื่องด้วยผู้อื่น" เขาจึงไม่ค่อยสนใจ ปล่อยให้ใจลอยไปเรื่อยๆ แล้วก็พบว่าไปดึงเส้นด้ายที่ลุ่ยมาจากแขนเสื้อข้างหนึ่งอย่างใจลอย แล้วก็ได้ยินท่านพูดว่า ผู้คนมากหลายเกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุปัจจัยที่เราใช้ เลยทำให้คิดว่า เอ๊ะ มีใครบ้างนะที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเสื้อเชิ้ตที่ตนเองสวมอยู่ คิดถึงเกษตรกรที่ปลูกฝ้าย คนขายที่ขายแทรกเตอร์ให้เกษตรกรไปไถพรวนดิน คนเป็นร้อยๆ พันๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตแทรกเตอร์ รวมทั้งผู้ทำเหมืองแร่ที่นำโลหะมาทำแทรกเตอร์ ผู้ที่ออกแบบรถ คนที่ทำฝ้าย คนทอผ้า คนที่ย้อมผ้า ตัดเย็บ คนดูแลคลังสินค้า คนขับรถบรรทุกที่ขนส่งสินค้าที่ส่งเสื้อไปยังร้านค้า และก็คนขายที่ขายเสื้อเชิ้ตให้ตน ทำให้ตนได้คิดว่าทุกแง่มุมของชีวิตล้วนมีผู้อื่นทำงานเกี่ยวข้อง การที่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนพึ่งตนเองได้นั้นเป็นมายาคติไม่จริง  เมื่อตระหนักรู้ดังนี้ หมอคัตเลอร์เกิดความรู้สึกล้ำลึก ถึงการเชื่อมโยงพึ่งพาซึ่งกันและกันกับเพื่อนมนุษย์ทั้งหมด ทำให้ลดความแข็งกระด้างในตัวตนลง และทำให้รู้สึกอยากจะร้องไห้ออกมา

โปรดสังเกตว่า เมื่อเราคิดอย่างเชื่อมโยงได้ เราจะมีความกตัญญูต่อสรรพสิ่ง ลดความหยิ่งในตัวตนลง ความหยิ่งในตัวตนเกิดจากคิดแบบแยกส่วน ตัดขาด แข็งกระด้าง เอาตัวของตัวเองเป็นศูนย์กลาง เมื่อตระหนักถึงความเชื่อมโยง มีกตัญญูรู้คุณของสรรพสิ่ง ก็อ่อนตัวลง กลมกลืนมากขึ้น เพราะความไม่รู้ (อวิชชา) มนุษย์เข้าไปติดในมายาคติถือตนเป็นใหญ่ ตัดขาดจากคนอื่นและสรรพสิ่งจึงขัดแย้งบีบคั้น การตระหนักรู้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหมดคือปัญญาเข้าถึงความจริง เมื่อเข้าถึงความจริงก็หลุดพ้นจากความบีบคั้น เป็นอิสระ มีความสุข เกิดความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง นั่นคือ มีความกรุณาเป็นพื้นฐานอยู่ในจิตใจ ที่ท่านทะไล ลามะ เน้นย้ำแล้วย้ำอีก

ความอบอุ่นเป็นกันเอง
หมอคัตเลอร์กล่าวว่า ในวัฒนธรรมอเมริกันนั้นมีความขัดแย้งกันเอง ด้านหนึ่งต้องการเสรีภาพแห่งความเป็นปัจเจกอย่างรุนแรง แต่ก็มองหาความสัมพันธ์ที่อบอุ่น เพื่อมาแก้ความว้าเหว่โดดเดี่ยวของตนเอง แล้วก็ทำได้ยาก แต่ท่านทะไล ลามะ ท่านสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างสะดวกง่ายดายกับทุกคน

เมื่อพบท่านในโรงแรมที่แอริโซนาเย็นวันหนึ่ง หมอคัตเลอร์ถามท่านว่า "ในการบรรยายของท่านเมื่อวานนี้ ท่านกล่าวถึงความสำคัญของผู้อื่น โดยบรรยายว่าผู้อื่นเป็น "สนามแห่งกุศล" ถ้าเราพิจารณาถึงความสัมพันธ์กับผู้อื่น มีได้ หลายรูปแบบ..."

"เป็นความจริง" ท่านทะไล ลามะ ตอบ

"ตัวอย่างเช่น" หมอคัตเลอร์กล่าวต่อไป "ความสัมพันธ์ที่ทางตะวันตกให้คุณค่าเป็นพิเศษ คือความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งระหว่างคน ๒ คน เป็นคนที่คุณสามารถจะเปิดเผยความรู้สึกอย่างลึกที่สุด เช่น ความกลัว ถ้าปราศจากคนที่มีความสัมพันธ์เป็นพิเศษเช่นนี้ ก็เหมือนมีอะไรขาดหายไปในชีวิต จิตบำบัดทางตะวันตกก็พยายามช่วยให้บุคคลสามารถหาความสัมพันธ์พิเศษชนิดนี้"

"ใช่ อาตมาเชื่อว่าความสัมพันธ์เช่นนั้นเป็นคุณ" ท่านทะไล ลามะ ตรัส "ถ้าขาดไปก็จะมีปัญหา"

"ผมแปลกใจสำหรับท่าน" หมอคัตเลอร์ถามต่อ "ท่านเติบโตในทิเบตที่คนทั้งหลายไม่เพียงแต่คิดว่าท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น แต่เขาคิดว่าท่านเป็นเทพด้วย ผมเชื่อว่าเมื่อประชาชนมาอยู่ต่อหน้าท่านก็จะรู้สึกระย่อหรือกลัว อันนี้จะทำให้ท่านแปลกแยกจากคนอื่นหรือไม่ แล้วก็ท่านถูกแยกจากครอบครัว เพราะบวชตั้งแต่เด็กๆ ไม่เคยแต่งงาน ทั้งหมดนี้ไม่ทำให้ท่านรู้สึกแบ่งแยกจากผู้อื่นหรือ ท่านรู้สึกไหมว่ามันทำให้ท่านขาดความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับผู้อื่น หรือกับใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น คู่ครอง"

"ไม่" ท่านทะไล ลามะ ตอบโดยไม่ลังเลใจ "อาตมาไม่เคยมีความว้าเหว่เดียวดาย แม้โยมบิดาจะตายไปนานแล้ว แต่อาตมาก็มีความใกล้ชิดกับโยมมารดา กับครู กับติวเตอร์ และคนอื่น เมื่อไม่ใช่พิธีกรรมเป็นทางการ อาตมาก็เข้าไปในครัว สนิทสนมกับคนทำครัว พูดเล่นหยอกล้อกัน พักผ่อนหย่อนคลาย ไม่เครียด ไม่เป็นทางการ"

"ฉะนั้น เมื่ออยู่ทิเบต หรือตั้งแต่เป็นผู้ลี้ภัย อาตมาไม่เคยขาดผู้ที่จะพูดคุยด้วย ทั้งนี้ อาจจะเนื่องด้วยธรรมชาติของอาตมาเอง ที่เป็นคนเปิดเผยพูดคุยกับคนง่าย เก็บความลับไม่เป็น" ท่านทะไล ลามะ หัวเราะ " แต่ก็อาจจะมีผลลบอยู่บ้าง เช่น มีเรื่องที่พูดคุยกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แล้วอาตมาก็นำมาคุยกับคนอื่นทันที แต่ในระดับบุคคล การเป็นคนเปิดเผยพร้อมที่จะพูดคุยกับคนอื่นเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ ด้วยธรรมชาติอย่างนี้ อาตมาจึงเป็นมิตรกับคนอื่นง่าย และก็ไม่ใช่รู้จักทักทายกันเพียงผิวเผิน แต่สามารถจะพูดถึงปัญหาและความทุกข์ของกัน ในทำนองเดียวกัน เมื่อได้ยินข่าวดีอาตมาก็จะบอกกับคนอื่นทันที ฉะนั้น อาตมาจึงรู้สึกสนิทสนมเชื่อมสัมพันธ์กับเพื่อน แน่นอน สำหรับอาตมาแล้วก็เป็นการง่าย เพราะผู้คนมีความยินดีที่จะเล่าเรื่องทุกข์สุขให้ทะไล ลามะ ฟัง - ท่านทะไล ลามะ ผู้ทรงศีล" ท่านทะไล ลามะ หัวเราะอย่างขำขันในฐานันดรศักดิ์ของพระองค์ "อาตมารู้สึกเชื่อมโยงสัมพันธ์อยู่กับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา เช่น ในอดีต เมื่อรู้สึกผิดหวังกับนโยบายของรัฐบาลทิเบต หรือเมื่อจีนทำท่าจะบุกทิเบต อาตมาก็กลับไปยังห้องพักและพูดคุยกับคนกวาดพื้น อาจดูบัดซบว่า ทะไล ลามะ ประธานรัฐบาลทิเบตกำลังเผชิญกับปัญหาระหว่างประเทศ หรือปัญหาระดับชาติ แล้วก็เอาไปปรึกษาคนกวาดพื้น" ท่านหัวเราะอีก "แต่โดยส่วนตัวแล้วเป็นการดี เพราะคนที่เราคุยด้วยเขามีส่วนร่วม และเราเผชิญปัญหาร่วมกัน"

ขยายความหมายของคำว่าใกล้ชิดสนิทสนม (Intimacy)
นักวิจัยทั้งหมดเห็นด้วยกันว่า ความใกล้ชิดสนิทสนมเป็นแกนกลางของการดำรงชีวิต นักจิตวิเคราะห์ชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียง ชื่อ Bowlby เคยเขียนไว้ว่า "ความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับมนุษย์คนอื่น เป็นสถานีที่ชีวิตหมุนไป จากความผูกพันใกล้ชิดนี้ ทำให้บุคคลมีพลังชีวิตและความสุข และทำให้เขาให้พลังชีวิตและความสุขแก่ผู้อื่น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่วิทยาศาสตร์ปัจจุบันกับภูมิปัญญาดั้งเดิมเห็นตรงกัน"

ความใกล้ชิดสนิทสนมส่งเสริมสุขภาพทั้งกายและทางจิต นักวิจัยพบว่า คนที่มีเพื่อนสนิทที่เห็นอกเห็นใจ และมีน้ำใจไยดี มักจะมีชีวิตรอดมากกว่าเมื่อเป็นโรคหัวใจ หรือได้รับการผ่าตัดใหญ่ และมักจะไม่ค่อยเป็นมะเร็งหรือโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น การศึกษาผู้ป่วยกว่า ๑,๐๐๐ คน ที่ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยดุ๊ก พบว่า คนที่ไม่มีคู่ครอง หรือคนใกล้ชิดที่ไว้เนื้อเชื่อใจ จะมีอัตราตายมากกว่าคนที่แต่งงาน หรือมีเพื่อนสนิทกว่า ๓ เท่า อีกการศึกษาหนึ่งที่เมืองอลาเมดา รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นเวลากว่า ๙ ปี พบว่า ผู้ที่มีหลังอิงทางสังคม และความสัมพันธ์สนิทสนม มีอัตราตายและอัตราการเป็นมะเร็งต่ำกว่า อีกการศึกษาหนึ่งที่โรงเรียนแพทย์แห่งเนบราสกา ประกอบด้วยผู้สูงอายุหลายร้อยคน พบว่า คนที่มีความสัมพันธ์สนิทสนมมีภูมิคุ้มกัน และมีระดับโคเลสเตอรอลต่ำกว่า มีการศึกษาอีกมากมายที่พบอย่างเดียวกันว่า ความสัมพันธ์ที่ดีส่งเสริมสุขภาพ

ความใกล้ชิดสนิทสนมทำให้สุขภาพจิตดี  นักจิตวิเคราะห์และนักปรัชญาสังคม ชื่ออีริค ฟรอมม์ อ้างว่า ความกลัวพื้นฐานที่สุดของมนุษย์คือ กลัวการพลัดพรากจาก เพื่อนมนุษย์ เขาเชื่อว่า ประสบการณ์แห่งการพลัดพรากในวัยทารก เป็นสาเหตุของความวิตกกังวลทั้งหมดในชีวิตมนุษย์ จอห์น โบลบี เห็นด้วย โดยอ้างถึงหลักฐานการทดลองที่แสดงว่า การพลัดพรากจากผู้ดูแลคือแม่หรือพ่อในระยะปลายปีแรกของชีวิต ทำให้เกิดความกลัวและความเศร้าในทารก เขารู้สึกว่า ความพลัดพรากและความสูญเสียบุคคลที่รักคือรากฐานของความกลัว ความเศร้า และความโศก

เมื่อความใกล้ชิดสนิทสนมมีความสำคัญยิ่งดังนี้ เราจะสร้างมันขึ้นมาได้อย่างไรในชีวิตประจำวัน ตามวิธีการของท่านทะไล ลามะ ดังที่กล่าวไปแล้ว เราจะต้องมาดูกันว่า ความสนิทสนมเป็นกันเองที่ว่านี้คืออย่างไร ตรงนี้ความเห็นต่างๆ มักจะไม่ตรงกัน

ที่สุดโต่งด้านหนึ่ง เดสมอนด์ มอร์ริส ซึ่งเป็นนักสัตววิทยาที่ศึกษาเรื่องนิสัยในหนังสือของเขา ชื่อ Intimate Behaviour หรือพฤติกรรมอบอุ่น เขียนว่า ความใกล้ชิดสนิทสนมเกิดขึ้นเมื่อร่างกายใกล้ชิดกันŽ แล้ว ก็อธิบายถึงวิธีต่างๆ ที่มนุษย์นำร่างกายมาใกล้ชิดกัน เช่น การตบหลังตบไหล่ ไปจนกระทั่งถึงการกอดกัน  เขาเลยไปถึงการสัมผัสกับวัตถุ เช่น กับบุหรี่ หรือกับเพชรนิลจินดา ว่ามันทดแทนกายสัมผัสกับมนุษย์

นั่นคือ กรณีสุดโต่งที่เน้นกายสัมผัส นักวิจัยอื่นๆ เกือบทั้งหมดเห็นว่าความสนิทสนมนั้นมีมากกว่าเรื่องทางกาย ดูรากศัพท์ของคำ intimacy มาจากคำละตินว่า intima ซึ่งหมายถึง "ภายใน" หรือ "ภายในที่สุด" จะให้คำอธิบายของความสนิทสนมอย่างกว้าง เช่น "ความปรารถนาความใกล้ชิดสนิทสนม คือ ความต้องการที่จะแลกเปลี่ยนความรู้สึกภายในที่ลึกที่สุด"

คำนิยามของคำว่า ใกล้ชิดสนิทสนมยังมีอย่างอื่นๆ อีก เช่น ของจิตแพทย์พ่อ-ลูก Thomas Patrick Malone กับ Patrick Thomas Malone ในหนังสือชื่อ "ศิลปะแห่งความใกล้ชิดสนิทสนม" ว่า ความใกล้ชิดสนิทสนมคือ "ประสบการณ์แห่งการเชื่อมโยง" นี้เขารวมไปถึงความเชื่อมโยงกับสิ่งไม่มีชีวิตด้วย เช่น กับต้นไม้ ดวงดาว จักรวาล

แนวคิดเกี่ยวกับความใกล้ชิดสนิทสนมในอุดมคติก็แตกต่างกันมาก ในโลกแบบโรแมนติกว่า หมายถึง "บุคคลพิเศษคนหนึ่ง" ที่เราสัมพันธ์ด้วยอย่างหมดหัวใจ นั่นเป็นเรื่องของวัฒนธรรมตะวันตก ไม่เป็นสากล สำหรับญี่ปุ่นแล้วหมายถึง มิตรภาพ แต่อเมริกันหมายถึง การสัมพันธ์กันด้วยความรักแบบคู่รัก หรือสามีภรรยา ดังนี้ นักวิจัยบางคนจึงมีความเห็นว่าคนเอเชียที่ไม่เน้นความสัมพันธ์แบบคู่ แต่มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่กว้างกว่า จึงมีความทุกข์ทางมายาคติน้อยกว่า เมื่อความรักแบบคู่ล่มสลายลง

นอกจากแตกต่างกันตามวัฒนธรรมแล้ว ยังมีแตกต่างกันตามกาลเวลาอีกด้วย ในอเมริกาสมัยเป็นอาณานิคม (ของอังกฤษ) ความใกล้ชิดทางกายมีมากกว่าสมัยนี้ เช่น ครอบครัว หรือแม้แต่คนแปลกหน้าอยู่ห้องเดียวกัน หรือใช้ห้องอาบน้ำ ห้องกินอาหาร ห้องนอน ร่วมกัน แต่การสื่อสารระหว่างสามีภรรยาในสมัยนั้นกลับเป็น ทางการมากกว่า หนึ่งศตวรรษให้หลัง ความรักและการแต่งงานมีความโรแมนติกมากขึ้น การพูดจาก็เปิดเผยตัวตนแก่กันและกันมากขึ้นระหว่างคู่รัก

ความจริง ความใกล้ชิดสนิทสนมมีหลายชนิด แต่ในวัฒนธรรมตะวันตกมักจะคิดถึงความสัมพันธ์กับใครคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษแบบคู่รัก หรือสามีภรรยา แต่รูปแบบของท่านทะไล ลามะ นั้นแตกต่างไป ท่านหมายถึง การเปิดกว้างต่อผู้อื่นทั้งหมด เช่น ต่อครอบครัว ต่อเพื่อน แม้แต่ต่อคนแปลกหน้า ทำให้เกิดความผูกพันอย่างแท้จริงโดยอาศัยความเป็นมนุษย์ร่วมกัน

ในบทที่ ๖ ว่าด้วยการทำให้ความเชื่อมต่อกับผู้อื่นลึกซึ้งขึ้น
หมอคัตเลอร์เล่าว่าวันหนึ่งไปรอสัมภาษณ์ท่านทะไล ลามะ ไปถึงเร็วไปหน่อย
ท่านกำลังมีแขกมาพบ จึงนั่งรออยู่ เมื่อประตูห้องท่านเปิดออก ชายหญิงวัยกลางคนที่แต่งตัวภูมิฐานคู่หนึ่งเดินออกมา เขาดูคุ้นตา เขาจำได้ว่าเคยได้รับคำแนะนำให้รู้จักกับคนคู่นี้เมื่อหลายวันก่อน โดยได้รับคำบอกเล่าว่า ภรรยาเป็นทายาทเศรษฐีที่เป็นที่รู้จักกันดี และสามีก็เป็นทนายความที่ร่ำรวยแห่งแมนฮัตตัน ตอนพบกันครั้งนั้นเพียงพูดกันสองสามคำ แต่ตนรู้สึกว่าคนคู่นี้มีท่าทีที่หยิ่งยโส แต่วันนี้ที่เขาออกมาจากห้องท่านทะไล ลามะ  ดูเปลี่ยนไปเป็นคนละคน ไม่มีท่าทางหยิ่งยโส หน้าตาดูมีความอ่อนโยน ดูคล้ายเด็กๆ มีน้ำตาไหลอาบแก้ม ตนรู้สึกว่าคนที่ได้พบกับท่านทะไล ลามะ  มักจะมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ทำให้รู้สึกทึ่งในความสามารถของท่านทะไล ลามะ  ในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นใคร และสามารถเกิดการแลกเปลี่ยนทางอารมณ์กันได้อย่างลึกซึ้ง

การสร้างความเห็นอกเห็นใจ
หมอคัตเลอร์ว่าจากการพูดคุยกับท่านทะไล ลามะ ในแอริโซนาถึงเรื่องมิตรไมตรีและความกรุณาอย่างที่มนุษย์ควรจะมี เขาก็ยังจับหลักไม่ได้ เมื่อไปหาท่านที่ธรรมศาลาในโอกาสต่อมา เขาจึงพยายามจะจับให้ได้ว่าอะไรคือหลักการแห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เพื่อจะได้นำไปใช้ปรับปรุงความสัมพันธ์ชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างคนไม่รู้จักกัน ในครอบครัว ในหมู่เพื่อน ระหว่างคู่รัก เมื่อมีโอกาสเขาจึงไม่รอช้าที่จะถามท่านว่า

"ในเรื่องมนุษยสัมพันธ์ ท่านคิดว่าวิธีอะไรที่ได้ผลที่สุดในการเชื่อมโยงสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างมีความหมาย และลดความขัดแย้งกับผู้อื่น"

ท่านทะไล ลามะ ครุ่นคิดก่อนตอบว่า "การเกี่ยวข้องกับคนอื่นเป็นสิ่งที่ซับซ้อน ไม่มีสูตรสำเร็จรูปสูตรเดียวที่ใช้ได้ทุกเรื่อง เหมือนในการทำกับข้าว ถ้าคุณกำลังทำกับข้าวให้อร่อย มีหลายขั้นตอนในการทำนั้น คุณอาจจะต้องต้มผัก หรือทอด หรือผสมกันในวิธีพิเศษ ใส่เครื่องเทศ หรืออะไรทำนองนั้น แต่ในที่สุดผลสุดท้ายคือกับข้าวที่อร่อย เช่นเดียวกันคุณต้องการทักษะในการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่น คุณต้องการปัจจัยต่างๆ คุณไม่อาจมีวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือเทคนิคใดเทคนิคหนึ่งตายตัว"

หมอคัตเลอร์รู้สึกยังไม่ได้รับคำตอบที่ต้องการ จึงพยายามรุกถามต่อไป "แม้ว่าจะไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งวิธีเดียวในการปรับปรุงความสัมพันธ์กับผู้อื่น มีหลักการ ทั่วๆ ไปอย่างใดหรือไม่ที่เป็นประโยชน์"

หลังจากครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งท่านทะไล ลามะ กล่าวว่า "มี เมื่อก่อนนี้เราคุยกันว่าในการติดต่อกับผู้อื่น เราต้องมีความกรุณาอยู่ในหัวใจ นั่นสำคัญนักเทียว แต่ไม่ใช่จะไปพูดว่า โอ้! ต้องมีความกรุณา ไม่ใช่ง่ายๆ แบบนั้น ในบรรดาวิธีอันหลากหลายที่จะทำให้เกิดความกรุณา อาตมาคิดว่าความเห็นอกเห็นใจเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง ความเห็นใจต่อความทุกข์ของผู้อื่น"

ข้อมูลสื่อ

313-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 313
พฤษภาคม 2548
ศ.นพ.ประเวศ วะสี