• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้หวัด

ไข้หวัดเป็นโรคติดเชื้อยอดฮิตสำหรับทุกคน นับว่าเป็นโรคที่เป็นเองหายเอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาอะไรพิเศษ ยาจำเป็นคือพาราเซตามอล ลดไข้ แก้ปวด เฉพาะเมื่อมีไข้สูงหรือปวดศีรษะ

ข้อผิดพลาดคือ มีการใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็นอย่างพร่ำเพรื่อ ซึ่งไม่เพียงไม่ได้ประโยชน์ เนื่องจากมันไม่ได้มีส่วนฆ่าเชื้อไวรัสหวัดที่เป็นสาเหตุแล้ว ยังอาจทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาง่าย แพ้ยาง่าย และทำให้ร่างกายอ่อนแอตามมาได้

ดังนั้น จึงควรเรียนรู้วิธีดูแลไข้หวัดด้วยตัวเอง อย่างประหยัดและปลอดภัย

  • ชื่อภาษาไทย

ไข้หวัด

  • ชื่อภาษาอังกฤษ

Common cold, Upper respiratory tract infection (URI)

  • สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหวัด ซึ่งมีอยู่มากกว่า ๒๐๐ ชนิด จากกลุ่มไวรัส ๘ กลุ่มด้วยกัน

การเกิดโรคขึ้นแต่ละครั้งจะเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดเพียงชนิดเดียว เมื่อเป็นแล้วร่างกายก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสหวัดชนิดนั้น ในการเป็นไข้หวัดครั้งใหม่ก็จะเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดชนิดใหม่ที่ร่างกายยังไม่เคยติดเข้ามา หมุนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ดังนั้น คนเราจึงเป็นไข้หวัดได้บ่อย เด็กเล็กที่ยังไม่ค่อยได้ติดเชื้อหวัดมาก่อน ก็อาจเป็นไข้หวัดซ้ำซากได้ โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปอยู่ในศูนย์เลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนในช่วง ๓-๔ เดือนแรก อาจเป็นไข้หวัดเดือนละ ๑-๒ ครั้ง หรือทุกสัปดาห์

เชื้อหวัดมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด ภายในระยะเวลาไม่เกิน ๑ เมตร

นอกจากนี้ เชื้อหวัดยังอาจติดต่อโดยการสัมผัส กล่าวคือ เชื้อหวัดอาจติดที่มือของผู้ป่วย สิ่งของ เครื่องใช้ (เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน ชาม ของเล่น หนังสือ โทรศัพท์ เป็นต้น) หรือสิ่งแวดล้อม (เช่น ลูกบิดประตู โต๊ะ เก้าอี้) เมื่อคนปกติสัมผัสถูกมือของผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อหวัด เชื้อหวัดก็จะติดมือของคนคนนั้น และเมื่อเผลอใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะจมูก เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายของคนคนนั้น จนกลายเป็นไข้หวัดได้

ระยะฟักตัวของโรค (ระยะตั้งแต่ผู้ป่วยรับเชื้อเข้าไปจนกระทั่งมีอาการเป็นไข้หวัด) ๑-๓ วัน

  • อาการ

โดยทั่วไปมักมีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัวเป็นพักๆ ปวดหนักศีรษะเล็กน้อย อ่อนเพลียเล็กน้อย อาจมีอาการคอแห้ง แสบคอหรือเจ็บคอเล็กน้อยนำมาก่อน ต่อมาจะมีน้ำมูกไหลใสๆ คัดจมูก ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะเล็กน้อย ลักษณะใสหรือขาวๆ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ เดินเหิน ทำงานได้ และจะกินอาหารได้

ในเด็กเล็ก อาจมีไข้สูงฉับพลัน ตัวร้อนเป็นพักๆ เวลาไข้ขึ้นอาจซึมเล็กน้อย เวลาไข้ลง (ตัวเย็น) ก็จะวิ่งเล่นหรือหน้าตาแจ่มใสเหมือนปกติ ต่อมาจะมีน้ำมูกใส ไอเล็กน้อย

ในผู้ใหญ่ อาจไม่มีไข้ มีเพียงอาการเจ็บคอเล็กน้อย น้ำมูกใส ไอเล็กน้อย

ในทารกอาจมีอาการอาเจียน หรือท้องเดิน ร่วมด้วย

อาการไข้มักเป็นอยู่นาน ๔๘-๙๖ ชั่วโมง (๒-๔ วันเต็มๆ) แล้วก็ทุเลาไปได้เอง

อาการน้ำมูกไหลจะเป็นมากอยู่ ๒-๓ วัน ส่วนอาการไอ อาจไอนานเป็นสัปดาห์ หรือบางรายอาจไอนานเป็นแรมเดือน หลังจากอาการอื่นๆ หายดีแล้ว

ในรายที่การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะมีไข้เกิน ๔ วัน หรือมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียวเกิน ๒๔ ชั่วโมง หรือไอมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียวทุกครั้ง

  • การแยกโรค

อาการไข้ มีน้ำมูกไหล ไอ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ที่สำคัญได้แก่

  • ปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง เบื่ออาหาร ไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียว เจ็บหน้าอกมาก หรือหายใจหอบ หรือหายใจเร็วกว่าปกติ
  • ไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดเมื่อยมาก นอนซม เบื่ออาหาร ร่วมกับอาการคล้ายไข้หวัด บางรายอาจไม่มีน้ำมูก อาจมีอาการปวดท้อง อาเจียน หรือท้องเดิน
  • หัด ผู้ป่วย (มักพบในเด็ก) จะมีไข้สูงตลอดเวลา กินยาลดไข้ไม่ทุเลา ซึม หน้าแดง ตาแดง น้ำมูกไหล ไอ มีผื่นแดงขึ้นตามตัวหลังมีไข้ ๔ วัน และไข้มักเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์
  • ไซนัสอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ น้ำมูกออกเป็นหนองข้นเหลืองหรือเขียว คัดจมูก ปวดหน่วงบริเวณโหนกแก้มหรือหัวคิ้ว
  • หลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการไอมีเสลด (ออกจากใต้ลำคอลึกๆ) ไอโครกๆ บางครั้งไอจนเจ็บหน้าอก เสลดอาจเป็นสีขาวข้น (จากเชื้อไวรัส) หรือข้นเหลือง หรือเขียว (จากเชื้อแบคทีเรีย) บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย
  • ทอนซิลอักเสบ ผู้ป่วยมักมีไข้สูง เจ็บคอมาก กลืนลำบาก อ้าปากดูภายในคอหอย จะเห็นทอนซิลบวมแดง มีจุดหนอง บางรายอาจมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกหรือเสมหะสีเหลืองหรือเขียว
  • โรคหวัดภูมิแพ้ (แพ้อากาศ) ผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูก คันจมูก คันคอ ไอแห้งๆ ส่วนใหญ่ไม่มีไข้ อาการทั่วไปแข็งแรงดี มักเป็นๆ หายๆ บ่อย เวลาสัมผัสถูกสิ่งที่แพ้ เช่น ฝุ่น ควัน อากาศเย็น
  • การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการน้ำมูกไหลใสๆ ซึ่งอาจร่วมกับอาการไข้ ไอ โดยที่อาการทั่วไปไม่ค่อยรุนแรง เช่น ยังแจ่มใสร่าเริง ทำงานได้ กินได้ ไม่มีอาการหายใจหอบเร็ว

หากสงสัยมีสาเหตุอื่น เช่น ปอดอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม อาจตรวจเลือด เอกซเรย์ให้แน่ใจว่าไม่มีภาวะร้ายแรงกว่าไข้หวัด

  • การดูแลตนเอง

เนื่องจากไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะ เพียงแต่ให้การรักษาไปตามอาการเท่านั้น ได้แก่

๑. แนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ดังนี้

  • พักผ่อนมากๆ ห้ามตรากตรำงานหนักหรือออกกำลังกายมากเกินไป
  • สวมใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น อย่าถูกฝนหรือถูกอากาศเย็นจัด และอย่าอาบน้ำเย็น
  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยลดไข้ และทดแทนน้ำที่เสียไปเนื่องจากไข้สูง
  • ควรกินอาหารอ่อน น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มร้อนๆ
  • ใช้ผ้าชุบน้ำ (ควรใช้น้ำอุ่น หรือน้ำก๊อกธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็ง) เช็ดตัวเวลามีไข้สูง

๒. ให้ยารักษาตามอาการดังนี้

ก. สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต (อายุมากกว่า ๕ ขวบ)

  • ถ้ามีไข้สูง ให้พาราเซตามอล (ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๙ ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม ซึ่งมีอันตรายร้ายแรงได้) ควรให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราวเฉพาะเวลามีไข้สูง ถ้ามีไข้ต่ำๆ  หรือไข้พอทนได้ ก็ไม่จำเป็นต้องกิน
  • ถ้ามีอาการน้ำมูกไหลมากจนสร้างความรำคาญ ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน ใน ๒-๓ วันแรก เมื่อทุเลาแล้วควรหยุดยา หรือกรณีที่มีอาการไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องให้ยานี้
  • ถ้ามีอาการไอ จิบน้ำอุ่นมากๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (น้ำผึ้ง ๔ ส่วน น้ำมะนาว ๑ ส่วน) ถ้าไอมากลักษณะไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ ให้ยาระงับการไอ

ข. สำหรับเด็กเล็กและทารก

  • ถ้ามีไข้ให้พาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อม
  • ถ้ามีน้ำมูกมาก ให้ใช้ลูกยางเบอร์ ๒ ดูดน้ำมูกออกบ่อยๆ (ถ้าน้ำมูกข้นเหนียว ควรใช้น้ำเกลือหยอดในจมูกก่อน) หรือใช้กระดาษทิชชูพันเป็นแท่งสอดเข้าไปเช็ดน้ำมูก (ถ้าน้ำมูกข้นเหนียว ควรชุบน้ำสุกหรือน้ำเกลือพอชุ่มก่อน)
  • ถ้ามีอาการไอจิบน้ำอุ่นมากๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว* ถ้ามีอาการอาเจียนเวลาไอ ไม่จำเป็นต้องให้ยาแก้อาเจียน ควรแนะนำให้ป้อนนมและอาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนจะเข้านอน

๓. ยาปฏิชีวนะไม่จำเป็นต้องให้ เพราะไม่ได้ผลต่อการฆ่าเชื้อหวัดซึ่งเป็นไวรัส (อาการที่สังเกตได้คือ มีน้ำมูกใสๆ หรือสีขาว) ยกเว้นในรายที่สงสัยว่าจะมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม เช่น มีไข้ทุกวันติดต่อกันเกิน ๔ วัน มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวเกิน ๒๔ ชั่วโมง หรือปวดหู หูอื้อ

๔. ถ้าไอมีเสมหะเหนียว ให้งดยาแก้แพ้ และยาระงับการไอ และให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ วันละ ๑๐-๑๕ แก้ว

๕. ถ้ามีอาการหอบ หรือนับการหายใจได้เร็วกว่าปกติ (เด็กอายุ ๐-๒ เดือนหายใจมากกว่า ๖๐ ครั้ง/นาที อายุ ๒ เดือนถึง ๑ ขวบหายใจมากกว่า ๕๐ ครั้ง/นาที อายุ ๑-๕ ขวบหายใจมากกว่า ๔๐ ครั้ง/นาที) หรือมีไข้นานเกิน ๗ วัน ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว อาจเป็นปอดอักเสบหรือภาวะรุนแรงอื่นๆ ได้ อาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ เป็นต้น

๖. ถ้ามีอาการเจ็บคอมาก ไข้สูงตลอดเวลา ซึม เบื่ออาหารมาก ปวดเมื่อยมาก ปวดหู หูอื้อ หรือสงสัยไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดนก (มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายภายใน ๗ วัน หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้หวัดนกภายใน ๑๔ วัน) หรือมีไข้เกิน ๔ วัน หรือมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียวเกิน ๒๔ ชั่วโมง ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

*ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำผึ้งแก่ทารกอายุต่ำกว่า ๑ ขวบ เพราะอาจรับอันตรายจากเชื้อคลอสทริเดียมโบทูลินัมที่อาจปนเปื้อนมากับน้ำผึ้ง

  • การรักษา

แพทย์จะให้การรักษาตามความรุนแรงที่ตรวจพบดังนี้

  • ถ้าพบว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสหวัด (มีไข้ไม่เกิน ๔ วัน และมีน้ำมูกใส) ก็จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้หวัด แก้ไอ
  • ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน (มีไข้เกิน ๔ วัน หรือมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียวเกิน ๒๔ ชั่วโมง) ก็จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรโมซิน นาน ๗-๑๐ วัน
  • ถ้าพบว่าเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น ก็จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
  • ภาวะแทรกซ้อน

ที่พบบ่อยคือ มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ผู้ป่วยมักจะมีไข้นานเกิน ๔ วัน หรือมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียว

ภาวะแทรกซ้อน ที่อาจพบได้รุนแรงก็คือ ปอดอักเสบ ผู้ป่วยมักมีไข้สูง หายใจหอบหรือเร็วกว่าปกติ ไอมีเสลดข้นเหลืองหรือเขียวร่วมด้วย มักพบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ

นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ไซนัสอักเสบ (น้ำมูกออกเป็นหนองข้นเหลืองหรือเขียว ปวดหน่วงที่โหนกแก้มหรือหัวคิ้ว) หลอดลมอักเสบ (ไอมีเสลดมาก ไอดังโครกๆ นานหลายวัน) หูชั้นกลางอักเสบ (มีอาการปวดหู หูอื้อ) กล่องเสียงอักเสบ (มีอาการเสียงแหบร่วมด้วย)

  • การดำเนินโรค

ส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ (หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ยาแก้อักเสบ”) เนื่องจากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส อาการไข้จะเป็นอยู่ ๒-๔ วัน น้ำมูกจะมีมากใน ๒-๓ วันแรก ส่วนอาการไอ ส่วนใหญ่ก็จะทุเลาได้ภายใน ๑-๒ สัปดาห์

ยกเว้นบางราย (หรือบางครั้ง) อาจมีการอักเสบของหลอดลมร่วมด้วย ก็อาจจะไอนาน ๑-๓ เดือน เนื่องจากเยื่อบุหลอดลมที่อักเสบมีความอ่อนแอ เกิดการระคายเคืองง่าย เวลาถูกฝุ่น ควัน หรืออากาศเย็น ก็มักจะไอ (ซึ่งมักจะไอแห้งๆ แบบระคายคอ หรือมีเสมหะเล็กน้อยลักษณะสีขาว) ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง ถ้าจำเป็นแพทย์จะให้ยาระงับไอ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และจะค่อยๆ ทุเลาจนหายขาด เมื่อเยื่อบุหลอดลมฟื้นตัวแข็งแรงดังเดิมตามจังหวะธรรมชาติของมัน

บางรายอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะรักษา

อาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งปอดอักเสบ ซึ่งอาจมีอันตรายร้ายแรงได้

ดังนั้น ผู้ป่วยหรือผู้ปกครองควรเฝ้าสังเกตดูอาการแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการหายใจหอบเร็ว (เด็กอายุต่ำกว่า ๕ ขวบ ผู้ปกครองควรฝึกนับการหายใจ ดูหน้าอกหรือหน้าท้องที่กระเพื่อมขึ้นลง ว่ามีอัตราเร็วเกินเกณฑ์อายุที่กำหนดหรือไม่)

ในเด็กเล็ก หรือเข้าศูนย์เลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนในช่วง ๓-๔ เดือนแรก เด็กอาจเป็นไข้หวัดซ้ำซากจากเชื้อไวรัสหวัด ซึ่งมีอยู่หลายชนิด อาจเป็นไข้หวัดเดือนละ ๑-๒ ครั้ง หรือทุกสัปดาห์ (เนื่องจากติดเชื้อตัวใหม่จากเพื่อนในห้อง) เด็กอาจมีไข้ ๒-๔ วัน แล้วทุเลาไปหลายวัน แล้วก็อาจเป็นไข้หวัดรอบใหม่ จนกว่าจะรับเชื้อครบทุกตัวที่มีอยู่ไม่ซ้ำในกลุ่มเพื่อนกลุ่มนั้น ก็จะค่อยๆ ห่างหายไปในที่สุด ข้อสำคัญผู้ปกครองอย่าได้ตกใจ และควรให้การดูแลตามที่แนะนำ ยาที่จำเป็น คือ ยาลดไข้-พาราเซตามอลเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ (หากไม่มีอาการบ่งชี้ว่ามีภาวะแทรกซ้อน) ขืนกินยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นหรือมากเกิน นอกจากไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังอาจมีโทษ เช่น ทำให้เชื้อโรคดื้อยาง่าย เด็กแพ้ยาง่าย หรือยาปฏิชีวนะจะทำลายจุลินทรีย์ในลำไส้ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้ภูมิคุ้มกันเด็กอ่อนแอ ติดเชื้อง่ายขึ้นได้

ดังนั้น ผู้ป่วยหรือผู้ปกครองควรเรียนรู้ว่า เมื่อเป็นไข้หวัด มีลักษณะใดที่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

  • การป้องกัน

๑. หมั่นดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าตรากตรำทำงานหนักเกินไป ระวังรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงไม่ควรอาบน้ำหรือสระผมด้วยน้ำที่เย็นเกินไป โดยเฉพาะในเวลาที่มีอากาศเย็น

๒. ในช่วงที่มีการระบาดของโรคนี้ หรือมีคนใกล้ชิด (เช่น คนในบ้าน โรงเรียน หรือที่ทำงาน) ป่วยเป็นโรคนี้ควรปฏิบัติดังนี้

  • ในช่วงที่มีการระบาด ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด เช่น สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า งานมหรสพ เป็นต้น ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่เพื่อชะเชื้อโรคที่อาจติดมาจากการสัมผัสถูกเสมหะผู้ป่วย และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะไชจมูก
  • อย่าเข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วย ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่
  • อย่าใช้สิ่งของเครื่องใช้ (เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ โทรศัพท์ ของเล่น เป็นต้น) ร่วมกับผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือผู้ป่วย
  • ผู้ป่วยควรแยกตัวออกห่างจากผู้อื่น อย่านอนปะปนหรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก เวลาเข้าไปในที่ที่มีคนอยู่กันมากๆ ควรสวมหน้ากากอนามัย
  • ความชุก

โรคนี้พบได้บ่อยในทุกวัย บางคนอาจเป็นปีละหลายครั้ง โดยเฉพาะในเด็กเล็กอาจเป็นไข้หวัดเฉลี่ยเดือนละ ๑ ครั้ง (หรือมากกว่า)

เมื่อมีอายุมากขึ้น ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันตัวเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ มากขึ้น ก็จะป่วยเป็นไข้หวัดห่างขึ้น และมีอาการน้อยลงไป

ข้อมูลสื่อ

389-032
นิตยสารหมอชาวบ้าน 389
กันยายน 2554
นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ